ครม. อัดฉีดเศรษฐกิจ 5 มาตรการ ส่งท้ายปีเฉียดแสนล้าน

ประยุทธ์ นั่งหัวโต๊ะ เคาะ 4 มาตรการช่วยค่าครองชีพ 54,506 ล้านบาท ทั้งเติมเงินบัตรคนจนคนละ 300 บาท คนละครึ่งเฟส 3.1 คนละ 1,500 อุ้มจ้างงานธุรกิจเอสเอ็มอี 37,521 ล้านบาท หัวละ 3 พัน 3 เดือน

วันที่ 19 ตุลาคม 2564 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบผลการพิจารณาของคณะกรรมการฯ ภายใต้พระราชกำหนดฯ เพิ่มเติม พ.ศ.2564 โดยอนุมัติงบประมาณสำหรับ 4 โครงการเพื่อส่งเสริม มาตรการลดค่าครองชีพ ซึ่งเสนอโดยกระทรวงการคลัง ดังนี้

1.อนุมัติ งบ 8,122.3764 ล้านบาท สำหรับ โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 3 ช่วยเหลือวงเงินค่าซื้อสินค้าเพิ่มเติมอีกจำนวน 300 บาทต่อคนต่อเดือน เป็นระยะเวลา 2 เดือน ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคม 2564 รวมเป็น 500 บาท ในเดือนพฤศจิกายนและธันวาคม และรวมเป็น 1,800 บาท ครอบคลุม กลุ่มเป้าหมาย กลุ่มผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวนไม่เกิน 13,537,294 คน

2.อนุมัติ งบ 1,383.8814 ล้านบาท สำหรับ โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ ช่วยเหลือวงเงินค่าซื้อสินค้า จำนวน 300 บาท/คน/เดือน ระยะเวลา 2 เดือน (เดือนพฤศจิกายน – ธันวาคม 2564) รวมเป็น 500 บาท/คน ในเดือนพฤศจิกายนและธันวาคม และรวมเป็น 1,800 บาท
ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือฯ เช่น ผู้ที่ไม่สามารถ เข้าถึงระบบอินเทอร์เน็ต ผู้ที่ไม่มีสมาร์ทโฟน ผู้ที่อยู่ในภาวะพึ่งพิง (ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ทุพพลภาพ ผู้ป่วยติดเตียง) ผู้ที่ลงทะเบียนด้วยตนเองไม่สำเร็จเนื่องจากข้อมูลส่วนบุคคลไม่ถูกต้อง เป็นต้น จำนวนไม่เกิน 2,306,469 คน

3.อนุมัติงบประมาณเพิ่มเติม 42,000 ล้านบาท สำหรับ โครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 3 โดยประชาชนได้รับสิทธิสนับสนุนค่าอาหาร เครื่องดื่ม และสินค้าและบริการทั่วไป รวมทั้งสามารถซื้ออาหาร และเครื่องดื่มจากร้านอาหารและเครื่องดื่มที่เข้าร่วมโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 3 ผ่านผู้ให้บริการระบบ ขนส่งอาหาร (Food Delivery Platform) ร้อยละ 50 ไม่เกิน 150 บาทต่อคนต่อวัน อีกจำนวน 1,500 บาทต่อคน โดยจะสนับสนุนเพิ่มในเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม รวมรัฐสนับสนุนวงเงินให้ทั้งสิ้น 4,500 บาท/คน สำหรับการใช้จ่ายตลอดระยะเวลาโครงการ ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย ประชาชนทั่วไป สัญชาติไทยที่มีอายุ 18 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป และไม่เป็นผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวนไม่เกิน 28 ล้านคน ประกอบด้วยผู้ลงทะเบียนใหม่และผู้ที่เคยได้รับสิทธิแล้ว

4.อนุมัติ งบ 3,000 ล้านบาท สำหรับ โครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ แก่ประชาชนทั่วไปที่ไม่มีบัตรสวัสดิการของรัฐ ไม่ได้รับสิทธิโครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ หรือไม่ใช้สิทธิโครงการคนละครึ่งระยะที่ 3จำนวนไม่เกิน 1 ล้านสิทธิ โดยปรับเพิ่มหลักเกณฑ์ในการคำนวณการให้สิทธิสนับสนุน e-Voucher และเพิ่มวงเงินสนับสนุน e-Voucher จากเดิมไม่เกิน 7,000 บาท เป็น 10,000 บาทต่อคน ในเดือนพฤศจิกายน – ธันวาคม 2564 ดังนี้

-สำหรับการใช้จ่ายตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม ถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2564 คำนวณด้วยวิธีการเดิม

-สำหรับการใช้จ่ายตั้งแต่วันที่ 1 ถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2564

-ผู้ได้รับสิทธิที่มียอดใช้จ่ายที่จะนำมาคำนวณ e-Voucher ไม่เกิน 60,000 บาท ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2564 จะได้รับสิทธิ ดังนี้ สำหรับยอดใช้จ่ายจริงตั้งแต่ 1-40,000 บาทแรก ได้รับ e-Voucher ร้อยละ 10 ของ ยอดใช้จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 4,000 บาทต่อคน สำหรับยอดใช้จ่ายจริงตั้งแต่ 40,001– 80,000 บาท ได้รับ e-Voucher ร้อยละ 15 ข อ งย อ ด ใ ช้ จ่ า ย จ ริ ง แต่ไม่เกิน 6,000 บาทต่อคน สำหรับผู้ได้รับสิทธิที่มียอดใช้จ่ายที่จะนำมาคำนวณ e-Voucher เต็มจำนวน 60,000 บาท ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2564 ซึ่งมีสิทธิ ได้รับ e-Voucher จำนวน 7,000 บาท เรียบร้อยแล้ว จะมีสิทธิได้รับ e-Voucher เพิ่มเติม หากมีการใช้จ่ายเพิ่มเติม จำนวนไม่เกิน 20,000 บาท ในระหว่างวันที่ 1-30 พฤศจิกายน 2564 จะได้รับสิทธิ e-Voucher ร้อยละ 15 ของยอดใช้จ่ายเพิ่มเติม แต่ไม่เกิน 3,000 บาทต่อคน

“ทุกมาตรการ ที่เกิดขึ้นเป็นไปเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่กำลังจะฟื้นตัว และเป็นการช่วยเหลือประชาชนและผู้ประกอบการให้ลุกขึ้นได้ โดยการอนุมัติงบของ ครม. ทั้งนี้จะทำให้ กรอบวงเงินกู้ตามพระราชกำหนดฯ คงเหลือทั้งสิ้นรวม 262,485.0671 ล้านบาท” นาย ธนกร กล่าว

นายธนกรกล่าวว่า ครม.เห็นชอบโครงการส่งเสริมและรักษาระดับการจ้างงานในธุรกิจ SMEs ของกรมการจัดการงาน กระทรวงแรงงาน แบ่งออกเป็น รักษาการจ้างงานในกลุ่ม SMEs ร้อยละ 95 อัตรา 3,000 บาท/คน/เดือน ระยะเวลา 3 เดือน กรอบวงเงินรวม 37,521 ล้านบาท เพื่อลดปัญหาการว่างงาน โดยให้นายจ้างรักษาระดับการจ้างงานเพื่อช่วยเหลือลูกจ้างสัญชาติไทยในธุรกิจ SMEs ไม่ให้ถูกเลิกจ้าง มีรายได้อย่างต่อเนื่อง และได้รับโอกาสในการจ้างงานเพิ่มขึ้น นอกจากนี้เพื่อช่วยเหลือนายจ้างลดค่าใช้จ่ายในการจ่ายค่าจ้างให้กับลูกจ้างสัญชาติไทยให้สามารถรักษาระดับการจ้างงานและดำเนินธุรกิจต่อไปได้


กลุ่มเป้าหมาย นายจ้างภาคเอกชนที่อยู่ในระบบประกันสังคม ฐานทะเบียนข้อมูลประกันสังคม มาตรา 33 สถานะ Active ที่มีลูกจ้างรวมทุกสาขาไม่เกิน 200 คน ณ วันที่ 16 ตุลาคม 2564 จำนวน 394,621 แห่ง ซึ่งมีลูกจ้างสัญชาติไทย จำนวน 4,034,590 ราย และส่งเสริมการจ้างงานใหม่สำหรับลูกจ้างสัญชาติไทย จำนวน 201,730 ราย