“ไพบูลย์” เสี่ยงถูกสอย พ้น ส.ส. วัดบารมี “บิ๊กป้อม” ปัดเป่าคดีการเมือง

20 ตุลาคม 2564 เป็นวันที่ศาลรัฐธรรมนูญชี้ชะตาการเป็น ส.ส. ของไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ซามูไรกฎหมาย อาวุธลับของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เจ้าของสำนักพลังประชารัฐ

เพราะคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ นัดแถลงด้วยวาจา ปรึกษาหารือ ลงมติ และอ่านคำวินิจฉัยให้คู่กรณีฟังกรณีที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรส่งคำร้องของ ส.ส. จำนวน 60 คน ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 82 ว่าสมาชิกภาพ ส.ส.ของนายไพบูลย์ สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101 (10) ประกอบมาตรา 90 และมาตรา 91 วรรคหนึ่ง (5) หรือไม่

จากกรณีที่นายไพบูลย์ หัวหน้าพรรคประชาชนปฏิรูป และ ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรคประชาชนปฏิรูป ได้สมัครเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) หลังจากที่พรรคประชาชนปฏิรูปสิ้นสภาพความเป็นพรรคการเมือง ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรค มาตรา 91 วรรคหนึ่ง (7)

ทั้งที่ยังคงต้องปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าพรรคประชาชนปฏิรูปอยู่จนกว่าการชำระบัญชีจะแล้วเสร็จ และมิได้เป็นผู้มีชื่อในบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ของพรรคพลังประชารัฐ ที่ยื่นต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก่อนปิดการรับสมัครเลือกตั้ง เป็นเหตุให้สมาชิกภาพสิ้นสุดลงหรือไม่

สมชัย ศรีสุทธิยากร ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยการเมืองและการเลือกตั้ง ม.รังสิต และอดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) สรุปข้อกล่าวหาถอดจากภาษากฎหมายเป็นภาษามนุษย์ว่า

คำร้องว่านายไพบูลย์ยุบพรรคตนเอง แต่ยังมีสถานะหัวหน้าพรรคการเมืองประชาชนปฏิรูป เพราะยังมีหน้าที่เคลียร์บัญชี ส่งหลักฐานการเงินต่าง ๆ ส่งให้ กกต. และ กกต.ส่งให้ทางสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินตรวจว่าถูกต้องหรือไม่ ซึ่งใช้เวลาเป็นปี

สถานะที่ดูแลเคลียร์ค่าใช้จ่าย แล้วมาอยู่พรรคใหม่คือ พรรคพลังประชารัฐ แต่สถานะเก่าก็ยังอยู่ ดังนั้น สถานะจะขัดกันหรือไม่ จึงมีการร้องไปว่าเมื่อสถานะเก่ายังอยู่ไม่สามารถมาอยู่ในสถานะใหม่ได้

“ส.ส.ในพรรคที่ถูกยุบ หรือ ส.ส.ถูกขับออกจากพรรค กฎหมายให้โอกาสคนที่เป็น ส.ส.ว่า เขาสามารถหาพรรคสังกัดใหม่ได้ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด 30 วัน หรือ 60 วัน แต่กรณีของนายไพบูลย์เป็นการยุบพรรคตนเอง แล้วมาเข้าพรรคใหม่ มันดูเป็นความจงใจมากเกินไป”

“พูดก่อนศาลไม่ได้ว่าศาลตัดสินอย่างไร ศาลก็ต้องฟังเหตุผลทุก ๆ ฝ่าย แล้วสร้างสิ่งที่เป็นบรรทัดฐานที่เหมาะสม ถ้าศาลสร้างบรรทัดฐานอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็จะเป็นแบบปฏิบัติต่อไป พอเสร็จแล้วก็ประกาศยุบพรรคตนเองไปร่วมพรรคใครต่อใคร อาจเป็นแนวทางอย่างนั้น ต้องดูว่าศาลตัดสินอย่างไร”

“สมชัย” ทำนายผลคดีนี้ว่า ถ้าหากว่าผิดก็ต้องพ้นสถานภาพการเป็น ส.ส. ส่วนจะพ้นเมื่อไหร่ เป็นเรื่องของคำวินิจฉัยของศาล พ้นจากวันที่ศาลมีคำวินิจฉัย หรือพ้นจากวันที่เข้าสู่การเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ถ้าศาลบอกว่าพ้น ส.ส.จากวันที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย

“ความเสียหายกับตัวคุณไพบูลย์ก็จะน้อยกว่าการที่บอกว่าพ้นตั้งแต่มาเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ เพราะต้องคืนสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ที่ได้จากทางราชการคืนมาทั้งหมด คิดว่ามหาศาลคงเป็นเงิน 10 ล้าน แต่จะไม่มีผลต่อการทำหน้าที่ ประธานคณะกรรมาธิการ หรือการลงมติต่าง ๆ” สมชัยกล่าว

ด้าน “ไพบูลย์” กล่าวว่า พร้อมน้อมรับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ แต่เชื่อมั่นในข้อกฎหมาย เพราะดำเนินการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 และตามรัฐธรรมนูญที่ประกาศไว้ทุกประการ

และดำเนินการผ่านหน่วยงานที่ดูแลโดยตรงอย่าง กกต. ซึ่งทาง กกต.ตรวจสอบแล้ว ถึงให้มีหนังสือแจ้งไปยังสภาผู้แทนราษฎร ทั้งนี้ เอกสารและหลักฐานต่าง ๆ ส่งให้ศาลหมดแล้ว

ที่คดีของ “ไพบูลย์” ลูกน้อง “บิ๊กป้อม” ตัวเดินเกมสำคัญในฝ่ายนิติบัญญัติของพลังประชารัฐ น่าหวาดเสียวเพราะเป็นการแก้หลบแท็กติกกฎหมายรัฐธรรมนูญ เป็นต้นแบบที่ทำให้พรรคเล็ก 2 พรรค คือ พรรคพลังชาติไทย ของ พล.ต.ทรงกลด ทิพย์รัตน์ และพรรคประชานิยม พล.ต.อ.ยงยุทธ เทพจำนงค์ ยุบพรรคตนเองแล้วเข้าไปสังกัดพรรคพลังประชารัฐ

ไม่ว่าคำตัดสินคดี “ไพบูลย์” ออกหัวออกก้อย เป็นลบหรือบวก ย่อมกระทบสถานะของ พล.ต.ทรงกลด และ พล.ต.อ.ยงยุทธ

และกระทบสถานะ “พรรคพลังดูด” ที่ทรงพลังในช่วงก่อนการเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 เพราะนักการเมืองที่หลั่งไหลเข้าพรรคพลังประชารัฐ ส่วนหนึ่งมีคดีความติดตัว และเชื่อว่า พลังอำนาจ-ผู้มีบารมี ในพรรคพลังประชารัฐ ที่มี “ลุงป้อม” พล.อ.ประวิตร เป็นหัวหน้าจะสามารถ “ปัดเป่าคดี” ให้ตัวเองรอดพ้นความผิดได้

อย่างน้อย “พล.ต.อ.วัชรพล ประสานราชกิจ” ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ก็เคยนั่งตำแหน่งรองเลขาธิการนายกฯ (เลขาฯ พล.อ.ประวิตร) ก่อนจะมาสมัครชิงเก้าอี้ ป.ป.ช. ก่อนจะได้รับเลือกให้เป็นประธาน ป.ป.ช.

และอย่างน้อยก็มีเสียงวิจารณ์บางคดีที่คนการเมืองรอดพ้นความผิด ตัวอย่างเช่น กรณี

“พลภูมิ วิภัติภูมิประเทศ” ส.ส.กทม. เพื่อไทย ที่เคยถูกตีตราว่าเป็น ส.ส.งูเห่า หลังจากหลุดคดีแจ้งบัญชีทรัพย์สินอันเป็นเท็จต่อ ป.ป.ช. เพราะ ป.ป.ช.ส่งตัวไม่ทันภายใน 5 ปี คดีหมดอายุความ

หรือกรณีของแหวนแม่นาฬิกาเพื่อน ของ พล.อ.ประวิตร ที่หลุดมลทินในชั้น ป.ป.ช. คดีอาศัยบ้านพักหลวงของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา คดีคุณสมบัติรัฐมนตรีของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า อดีต รมว.เกษตรฯ เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ

ป.ป.ช.ตีตกคำร้องกล่าวหา พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา อดีตปลัดกระทรวงกลาโหม น้องชาย พล.อ.ประยุทธ์ กรณีถูกกล่าวหาว่าจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินอันเป็นเท็จและเอกสารประกอบ หรือปกปิดข้อเท็จจริงอันควรแจ้งให้ทราบ

กรณีมิได้แจ้งถือครองบ้านใน จ.พิษณุโลก รวมถึงข้อมูลบัญชีเงินฝากของนางผ่องพรรณ จันทร์โอชา ภริยา เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงกลาโหม และกรรมการ (บอร์ด) บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) ที่เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ

คดีสำคัญที่สุดในขุนพลฝ่ายรัฐบาลต่อจาก “ไพบูลย์” คือ กรณีนายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) และประธานวิปรัฐบาล ที่ถูกอัยการสูงสุด (อสส.) ยื่นฟ้องตนและพวกรวม 87 คน เป็นจำเลยในคดีทุจริตสร้างสนามฟุตซอลโรงเรียน ใน จ.นครราชสีมา ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

ในจำนวนนี้ยังพ่วง 2 ส.ส.พลังประชารัฐ คือ นางทัศนียา รัตนเศรษฐ ส.ส.เขต 7 นครราชสีมา ภรรยานายวิรัช และนางทัศนาพร เกษเมธีการุณ ส.ส.เขต 8 นครราชสีมา โดยศาลได้นัดพิจารณาครั้งแรก ในวันที่ 20 ธันวาคม 2564 และจะมีคำสั่งว่า 3 ส.ส.พรรคพลังประชารัฐต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. หรือไม่

คดีต่อมา อดีตรัฐมนตรีสาย กปปส.ในพรรคพลังประชารัฐ คือ นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ ถูกศาลอาญาจำคุก 7 ปี นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ จำคุก 6 ปี 16 เดือน ในความผิดฐานร่วมกันเป็นกบฏ ล้มล้างระบอบการปกครอง มั่วสุมชุมนุมก่อความวุ่นวายในบ้านเมืองฯ และข้อหาอื่น ๆ จากการชุมนุมทางการเมืองช่วงปี 2557

คดีที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง รับคำร้องของ ป.ป.ช. กรณี น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ กรณีบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนในจังหวัดราชบุรี อันเป็นการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนตัวและส่วนรวม ถือเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง

คดีที่ น.ส.ธณิกานต์ พรพงษาโรจน์ ส.ส.กทม.พรรคพลังประชารัฐ กรณีฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง จากเหตุเสียบบัตรแทนกัน ระหว่างการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 วงเงิน 3.2 ล้านล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างการหยุดปฏิบัติหน้าที่ ภายหลังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองรับคำร้อง

สถานะ “ไพบูลย์” ตอนนี้คือ ประธานคณะกรรมการฝ่ายกฎหมายพรรคพลังประชารัฐ

เป็น 1 ใน 4 คนที่นั่งหัวโต๊ะประชุมร่วมกับ พล.อ.ประวิตร ไม่ว่า 4 กุมาร 3 มิตร หรือ 4 ช. ถูกเขย่า แต่ไพบูลย์ยังยืนหนึ่ง

ถ้า “ไพบูลย์” ร่วงจาก ส.ส. โดยศาลรัฐธรรมนูญ บารมีของ พล.อ.ประวิตร อาจไปไม่ถึง…อะไรก็เกิดขึ้นได้กับขุนพลพลังประชารัฐ-งูเห่า ต่อจากนี้