สะเก็ดแผลจากการ “วัดพลัง” ระหว่างกลุ่ม “ผู้กองธรรมนัส” กับกลุ่ม “รัฐมนตรีสายตรงตึกไทยคู่ฟ้า” นำไปสู่การรื้อ 10 หัวหน้าภาคยกแผง-กระจายอำนาจ
เป็นการปรับทัพ-เซตกำลังใหม่เพื่อเตรียมความพร้อม-ปูทางสู่ลู่เลือกตั้งในอีก 18 เดือนข้างหน้า สอดรับกับ “คีย์แมน” ข้างกาย “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ “เดินเกม” ทั้งในสภาและนอกสภา-ลงพื้นที่ ภายใต้แผนที่นำทาง 3 ขา
“นฤมล ภิญโญสินวัฒน์” เหรัญญิกพรรค บอกว่า การลงพื้นที่ไม่ใช่สัญญาณการเลือกตั้ง ยังไม่ถึงเวลาเลือกตั้ง
“ท่านหัวหน้าพรรคกำชับทุกครั้งที่มีการประชุมพรรคตลอด 2 ปีที่ผ่านมา นอกจากงานในสภาแล้ว งานในพื้นที่ก็สำคัญ เพื่อช่วยประชาชนให้อยู่ดีกินดี ส.ส.หลายกลุ่มจะส่งงานให้พรรคว่าวันนี้จะไปทำงานที่ไหนอย่างไร”
ขณะที่พรรคเพื่อไทย “รีแบรนด์” สู้ศึกเลือกตั้ง “เป็นไปตามธรรมชาติ” ส่วนสาเหตุทำไมพลังประชารัฐ จึงไม่พูดถึง-ไม่มีเตรียมพร้อม ไม่ถูกต้องทั้งหมด เพราะมีการเตรียมความพร้อมในด้านต่าง ๆ เป็นการ “ภายใน”
“เวลาลงไปเจอสมาชิกพรรครับฟังข้อเสนอแต่ละพื้นที่ต้องการนโยบายแบบไหน อีสานต้องการแบบหนึ่ง อีสานแต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกัน เรามีทีมงานเก็บข้อมูล บางเรื่องเร่งด่วนให้ผ่านกรรมการบริหารพรรคได้เลย เช่น เรื่องบริหารจัดการน้ำ”
“วันนี้ยังไม่ถึงเวลาที่จะพูดถึงการเลือกตั้งครั้งหน้า ยังไม่ได้รับสัญญาณอะไรทั้งสิ้น รัฐบาลจะครบวาระในปี 2566 ยังมีเวลาเตรียมตัว”
ให้ “นฤมล” ตอบคำถาม “ข้ามชอต” การเลือกตั้งครั้งหน้า พลังประชารัฐมี “จุดขาย” เน้นที่ “ตัวบุคคล” ภายใต้สโลแกน “เลือกความสงบ จบที่ลุงตู่” อยู่หรือไม่
“การวางทิศทางมีอยู่ 3 ส่วน ส่วนของผู้นำ ส่วนของนโยบาย และส่วนของผู้สมัครแต่ละเขต ซึ่งแต่ละพื้นที่ส่วนผสมไม่เหมือนกัน บางเขตตัวผู้สมัครแข็งมาก บางเขตเลือกเพราะนโยบาย บางเขตเลือกที่ตัวผู้นำ”
พลังประชารัฐจึงใช้ “ยุทธศาสตร์ 3 ขา” ในการเคลื่อนองคาพยพเพื่อเข้า “เส้นชัย” ในการเลือกตั้งครั้งหน้า เพื่อ “กำหนดแผนในแต่ละเขต” และเน้นแท็กติก “หนัก-เบา” ในแต่ละพื้นที่
ขณะที่ “มือขวาผู้กองธรรมนัส” ไผ่ ลิกค์ รองเลขาธิการพรรค กล่าวว่า เสียง ส.ส.ในพลังประชารัฐเป็นปึกแผ่น-เป็นเอกภาพ เสียงในสภาไม่แตก-กฎหมายผ่านทุกฉบับแน่นอน ไม่มีปัญหา
ส่วนภาพความขัดแย้งภายในพรรคจนกลายเกิดเป็น “รอยร้าว” นั้น เขาให้แยกเป็น 2 ส่วน “จะเอาเรื่องในสภามาต่อรองกันภายในพรรคเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง กฎหมายฉบับดี เป็นประโยชน์กับประชาชนก็ต้องเร่งให้ออกมา”
“วันนี้เสถียรภาพของรัฐบาลยังดีอยู่ เสียงยังห่างจากฝ่ายค้าน ไม่น่ามีปัญหา น้ำท่วมก็ดีขึ้นแล้วระดับหนึ่ง ประชาชนได้รับการเยียวยาจากท่านนายกฯ คิดว่าไม่น่าจะมีอะไรกระเพื่อม”
ส่วนการเตรียมตัว-เตรียมพร้อมเลือกตั้ง “ส.ส.กำแพงเพชร” ไม่ชะล่าใจ เป็น ส.ส.ต้องเต็มที่ ดูแลประชาชนไปเรื่อย ๆ ไม่มีคำว่า ถึงเวลาเลือกตั้งแล้วค่อย ๆ เตรียมตัว
“เหมือนกับนักเรียนเวลาเรียนไม่ตั้งใจ มาอ่านหนังสือตอนสอบ…ไม่ได้ สอบตกแน่นอน”
“เรื่อง (ความขัดแย้ง) ที่ผ่านมา หัวหน้าพรรคพูดแล้ว ทุกคนเคารพ รักหัวหน้าพรรคก็ต้องเป็นไปตามที่หัวหน้าพูด ถ้าเราทะเลาะกันไปเรื่อย ๆ ผลเสียคือ ใครจะมาเลือก”
“1 ปี (เลือกตั้ง) ถามว่านานไหม ก็ไม่นาน แต่ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่า พลังประชารัฐมีองคาพยพในการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว ทำสำเร็จ ได้มาเป็นรัฐบาล เราเตรียมตัวดีอยู่แล้ว แต่จะทำอย่างไรให้เดินหน้าให้ได้เยอะขึ้น”
ส่วน “ซามูไรกฎหมาย” ไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรค บอกว่า ขั้นตอนหลังจากนี้จะหารือกับผู้รับผิดชอบเกี่ยวกับการเลือกตั้งของพรรค คณะกรรมการกฎหมายพรรค และส่งไปที่ประธานวิปรัฐบาลไปดำเนินการต่อ
“ตอนนี้ร่างกฎหมาย พ.ร.ป.เลือกตั้ง และ พ.ร.ป.พรรคการเมืองมีอยู่แล้ว เมื่อผ่านกระบวนการภายในพรรคเสร็จ คาดว่าจะเสร็จก่อนที่รัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมจะประกาศใช้ ถึงจะยื่นต่อสภาให้พิจารณา”
“และในวาระ 2 อาจจะเอาร่างของ กกต.เป็นร่างหลักก็ได้ ร่างที่เหลือนำไปประกอบการพิจารณา ซึ่งแต่ละร่างแตกต่างกันในรายละเอียดอยู่แล้ว ต้องพิจารณาให้ได้ข้อยุติว่าจะแก้ไขอย่างไร”
“ไพบูลย์” ในฐานะผู้ร่าง พ.ร.ป.เลือกตั้ง ยึดแนวการคำนวณจำนวน ส.ส.พึงมี (ปาร์ตี้ลิสต์) เหมือนปี 2554 คิดให้สัมพันธ์กับคะแนนรวมทั้งประเทศ หารด้วย 100 คน พรรคที่ได้จำนวนเต็มก็ได้ไป ส่วนที่เหลือ พรรคที่มีจำนวนเศษมากที่สุดก็ได้ไป
“ร่างอื่นอาจจะให้พรรคที่มีเศษเยอะสุด โดยไม่ดูว่ามีจำนวนเต็มหรือไม่ ก็เสนอไป น่าจะเป็นประโยชน์กับพรรคเล็ก แต่ก็ต้องตอบคำถามว่า จะไม่มีเสียงครหาว่า เป็นพรรคปัดเศษ สุดท้ายก็ไปว่ากันในวาระสองอยู่ดี”
ส่วนการทำไพรมารี่โหวตยังมีอยู่หรือไม่ “มีร่าง พ.ร.ป.พรรคการเมืองอยู่ แต่ยังไม่ได้ข้อยุติ”
“ตอนคำสั่ง คสช.ที่ใช้เลือกตั้งปี’62 ไม่มีไพรมารี่โหวต ให้กรรมการสรรหาไปรับฟังความคิดเห็นสมาชิก เต็มที่ก็น่าจะใช้เหมือนปี’62 แต่บางฝ่ายก็อยากให้มีมากกว่าปี’62 ยังไม่ตกผลึก”
“การเลือกตั้งก็ยังอีกนานอยู่แล้ว ยังมีเวลาเยอะ รัฐธรรมนูญยังไม่ประกาศใช้ด้วย”
ส่วนพรรคการเมืองฝ่ายค้านเปิดตัวครึกโครม-รัวกลองเลือกตั้ง แต่เสียงคิกออฟเลือกตั้ง “นกหวีด” อยู่ที่ พล.อ.ประยุทธ์ “แล้วเลือกตั้งได้ไหม อำนาจยุบสภาอยู่ที่นายกฯ ไม่ได้อยู่ที่ฝ่ายค้าน นายกฯบอกแล้วว่าไม่ยุบสภา”
ถ้ามองมุมเกมการเมือง-ชิงความได้เปรียบ ช่วงไหนควรจะยุบสภา ? “เมื่อนายกฯเห็นว่า ควรจะต้องยุบ ถ้านายกฯเห็นว่า ไม่ยุบ ยังไงก็ไม่ยุบ อยู่จนครบวาระ”
“ฝ่ายค้านอยากจะปลุกกระแสยุบสภา เพื่อที่จะให้รัฐบาลมีเสถียรภาพน้อยลง รัฐบาลที่จะยุบสภาโดยเร็ว แสดงว่าเป็นรัฐบาลที่มีเสถียรภาพน้อยลงแล้ว แต่นายกฯไม่ยุบ เพราะมั่นใจว่ามีเสถียรภาพมากพอ อยู่ให้ฝ่ายค้านอกแตกตายไปเลย”