เลือกตั้งสนามภาคใต้เดือด “โพลพิษ พปชร.” ยังพลิกอีกหลายยก

โพลการเมือง “บอนไซ” พรรคพลังประชารัฐ เขย่าขวัญ “ส.ส.จิตอ่อน” ไม่มั่นใจในฐานเสียง-คะแนนนิยมเฉพาะตัว เกาะกระแส “เลือกความสงบจบที่ลุงตู่”

ถึงแม้ ส.ส.ภาคใต้ พลังประชารัฐที่ถูกทำโพลจะ “ปั่นป่วน” แต่ “ส.ส.สายแข็ง” และ “สายตรงตึกไทยคู่ฟ้า” ไม่ตื่นตระหนก-เต้นไปตามเกม “โพลกำมะลอ” ของ “ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า” เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ

พลังประชารัฐโพลกำมะลอ

“ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์” ส.ส.บัญชีรายชื่อ-กรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ กล่าวถึงความน่าเชื่อถือของ “พลังประชารัฐโพล” ว่า ทุกพรรคการเมือง ทุกรัฐบาลทำโพลเป็นระยะเป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว ทำมาก ทำน้อย ทำมาตลอด แต่ทำโพลลงไประดับ ส.ส.เขต ส่วนใหญ่ไม่มีใครทำ

ปกติช่วงระยะเวลาทำโพลจะทำใกล้ ๆ เลือกตั้ง ทำโพลตอนนี้ยังไม่สามารถชี้วัดอะไรได้ (ความแม่นยำ) เพราะยังไม่รู้ว่ากระแสของพรรคการเมือง-กระแสของรัฐบาลขาขึ้น หรือขาลง “ทำไปก็ไม่น่าเชื่อถือ”

ในช่วงเลือกตั้งยังมี “ตัวแปร” อื่นประกอบ เช่น กระแสความนิยมของพรรคการเมือง กระแสความนิยมในตัวนายกรัฐมนตรี กระแสพรรคการเมืองคู่แข่ง รวมถึงกิจกรรม-แคมเปญการหาเสียงในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนเลือกตั้ง

“เปลี่ยนได้หมด การเลือกตั้งรอบที่แล้ว ทำโพลไว้ คนที่คิดว่าได้ ตกตั้งหลายคน คนที่คิดว่าไม่ได้ ก็ได้มาตั้งหลายคน ไม่ได้เชื่อถือว่า 100% เป็นเพียงแนวทางเท่านั้น”

ส่วนช่วงเวลาในการทำโพลที่เหมาะสมที่สุด คือ ช่วงโค้งสุดท้ายก่อนเลือกตั้งหรือไม่นั้น โดยปกติทำเป็นระยะอยู่แล้ว ทุก 3 เดือน ทุก 6 เดือน เพื่อวัดคะแนนนิยม เหมือนนิด้าโพล เช็กเรตติ้งนายกฯ ส่วน ส.ส.บางคนก็ทำกันเอง บางคนพรรคก็ทำให้

“ก่อนเลือกตั้งก็ต้องทำอยู่แล้ว ก่อนสมัคร หลังสมัคร อาทิตย์สุดท้ายก่อนเลือกตั้งเป็นอย่างไร แต่ก็ใช่ว่าโพลบอกว่าได้ แล้วจะได้ โพลบอกว่าตก แล้วจะตก”

“ตอนสิงห์บุรี ผมตกตลอด แต่เลือกตั้งก็ได้ เพราะยังมีตัวแปรอื่น บางพรรคการเมืองตัดคะแนนกันไป ตัดคะแนนกันมา เราได้ก็มี บางทีโพลเรามา แต่กระแสเปลี่ยน มีเหตุการณ์อะไรเปลี่ยน อาจจะตกก็ได้”

“ถ้าทำ (โพล) ว่าชาวบ้านรู้จัก ส.ส.ไหม ก็ทำได้ ทำเป็นแนวไว้ แต่ไม่มีผล เลือกตั้งได้หรือไม่ได้อีกตั้ง 1 ปี จะเกิดอะไรขึ้นไม่มีใครรู้”

โพลไม่ใช่คำตอบสุดท้าย

“ชัยวุฒิ” ในฐานะเคยอยู่ร่วมชายคาพรรคชาติไทยก่อนถูกยุบพรรค ปัจจุบันคือชาติไทยพัฒนา-ประชาธิปัตย์ “มาตรฐานการทำโพล” ผู้บริหารพรรคต้องเป็น “เจ้าภาพ” เพื่อวางแผนการส่งผู้สมัคร การลงพื้นที่ กระแสไม่ดีก็ลงพื้นที่เยอะหน่อย ซึ่งพรรคเพื่อไทยก็ทำ

“อย่างประชาธิปัตย์ก็ให้ทำโพลแข่งกัน ใครชนะก็ให้ลง สมมุติถ้ามีผู้สมัคร 2 คน 3 คน แย่งกันลง ก็ให้ทำโพล ใครเสียงดีกว่า ให้เวลา 3 เดือน ไปหาเสียงก่อน โพลใครชนะก็ได้ลง”

การทำโพลเป็นกิจการ-การจัดการภายในของพรรค ต้องเป็นความลับ ออกมาพูดต่อที่สาธารณะไม่ได้ เพราะธรรมเนียมปฏิบัติของพรรคการเมือง-การทำโพลจะต้องเป็นเรื่องลับ เพราะจะทำให้คู่แข่งจับทางได้ และผู้สมัครเกิดความสับสน

“ถ้าทำโพลเพื่อตัดสินใจจะส่งใครลงสมัคร ต้องบอกให้ชัดเจน จะเปลี่ยนตัวและมีผู้สมัครคนอื่นมาเทียบ และทำโพลแข่งกัน อย่างเช่น พรรคชาติไทยเวลาจะส่งใครลงก็ให้ไปทำโพลว่า ผู้สมัครคนนี้มีใครรู้จักหรือไม่”

“บางคนย้ายพรรคคะแนนตกก็มี บางคนเคยอยู่เพื่อไทย คะแนนดี พอมาอยู่พลังประชารัฐ สอบตกก็เยอะ เพราะโพลเกี่ยวกับกระแสพรรคด้วย ไม่ใช่กระแสคนอย่างเดียว”

ส่วนความน่าเชื่อถือ-ความแม่นยำในการทำโพล ต้องประกอบด้วยปัจจัย 1.ตัวผู้สมัคร 2.กระแสพรรค 3.คู่แข่ง 4.นโยบาย 5.คะแนนนิยมของรัฐบาลและนายกรัฐมนตรี และ 6.กิจกรรมหาเสียง-ปราศรัยช่วงโค้งสุดท้ายก่อนเลือกตั้ง

ช่วงสุดท้ายของการทำโพลที่มีโอกาส “ผิดพลาดน้อยที่สุด” อดีตลูกพรรคชาติไทย-ศิษย์เก่าประชาธิปัตย์ “ฟันธง” ว่า “ยิ่งใกล้ (วันเลือกตั้ง) ยิ่งดี”

ก่อนจะทิ้งท้ายว่า “โพลทำเป็นแนวทางได้ แต่ไม่ใช่คำตอบสุดท้าย”

“บางทีอาทิตย์สุดท้าย (ก่อนวันเลือกตั้ง) ที่ว่าคนนั้นได้ คนนี้ได้ พอถึงเวลาตกก็มี เพราะชะล่าใจ คู่แข่งพลิกกลับมาชนะก็มี บางคนเจอพลังเงียบ ไม่ชอบ เพราะไปย้ายพรรค บางคนรู้จักส่วนตัว แต่พอถึงเวลาเลือกตั้ง เจอกระแสพรรคดึงก็มี”

เกมพลิก ปชป.เลือดไหล

อีกพรรครัฐบาล ศึกชิงพื้นที่ ส.ส.เขต-ทำเลทองของพลพรรคค่ายพระแม่ธรณีบีบมวยผม-ประชาธิปัตย์ โกลาหลไม่แพ้กัน และดูจะดุเดือด-เผ็ดร้อน จนผู้มีบารมีของพรรค ต้องออกเตือนสติ-ไม่ให้เดินทางผิด หย่าศึกคนในพรรค

โดยเฉพาะพื้นที่ภาคใต้ที่ดูจะร้อนระอุ-ปะทุ เข้าใกล้ “จุดแตกหัก” เมื่อ “ขั้วอำนาจใหม่” ที่เข้ามากุมอำนาจภายในประชาธิปัตย์ “ไม่ OK” กับ “ขั้วอำนาจเก่า” ต้องการส่ง “คนของตัวเอง” ลงมา “เบียดที่” โดย “ไม่ให้เกียรติ” คนเก่า

เกิดแรงกระเพื่อม-รอยร้าวในพรรคเก่าแก่ 75 ปี จนอาจเกิด “เลือดไหลออก” อีกครั้ง

เมื่อ “นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ” อดีต ส.ส.พัทลุง 8 สมัย-รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รับผิดชอบพื้นที่ภาคใต้ 3 สมัย “คนเก่าคนแก่” อยู่ร่วมอุดมการณ์พรรคมากว่า 30 ปี ถูก “ข้ามหัว” ส่งคนมา “ยึดที่” โดย “ไม่บอกกล่าว”

ตลอด 3 ปีหลังจาก “นิพิฏฐ์” แพ้เลือกตั้ง“ยืนแลกหมัด” กับ “ตระกูลรัชกิจประการ” ชนิด “ถึงพริกถึงขิง” และ “กัดไม่ปล่อย” ทั้งก่อน-ระหว่าง-หลังเลือกตั้ง

จนศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองออกคำสั่งให้ “ภูมิศิษฎ์ คงมี” ส.ส.เขต 1 และ “ฉลอง เทิดวีระพงศ์” ส.ส.เขต 2 พัทลุง ภูมิใจไทย “หยุดการปฏิบัติหน้าที่” กรณี “เสียบบัตรแทนกัน”

ทว่า รางวัลที่ “นิพิฏฐ์” ได้รับ คือ “ถูกเขี่ย” เพื่อ “เปิดทาง” ให้ นายนิติศักดิ์ ธรรมเพชร ลูกชาย “วิสุทธิ์ ธรรมเพชร” นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เป็น ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.พัทลุง เขต 2 แทน

ขณะที่ ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.พัทลุง เขต 1 “วางตัว” น.ส.สุพัชรี ธรรมเพชร อดีต ส.ส.พัทลุง ส่วน ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.พัทลุง เขต 3 นายนริศ ขำนุรักษ์ อาจจะได้ลงในเขตพื้นที่เดิม

นอกจากนี้ “ราเมศ รัตนเชวง” โฆษกพรรคที่ “แสดงตัว” ลงเขตใหม่-พังงา อาจต้อง “กลืนเลือด” เพื่อ “หลีกทาง” ให้ นายบำรุง ปิยนามวาณิช อดีตนายก อบจ.พังงา สวมเสื้อ ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.พังงา เขต 2 แทน

ส่วน “อันวาร์ สาและ” ส.ส.ปัตตานี ที่ยืนอยู่คนละฝั่งทางความคิดกับ “ขั้วอำนาจใหม่” มาโดยตลอด แม้จะเป็น “เจ้าของพื้นที่” แต่ก็ยังลูกผีลูกคน-ต้องลุ้นว่าพรรคจะส่งลง “รักษาแชมป์” หรือไม่ หรือ “บีบออก” ไปโดยอัตโนมัติ

ทั้ง “นิพิฏฐ์” และ “อันวาร์” ถ้าคุยกันไม่รู้เรื่อง มีพรรคการเมืองจำนวนไม่น้อยที่พร้อมจะ “อ้าแขนรับ”

ท็อปทเวนตี้ พื้นที่เซฟโซน

ปรากฏการณ์ “แย่งลงเขต” ย้อนแย้งกับความมั่นใจของ “จุรินทร์” ประชาธิปัตย์อยู่ในช่วง “ขาขึ้น” รวมถึง “ผลโพล” หลายสำนัก “ฟันธง” นายจุรินทร์เหมาะสมที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี ในการเลือกตั้งครั้งหน้า

ยิ่งพื้นที่ “เซฟโซน” ที่ “การันตี” เก้าอี้ ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรคประชาธิปัตย์ ตั้งแต่อันดับที่ 1-อันดับที่ 12 มี “จำนวนจำกัด” ผู้สมัคร ส.ส.โนเนม-ขายไม่ได้ ไม่เป็น “แม่เหล็ก” ของพรรค ยากที่จะไต่ขึ้นมาอยู่ในอันดับ “ท็อปทเวนตี้”

พื้นที่เซฟโซน-อันดับ ส.ส.บัญชีรายชื่อของประชาธิปัตย์ ยึดตามโครงสร้างของพรรค ได้แก่ อันดับที่ 1 หัวหน้าพรรค อันดับที่ 2 นายชวน หลีกภัย อันดับที่ 3 นายบัญญัติ บรรทัดฐาน อันดับที่ 4 เลขาธิการพรรค อันดับที่ 5-12 รองหัวหน้าภาค

“รัชดา ธนาดิเรก” กก.บห.ประชาธิปัตย์ เปิดสเป็ก การจัดอันดับ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ของพรรคว่า 1.เป็นที่ยอมรับของประชาชน-คนในพรรค เพราะเกี่ยวข้องกับการจัดอันดับ 2.เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบาย

ส่วนสเป็กของ ส.ส.เขต “อดีต ส.ส.กทม.เขตบางพลัด-บางกอกน้อย” ที่ปล่อยมือให้ “ชนินทร์ รุ่งแสง” เพื่อน ส.ส.พวงใหญ่ เรียงเบอร์ มา “รับไม้ต่อ” บอกว่า

1.มีความมุ่งมั่นจะดูแลพื้นที่-เป็นปากเสียงประชาชน 2.มีจุดขาย-ภูมิหลังน่าสนใจ สอดคล้องกับยุคสมัย-กลุ่มเป้าหมาย และ 3.มีความรู้-ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เพื่อต่อยอดเชิงนโยบาย

ความปั่นป่วนของ 2 พรรค พรรคหนึ่ง-พลังประชารัฐ ที่มี “จำนวน ส.ส.มากที่สุด” ในพรรคร่วมรัฐบาล อีกพรรคหนึ่ง-ประชาธิปัตย์ ที่มี “อายุเก่าแก่ที่สุด” ของการเมืองไทย ถ้าตัดกล-เกมการเมืองภายในพรรคออกไป สนามเลือกตั้งภาคใต้รับประกันความดุ-เดือด-ร้อนแรง