เพื่อไทย ในวังวน ม.112 “ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์” ไม่สุดซอย

รายงานพิเศษ

พรรคเพื่อไทยกำลังถูกรุมกระหน่ำในโซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อย ที่มองภาพว่า “สู้ไป กราบไป”

จากเรื่องการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ภายหลัง “ชัยเกษม นิติศิริ” ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์และทิศทางทางการเมืองของพรรค ออกแถลงการณ์ “หยิบ” กระแสจากม็อบราษฎร-ทะลุฟ้า ให้แก้ไขมาตรา 112

โดยใจความสำคัญแถลงการณ์ของ “ชัยเกษม” ระบุตอนหนึ่งว่า พรรคเพื่อไทยในฐานะพรรคที่มีเสียงสมาชิกมากที่สุดในสภาผู้แทนราษฎร พร้อมนำข้อเสนอดังกล่าวเข้าสู่วาระการประชุมรัฐสภา เพื่อตรวจสอบระบบการทำงานของบุคคลในกระบวนการยุติธรรม ตั้งแต่เจ้าหน้าที่ตำรวจ อัยการ ศาล และราชทัณฑ์

ว่าได้ปฏิบัติหน้าที่หรือใช้ดุลพินิจไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายหรือไม่ และตรวจสอบการสั่งการโดยรัฐบาล รวมถึงการแก้ไขกฎหมาย ระเบียบปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม

แต่ไม่ทันไร “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี ก็ออกมาระบุว่า กฎหมายมาตรา 112 ไม่ใช่ปัญหา

“ผมขอแนะนำว่า ก่อนจะมาบอกว่าจะแก้มาตรา 112 หรือไม่ ขอให้ไปเริ่มย้อนคิดว่าเมื่อตัวกฎหมายไม่เคยมีปัญหา แต่คนที่เป็นปัญหาคือคนที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรม และคนที่นำประเด็นนี้มาสร้างความแตกแยกในสังคมต่างหาก ถ้ามีการจัดระเบียบให้ถูกต้องและมีการพูดคุยกับผู้เห็นต่างบ้าง ก็จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี”

“และนำไปสู่การรักษากฎหมายที่เป็นธรรม และก็จะไม่มีใครเดือดร้อน แต่วันนี้ ขอย้ำอีกครั้งว่าประเทศขาดการบริหารจัดการ เลือกที่จะใช้ law and order เท่านั้นขอให้ทั้ง 2 ฝ่ายหยุดดราม่า หายใจยาว ๆ มาเริ่มต้นใหม่ตามที่ผมแนะนำเบื้องต้นเพื่อความรัก เพื่อการถวายความจงรักภักดีที่ถูกต้อง ถูกทาง ไม่ให้เจ้านายต้องถูกครหาโดยที่ไม่รู้” ทักษิณระบุ

แต่ก่อนจะไปรวบยอดเป็นคำพูดของ “ทักษิณ” ที่โพสต์เฟซบุ๊กเมื่อช่วงค่ำของวันที่ 2 พฤศจิกายน ตลอดทั้งวันของวันเดียวกันนั้น คนในพรรคเพื่อไทย “นพ.ชลน่าน” หัวหน้าพรรค “สุทิน คลังแสง” ประธานวิปฝ่ายค้าน “นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี” ผอ.พรรค ให้ความเห็นไปในทิศทางเดียวกัน คือ ต้องการนำความคิดเห็นที่แตกต่างเกี่ยวกับเรื่องนี้เข้าสู่กระบวนการพิจารณาของรัฐสภา ใช้กลไกรัฐสภาเพื่อหาทางออก

ทั้งหมดถูกสื่อสาร เป็นภาษาเดียวกับ “ทักษิณ”

ซึ่งประเด็น “สู้ไป กราบไป” นพ.ชลน่านก็เห็นต่างในประเด็นนี้ว่า ต้องดูว่าสู้กับอะไร เพื่อไทยไม่ได้สู้ไป กราบไป เพราะเพื่อไทยสู้กับเผด็จการ

ส่วนการแก้ไขมาตรา 112 ของพรรคเพื่อไทย “นพ.ชลน่าน” กล่าวว่า “ไม่เคยมีความคิดยกร่างในเรื่องนี้ เราเพียงเห็นว่าฝ่ายไหนส่งเข้ามาก็ถือว่าเป็นปัญหา เพราะเรามองมุมปกป้องสถาบัน มีทั้งแรงสนับสนุน แรงต่อต้าน ถ้าเราทำเอง เราเหมือนไม่ฟังเสียงรอบด้าน”

อย่างไรก็ตาม เรื่องการแก้ไขกฎหมายมาตรา 112 กลายเป็นเรื่องปวดหัวของพรรคเพื่อไทย ตั้งแต่สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

10 ปีก่อน “ยิ่งลักษณ์” และพรรคเพื่อไทยก็อยู่ในอารมณ์กลืนไม่เข้า คายไม่ออก ภายหลังการก่อตัวของคณะนิติราษฎร์ รณรงค์แก้ไขมาตรา 112

ต่อมา 15 มกราคม 2555 ก็ปรากฏกลุ่มที่ชื่อว่า “คณะรณรงค์แก้ไขมาตรา 112 (ครก.112)” รณรงค์ให้ประชาชนมาร่วมลงชื่อ 1 หมื่นชื่อ เพื่อเสนอแก้ไขกฎหมายต่อสภาผู้แทนราษฎร ร่วมกับคณะนิติราษฎร์-นักวิชาการ-เสื้อแดงปีกก้าวหน้า สามารถรวบรวมรายชื่อได้ 26,968 รายชื่อ ไปยื่นให้สภาผู้แทนราษฎรรับไว้พิจารณา

ก่อนหน้านั้น วันที่ 30 ธันวาคม 2554 คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ที่มี “คณิต ณ นคร” เป็นประธาน อันเป็นคณะปรองดองที่ “ยิ่งลักษณ์” ประกาศ “แก้ไข ไม่แก้แค้น” สานต่อยุครัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์

ชงข้อเสนอให้รัฐบาลเรื่องแก้ไขมาตรา 112 ในส่วนของระวางโทษตาม ม.112 ควรมีความเป็นเสรีนิยมมากกว่าในปัจจุบัน หรือโทษควรเบาลง อย่างน้อยควรกลับไปนำโทษที่เคยกำหนดไว้เดิมมาใช้

ใครหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี หรือปรับไม่เกิน 14,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ความผิดตามวรรค 1 เป็นความผิดที่ต้องให้อำนาจ การสอบสวนดำเนินคดีจะกระทำได้ต่อเมื่อได้รับอำนาจจากเลขาธิการพระราชวัง

ความผิดตาม ม.112 และ ม.133 เป็นเรื่องที่ยึดโยงกัน เมื่อแก้ ม.112 ก็ต้องแก้ ม.133 ในคราวเดียวกัน โดยให้บัญญัติว่า ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อราชาธิบดี ราชินี ราชสามี รัชทายาท หรือประมุขแห่งรัฐต่างประเทศ มีระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

แต่คำพูด-ภาษากาย ของ “ยิ่งลักษณ์” ต่อเรื่องแก้ไขมาตรา 112 ถูกบันทึกไว้หลายวาระ หลายอากัปกิริยา

24 มกราคม 2555 “ยิ่งลักษณ์” กล่าวว่า วันนี้ทุกคนต้องไม่นำสถาบันเข้ามายุ่งเกี่ยว ในฐานะคนไทยด้วยกันที่ต้องปกป้องสถาบัน และไม่เอาไปใช้ในทางอื่น เราต้องร่วมกันปกป้องสถาบัน แต่วันนี้ภารกิจสำคัญของรัฐบาลนั้นอยากเรียนว่า เรามุ่งเน้นเรื่องของการแก้ไขปัญหาเรื่องเศรษฐกิจ การฟื้นฟูหลังน้ำท่วม

11 พฤษภาคม 2555 “ยิ่งลักษณ์” แถลงข่าวหลังเป็นประธานการประชุมคณะหัวหน้าส่วนราชการ ระดับปลัดกระทรวง ที่สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า “รัฐบาลได้ประกาศชัดเจนว่า ไม่มีนโยบายจะแก้ไขกฎหมายมาตรานี้ ขณะที่ภาระเร่งด่วนของรัฐบาลคือ การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ”

ทุกข้อเสนอแก้ไขมาตรา 112 จบลงที่คำพูดของ “ยิ่งลักษณ์”

กฎหมายที่แนบ 26,968 รายชื่อก็ถูกตีตก-ไม่สุดซอยเพราะประธานสภาเห็นว่าไม่เข้าเงื่อนไขการเสนอกฎหมายที่ประชาชนจะมีสิทธิเข้าชื่อกันเสนอได้ตามมาตรา 163 ของรัฐธรรมนูญ 2550