“คุณหญิงสุดารัตน์” ชี้ปมจับมือ “พท.-ปชป.” เป็นเรื่องหลังการเลือกตั้ง

‘เอนก’ เผยพอใจภาพรวมหลังรับฟังตัวแทนพรรคการเมือง เตรียมจัดโฟกัสกรุ๊ป เชิญผู้เชี่ยวชาญร่วมหารือ ระบุ 2 พรรคใหญ่ ‘ปชป.-พท.‘ จับมือตั้งรัฐบาล เป็นไปได้ แต่ไม่ง่าย ขณะที่ ‘คุณหญิงสุดารัตน์’ ชี้เป็นเรื่องหลังการเลือกตั้ง

เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน ที่สภาพัฒนาการเมือง ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ แจ้งวัฒนะ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง ที่มีนายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ เป็นประธาน ได้มีการเชิญนักการเมืองมาให้ข้อมูลและแสดงความคิดเห็นในการจัดแผนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง เป็นครั้งที่ 4 โดยวันนี้เป็นการเชิญคุณหญิง สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ แกนนำพรรคเพื่อไทย (พท.) ทั้งนี้ นายเอนกให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุมว่า จากการหารือร่วมกับตัวแทนพรรคการเมืองที่ผ่านมาได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี โดยทุกคนมีมุมมองเกี่ยวกับการปฏิรูปทางการเมือง มีนัยยะว่าหากพวกเขาขึ้นมาปกครองบ้านเมือง และเข้ามาอยู่ในระบบแล้ว คงไม่ขัดกับการปฏิรูปการเมือง นอกจากนี้ยังพบว่าฝ่ายการเมืองในฐานะที่เป็นนักเมืองก็พร้อมที่จะปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ และตามกฎหมายโดยไม่มีข้อต่อรองใดๆ แม้บางเรื่องจะไม่เห็นด้วยหรือไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง แต่ก็พร้อมที่จะปรับตัว ซึ่งคนที่เข้าหารือมีความต้องการเห็นความเลือกตั้งครั้งนี้นำไปสู่ความสงบ สันติ และเปิดโอกาสให้ประชาชนได้รับฟังความคิดเห็นทั้งจากพรรคการเมืองที่ตัวเองชื่นชอบ และพรรคที่ตัวเองไม่นิยม ซึ่งถือว่าเป็นนิมิตรหมายที่ดี โดยนักการเมืองพร้อมที่ยอมรับผลการเลือกตั้งที่เกิดขึ้น ไม่ว่าผลการเลือกตั้งนั้นจะทำให้ตัวเองเป็นรัฐบาลร่วมกับพรรคการเมืองอื่น หรือพรรคที่เชื่อว่าจะเป็นพรรคของรัฐบาล เขาก็จะเปิดโอกาสให้มากที่สุดเพื่อทำให้บ้านเมืองมีทางออก โดยไม่มีพรรคใดตั้งเงื่อนไขว่าจะไม่ร่วมกับพรรคการเมืองใดในตอนนี้

นายเอนกกล่าวต่อว่า ส่วนที่มีกระแสข่าวว่าพรรคใหญ่จะมีการจับมือร่วมกันนั้น ในมุมมองของคนปฏิรูปมองว่ามีความเป็นไปได้ทั้งนั้น การเมืองตามหลักแล้วนั้น คือการทำเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ให้เป็นไปได้ ดังนั้นโอกาสที่สองพรรคจะร่วมมือกันก็เป็นไปได้ แต่ไม่ง่าย เพราะทั้ง 2 ฝ่ายก็มีฐานมีมวลชนของตัวเองชัดเจน ขึ้นอยู่กับว่ามวลชนของแต่ละพรรคจะคิดอย่างไร ซึ่งหาก 2 ฝ่ายจะจับมือร่วมกันต้องไปพูดคุยกับมวลชนของแต่ละฝ่าย เป็นเรื่องที่สำคัญมากกว่าใครจะจับมือกับใคร ตนคิดว่าเป็นการส่งสัญญาณความปรองดองทางการเมือง ซึ่งความไม่ลงรอยกันได้ลดลงไปแล้ว แต่ตนไม่กล้าสรุปว่าลดลงไปหมด หรือลดลงไปมาก ไม่กล้าสรุปถึงขนาดนั้น แต่พอสรุปได้อย่างปลอดภัย คิดว่าลดลงไปพอสมควรแล้ว ซึ่งเราก็ต้องปรับตัวปรับใจเข้ากับการเมืองที่จะมาถึงนี้ ไม่เช่นนั้น เราก็จะพาการเมืองให้กลับไปเป็นเหมือนเดิมอีก ประเทศก็ไม่มีทางออก ไม่มีทางไป สิ่งที่เราไม่คิดไม่ฝันก็เตรียมที่จะเห็น

เมื่อถามว่า ถ้ามองในมุมของ คสช.การที่พรรคการเมืองร่วมมือกันเป็นการป้องกันการตั้งรัฐบาลจากทหาร นายเอนก กล่าวว่า การที่จะไม่เอาทหารก็ดีในแง่ของประชาธิปไตย แต่ในแง่ความเป็นจริงต้องยอมรับว่าทั้งรัฐธรรมนูญ และ ส.ว. เป็นสิ่งที่ คสช.สร้างเอาไว้แล้ว จึงเป็นการยากที่ทหารจะไม่เข้ามาร่วมด้วยก็คงจะยาก

เมื่อถามว่า หลังจากที่เชิญกลุ่มการเมืองแล้วจะเชิญกลุ่มไหนให้ความคิดเห็นอีกหรือไม่ นายเอนกกล่าวว่า ก็มีความคิดอยู่ แต่เวลาเหลือน้อย ซึ่งในปลายเดือนธันวาคม ก็ต้องสรุปทั้งหมดไปให้ประธานที่ประชุมร่วมของคณะปฏิรูปทุกชุด จากนั้นก็จะส่งให้กรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งระหว่างนี้แผนก็ปรับเปลี่ยนได้ตลอด เพราะฉะนั้นก็จะต้องเร่งทำภายในไม่กี่สัปดาห์ โดยจะเชิญผู้มีประสบการณ์ วิสัยทัศน์ กว่าหลาย 10 คน มาหารือกัน ส่วนประเด็นในการหารือนั้น นายวันชัย สอนศิริ เป็นผู้ประสาน การปฏิรูปการเมืองที่สำคัญที่สุด คือประชาชน แล้วประชาชนต้องปฏิรูปตัวเองจากภายใน และต้องหนักแน่นมั่นคง เห็นว่าการเมืองเป็นเรื่องของเรา ไม่ใช่เป็นเรื่องของนายกฯ หรือการเมือง หากคิดแบบนั้นก็จะเหมือนยุคก่อน ทั้งนี้เชื่อว่าเป็นสิ่งที่สำคัญ แต่ต้องใช้เวลา และคนไทยมีอะไรดีๆ อยู่เยอะ

เมื่อถามอีกว่า ตามเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญที่ทำให้การปฏิรูปการเมืองที่ทำ 3-4 ประเด็น มีเรื่องไหนที่สำเร็จหรือไม่สำเร็จบ้าง หรืออยู่ในขั้นตอนการดำเนินการ นายเอนกกล่าวว่า ขณะนี้กำลังเขียนอยู่ ซึ่งภายในเดือนธันวาคมก็จะมีรายละเอียดมากขึ้น ตนไม่ขอลงรายละเอียดมากเพราะอยู่ระหว่างการดำเนินการอยู่

เมื่อถามว่า การประชุมโฟกัสกรุ๊ปจะเชิญผู้มีอำนาจ คสช.หรือทหารมาร่วมประชุมด้วยหรือไม่ เพราะที่ผ่านมาทหารถูกมองว่าเข้ามาทำลายการปกครอง นายเอนก กล่าวว่า มีการเชิญทหารเข้ามาร่วมประชุมด้วย ทหารไทยมีข้อดีอย่างหนึ่ง คือไม่คิดที่จะอยู่ในอำนาจอย่างถาวร ไม่เหมือนกับทหารในประเทศอื่นๆ รวมถึงเงื่อนไขที่เข้ามาไม่ได้เป็นความต้องการของทหารเอง มันอยู่ที่สังคมที่เรียกร้องอยากให้เข้ามาจัดการเรื่องที่ระบบปกติไม่สามารถจัดการได้ และสิ่งที่ประชาชนคาดหวังจะให้ทหารทำเสร็จแล้ว ประชาชนก็อยากให้ทหารกลับ ซึ่งหมายความว่าประชาธิปไตยไทยมีความมั่นคง อย่างไรก็ต้องปกครองแบบประชาธิปไตย แต่ประชาธิปไตยของเรามีความพิเศษในแบบของเรา

ด้านคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ แกนนำพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวก่อนเข้าแสดงความคิดเห็นต่อคณะกรรมการปฎิรูปฯ ว่าความสำคัญของการปฎิรูป ขณะนี้ทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่า ต้องช่วยกันปฎิรูป เพราะปัญหาการเมืองของไทยที่ดำรงอยู่เกือบ 10 ปี และขณะนี้โลกมีการเปลี่ยนแปลงทั้งในด้านเทคโนโลยี ส่งผลต่อทางด้านเศรษฐกิจ และการเมือง หากเราไม่ปรับตัวก็จะสูญเสียโอกาสในการแข่งขันได้ ส่วนเรื่องที่คณะกรรมการปฎิรูปกำหนดประเด็นในการหารือ โดยเฉพาะเรื่องรัฐธรรมาธิปไตย ตนก็เห็นว่าสอดคล้องกับดุษฎีนิพนธ์ที่ตนกำลังทำอยู่ ซึ่งจะมีแก่นเรื่องธรรมาภิบาลคล้ายกับประเด็นของคณะกรรมการปฎิรูป ในวันนี้จึงเป็นโอกาสที่ดีในการมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเรื่องการปฎิรูป และหลักธรรมาธิปไตย

เมื่อถามถึงแนวคิดการร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลของพรรคประชาธิปปัตย์และเพื่อไทย คุณหญิงสุดารัตน์กล่าวว่า กรณีนี้อาจเป็นความเห็นของฝ่ายที่มีแนวคิดประชาธิปไตย ซึ่งเป็นเรื่องของอนาคต หลังการเลือกตั้ง แต่สิ่งที่ตนเห็นว่าพรรคการเมืองควรดำเนินการก่อนการเลือกตั้ง ควรหาแนวทางร่วมกันในการคืนสู่ประชาธิปไตยอยู่แท้จริง ไม่ใช่ประชาธิปไตยแค่เปลือก หรือชื่อ หรือหลังเลือกตั้งแล้วเป็นประชาธิปไตยไม่เต็มใบ ควรใช้โอกาสนี้ในการที่จะคืนสู่ประชาธิปไตย อย่างไรก็ตาม เชื่อว่ากระบวนการไม่น่าจะเป็นอุปสรรคที่จะนำไปสู่การเลือกตั้ง ถ้าตั้งใจให้การเลือกตั้งเป็นไปตามระยะเวลา แต่ กฎ เกณฑ์ และกฎหมายลูกที่ออกมาควรจะเดินหน้าไปสู่ประชาธิปไตยที่แท้จริงด้วย

 

 


ที่มา : มติชนออนไลน์