พ.ร.บ. โรคติดต่อฉบับใหม่ส่อลากยาว สาธารณสุขกัดฟันใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน

Photo by NICOLAS ASFOURI / AFP

วิษณุ เผย ตัดสินใจไม่ได้ กฎหมายโรคติดต่อฉบับใหม่ ออกเป็น พ.ร.ก.หรือ พ.ร.บ. เผย สธ. กัดฟันใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินไปพลางก่อนได้ แย้ม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทัน 26-28 ต.ค. เข้าสภา 1 พ.ย. ก็จะง่าย ถ้าไม่ทันออกเป็น พ.ร.บ. แทน

เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2564 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงร่างพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) โรคติดต่อ 2558 พ.ศ. …. ว่า ยังตัดสินใจอยู่ว่าจะเป็น พ.ร.ก.หรือเป็น พ.ร.บ. ถ้าเป็นพ.ร.บ.ก็จะเสนอต่อสภา แต่ด้วยเหตุที่เป็นพ.ร.บ.ในเชิงปฏิรูปก็จะเสนอต่อที่ประชุมร่วมกันสองสภา แต่ถ้าคิดว่าจำเป็นเร่งด่วนจะต้องออกเป็น พ.ร.ก.ก็ออกเป็น พ.ร.ก.

“ขณะนี้ยังติดสินใจอะไรไม่ได้ เพราะถามว่าด่วนไหม ความจริงด่วนนะ แต่ถ้าออกเป็นพ.ร.ก.ในเวลานี้ ผมได้บอกไปแล้วว่า รัฐธรรมนูญบัญญัติเอาไว้มาตรา 172 ว่า ถ้าออกพ.ร.ก.ระหว่างปิดสมัยประชุมก็ต้องเปิดสมัยประชุมวิสามัญ เราคิดว่าไม่อยากจะทำอย่างนั้น ก็อาจจะรอไว้ใกล้ๆ ตอนสภาจะเปิดแล้วค่อยดู ถ้าจะออก พ.ร.ก. สมมุติว่าประกาศสักวันที่ 26 27 28 ตุลาคม พอวันที่ 1 พฤศจิกายนก็เปิดสภาอยู่แล้วก็ง่าย”

นายวิษณุกล่าวต่อเนื่องไปว่า หรือไม่อีกทางหนึ่งก็เอาเข้าสภาเป็นที่ประชุมร่วมกันเลย เพราะฉะนั้นจึงยังตัดสินใจตรงนี้ไม่ได้ แต่ว่าเราก็หยั่งเสียงถามกระทรวงสาธารณสุขเจ้าของเรื่องตลอดเวลา ซึ่งบอกว่าไม่เป็นอะไร ขณะนี้ใช้พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ไปพลางได้ แม้จะไม่ค่อยดีนัก แต่ก็ใช้ไปพลางได้

“ไม่รู้จะทำอย่างไร ไม่มีทางเลือกอื่น ไม่รู้จะเลี่ยงอย่างไร แต่ถ้าสภาเปิดแล้ว การตัดสินใจจะง่ายมากขึ้นว่าจะออกเป็นอย่างไร จะออกเป็น พ.ร.ก.ก็ได้ ออกเสร็จประกาศใช้แล้วอาทิตย์หน้าก็เข้าสภาเลย หรือไม่ก็จะเสนอเป็น พ.ร.บ.เข้าที่ประชุมร่วมกันก็อาจจะไม่ช้า ถ้าสภาไม่ล่มซะก่อน”

เมื่อถามว่ามีความกังวลกันว่า ถ้าไม่ผ่านสภาขึ้นมารัฐบาลจะต้องแสดงความรับผิดชอบตามธรรมเนียมปฏิบัติ นายวิษณุ กล่าวว่า ก็แน่นอนอยู่แล้ว

“ปัญหาคือมาตรา 172 บอกว่า ถ้าประกาศใช้ พ.ร.ก.ในระหว่างปิดสมัยประชุมและการรอไปจะเป็นการเนิ่นช้า ก็ให้เปิดสภาสมัยวิสามัญ ซึ่งพ.ร.ก.เสนอไปตั้งแต่สมัยประชุมสภาที่แล้ว เมื่อเปิดสภามาก็ต้องยกขึ้นมาพิจารณา”