มติป.ป.ช. ตั้งกรรมการสอบ 3 อดีตผู้บริหารสำนักพุทธฯ ปมทุจริตวัดพนัญเชิง 20 ล้าน

เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม ที่สำนักงาน ป.ป.ช. นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แถลงข่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.ในวันเดียวกันนี้ได้พิจารณากรณีการตรวจสอบการทุจริตเงินอุดหนุนงบประมาณบูรณปฏิสังขรณ์วัด 12 คดี ที่กองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (ปปป.ตร.) ส่งสำนวนคดีมาให้ ป.ป.ช.ดำเนินการ ขณะนี้เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.ให้ตั้งคณะทำงานแสวงหาข้อเท็จจริงเรื่องดังกล่าว และได้ดำเนินการแสวงหาข้อเท็จจริงได้ข้อมูลเพิ่มเติมและรายงานให้ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.ทราบมาแล้วครั้งหนึ่ง แต่ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้มอบหมายให้คณะทำงานฯไปแสวงหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติม โดยขณะนี้คณะทำงานฯได้ไปแสวงหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติมตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.มอบหมายเสร็จแล้ว โดยได้สรุปและเสนอเรื่องเข้าที่ประชุมกรรมการ

นายสรรเสริญกล่าวว่า ที่ประชุมพิจารณาแล้วพบว่ามีมูลความผิดชัดเจน เพียงพอ จึงมีมติตั้งอนุกรรมการไต่สวนกรณีสำนวนการทุจริตเบิกจ่ายเงินงบประมาณในการบูรณปฏิสังขรณ์วัดพนัญเชิง จ.พระนครศรีอยุธยา โดยมีผู้ถูกกล่าวหาเป็นอดีตผู้บริหารสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ 3 ราย คือ นายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ อดีตผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) นายพนม ศรศิลป์ อดีต ผอ.พศ. และ น.ส.ประนอม คงพิกุล รอง ผอ.พศ. พบว่ามีส่วนร่วมกระทำผิดในการเบิกจ่ายงบฯดังกล่าว มูลค่าความเสียหาย 20 ล้านบาท โดยให้นายสุรศักดิ์ คีรีวิเชียร กรรมการ ป.ป.ช. เป็นผู้รับผิดชอบสำนวนคดี

นายสรรเสริญกล่าวเพิ่มเติมว่า ป.ป.ช.เตรียมที่จะแจ้งคำสั่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน ส่งไปให้ผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 3 คนรับทราบ หรือให้คัดค้านรายชื่ออนุกรรมการต่อไป ส่วนสำนวนคดีที่ ปปป.ตร.ส่งมาอีก 11 สำนวนคดี นั้นให้แสวงหาข้อมูลต่อไปและทยอยสรุปให้ที่ประชุมกรรมการ ป.ป.ช.พิจารณาเพื่อพิจารณาแต่งตั้งอนุกรรมการไต่สวนต่อไป

ผู้สื่อข่าวถามว่าในสำนวนที่ ปปป.ตร.ส่งมามีพระหรือบุคลากรในวัดเข้าไปเกี่ยวข้องหรือไม่ นายสรรเสริญ กล่าวว่า ในสำนวน ปปป.ตร.มีแค่เจ้าหน้าที่ที่กระทำความผิด ส่วนพระไม่ได้ถูกกล่าวหา แต่หากวัดมีส่วนรู้เห็นอาจต้องขอให้พระและบุคลากรในวัดมาเป็นพยาน

เมื่อถามว่า ในสำนวน 11 คดีนั้นผู้ถูกกล่าวหาชื่อเดียวกับที่ถูกตั้งอนุกรรมการไต่สวนชุดนี้หรือไม่ นายสรรเสริญ กล่าวว่า เรื่องที่เกิดขึ้นอยู่ระหว่างปี 57-59 ดังนั้น จะไม่ใช่ตัวละครเดียวกันทั้งหมด ต้องดูว่าแต่ละช่วงปีนั้นผู้ดำรงตำแหน่งบริหารระดับสูงของ พศ.นั้นเป็นใครบ้าง

 

ที่มา : มติชนออนไลน์