“ธีรยุทธ บุญมี” วิพากษ์เกษตรไทยย่ำอยู่ในยุค 2.0 นานถึง60 ปี-แนะตามรอยศก.พอเพียง ร.9

นายธีรยุทธ บุญมี อาจารย์ประจำวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และผู้ประสานเครือข่ายวัฒนธรรมข้าวใหม่ เปิดเผยภายในงานเสวนามองการณ์ไกลประเทศไทย ทิศทางเกษตรยั่งยืน ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ว่า ภาคการเกษตรของไทย ถือว่ามีพัฒนาการมาโดยตลอด หากแบ่งเป็นช่วงตามนโยบายของไทยแลนด์ 4.0 ภาคเกษตรของไทย ในยุค 1.0 จะเริ่มต้นขึ้นในยุครัชกาลที่ 5 และ 6 จากการผลิตสินค้าหลักอย่างข้าว จนกระทั่งเกือบอีก 100 ปีต่อมาประมาณปี 2500 ยุคของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ภาคเกษตรถึงขยับมาเป็นยุค 2.0 โดยเริ่มมีการปลูกพืชเพื่ออุตสาหกรรม อาทิ ข้าวโพด มันสำปะหลัง ปอ และยางพารา รวมทั้งภาคอุตสาหกรรมก็มีการขยายตัวเช่นกัน โดยเริ่มต้นจากการผลิตสิ่งทอ สินค้าทดแทนเพื่อการนำเข้า

อย่างไรก็ตามหากเปรียบเทียบภาคเกษตรจนถึงปัจจุบันจะพบว่ายังไม่สามารถก้าวพ้นจากยุค 2.0 ไปสู่ยุค 3.0 ได้เลย หรือมีเพียงบางส่วนเท่านั้นที่จะมีการเข้าสู่ยุค 3.0 โดยนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการภาคเกษตร เนื่องจากเกษตรกรไทยยังติดขัดปัญหาในหลายเรื่อง โดยเฉพาะการเข้าถึงเทคโนโลยี จากการที่แรงงานวัยหนุ่มสาวลดลง เหลือแต่แรงงานสูงวัย ที่ไม่ชำนาญการใช้เทคโนโลยี ภาคสหกรณ์ที่ไม่เข้มแข็งเพียงพอ เหมือนกับหลายประเทศในยุโรป จึงทำให้ไม่สามารถขยายใหญ่ได้

นายธีรยุทธ กล่าวว่า ในยุคหลังปี 2540 ภาคเกษตรของไทย จึงมีนโยบายที่เป็นทางแยกอยู่ 2 ทาง คือ 1.นโยบายประชานิยม ที่เน้นในเรื่องของการสร้างความนิยมไม่ได้มุ่งสู่การยกระดับคุณภาพภาคการเกษตร ซึ่งจะเห็นเด่นชัดในยุคของนายทักษิณ ชินวัตร ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน แม้แต่รัฐบาลของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นโยบายแบบนี้ก็ยังคงอยู่ และ2.นโยบายแบบเศรษฐกิจพอเพียง ถือว่ามีความสอดคล้องกับปัจจุบันอย่างมาก โดยแทนที่จะปลูกพืชเชิงเดี่ยว ก็หันมาปลูกพืชที่มีความหลากหลาย ซึ่งจะเห็นได้ว่าราคาสินค้าเกษตรรูปแบบนี้นับวันจะสูงขึ้นเรื่อยๆ เกษตรกรมีฐานะที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ดังนั้นทางออกของภาคเกษตรไทย จึงไม่ใช่การก้าวไปสู่ 4.0 ซึ่งเปรียบเหมือนกับการหวังผลสำเร็จของรัฐบาลชุดนี้ เพราะขณะนี้ภาคเกษตรก็ยังไม่สามารถก้าวพ้นไปสู่ยุค 3.0 ได้เลย ดังนั้นทางออกที่ดีที่สุดของภาคเกษตร ก็คือ การเดินตามรอยทางเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9

“หากมองนอกเหนือจากดำเนินนโยบายภาคการเกษตรของรัฐบาลชุดนี้ อย่างการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษโดยในยกเว้นกฎหมายเกือบทุกตัว เพื่อเอื้อประโยชน์ในกับนักลงทุนต่างชาติ ก็เหมือนเป็นนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ที่เป็นอวิชา ที่หวังเพียงความสำเร็จทางการเมืองโดยไม่คำนึงให้รอบคอบ มุ่งหวังเพียงความสำเร็จเพียงอย่างเดียว”นายธีรยุทธ กล่าว

นายปรีดา เตียสุวรรณ์ ที่ปรึกษาเครือข่ายธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ทางรอดของภาคเกษตรในขณะนี้ต้องทำการเกษตรแบบปราณีต ไม่เน้นการปลูกพืชเชิงเดี่ยว โดยต้องปลูกพืชที่ขายในราคาสูงควบคู่กันไปกับการทำเกษตรเชิงเดี่ยวที่ทำอยู่แล้ว โดยแบ่งออกมาทำเกษตรปราณีตประมาณ 2 ไร่ ต่อ 1 ราย ก็จะทำให้พื้นที่เกษตรปราณีตเพิ่มขึ้นเป็น 20 ล้านไร่ น่าจะช่วยยกระดับรายได้ของเกษตรกรให้สูงขึ้นได้

น.ส.กิมอัง พงษ์นารายณ์ ผู้ประสานงานภาคภาคขาดองค์กรเกษตรกรแห่งประเทศไทย กล่าวว่า หากเปรียบเทียบการทำเกษตร จากอดีตและปัจจุบันจะพบว่า มีความแตกต่างกันอย่างมากโดยการทำการเกษตรในอดีตจะเน้นการพึ่งพาตนเองเป็นหลัก จึงทำให้มีรายได้ที่พอมีพอใช้ และมีเงินเก็บ แต่ในปัจจุบันมีเครื่องมือทุ่นแรงมากขึ้น แต่รายได้ลดลง มีหนี้สินจนต้องขายที่ดิน และทรัพย์สิน สุดท้ายต้องเช่าที่ทำเกษตร หากจะปรับตัวก็ยาก เพราะเมื่อมีรายได้ ต้องนำเงินไปใช้หนี้ทำให้ไม่มีโอกาสที่จะเริ่มสิ่งใหม่ ดังนั้นนโยบายเกษตรอินทรีย์ถือเป็นนโยบายที่ดีมาก แต่เกษตรก็ไม่สามารถปรับเปลี่ยนได้ เพราะไม่มีเงินทุน จึงอยากให้รัฐบาลเข้ามาช่วยดูแลส่วนนี้

“นอกจากนี้อยากให้รัฐบาลใช้กลไกของกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรให้เป็นรูปธรรม เพราะตั้งแต่ก่อตั้งกองทุนฯมา 20 ปียังไม่สามารถช่วยเกษตรกรได้เลย แม้ว่ารัฐบาลจะใช้ม. 44 ตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อแก้ไขปัญหากองทุนฟื้นฟูมานานกว่า 180 วันแล้ว ยังทำได้เพียงแค่ตรวจสอบข้อมูลเกษตรกรในระบบเท่านั้น จึงอยากให้เร่งเดินหน้าเพราะเกษตรกรกำลังเดือดร้อน”น.ส.กิมอัง กล่าว

 

ที่มา มติชนออนไลน์