“ฝ่ายค้าน” ปรับขบวน ซักฟอกบิ๊กตู่-ประชามติ รธน.

พรรคฝ่ายค้าน 6 พรรค ประกอบด้วย พรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล พรรคเสรีรวมไทย พรรคเพื่อชาติ พรรคประชาชาติ พรรคพลังปวงชนไทย ปรับจูนการทำงานใหม่

ภายหลังพรรคเพื่อไทย แกนนำฝ่ายค้าน เปลี่ยนหัวหน้าพรรค ให้คนเก่า “สมพงษ์ อมรวิวัฒน์” ได้พัก ทำให้พ้นตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้านไปโดยอัตโนมัติ

สลับร่างเป็น “นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว” ส.ส.น่าน ตั้งแต่ยุคก่อตั้งไทยรักไทย ขึ้นมาทำหน้าที่หัวหน้าพรรค และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรแทน

พรรคเพื่อไทยแจ้งเรื่องไปยังสภา เหลือแต่ขั้นตอนการโปรดเกล้าฯ นพ.ชลน่าน ก็จะเป็นผู้นำฝ่ายค้าน อย่างเป็นทางการ

หลังจากการประชุมพรรคร่วมฝ่ายค้านนัดแรก “นพ.ชลน่าน” และพรรคเพื่อไทย แสดง action เป็น “หัวหอก” ปรับจูนการทำงานในพรรค

เพื่อนพรรคร่วมฝ่ายค้านที่เข้าวงประชุม ประเมินหมอชลน่านว่า มีความ active และมีไอเดีย ต่างจากหัวหน้าพรรคเพื่อไทยคนเก่า ที่จะนิ่ง ๆ เรียบ ๆ ตามสไตล์ผู้อาวุโส

พรรคฝ่ายค้านเซตอัพทีมขึ้นมา 3 คณะ

หนึ่ง ที่ประชุมหัวหน้าพรรค เลขาฯพรรค ผู้กำหนดยุทธศาสตร์และทิศทางการทำหน้าที่เป็น “บอร์ด” ฝ่ายค้าน ขับเคลื่อนงานยุทธศาสตร์ทุกมิติ

สอง คณะกรรมการประสานงานในสภาผู้แทนราษฎร ขับเคลื่อน ตรวจสอบตามกลไกรัฐสภา และสภาผู้แทนราษฎร (ทำงานในระดับวิป)

สาม คณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน ดูแลกิจการนอกรัฐสภา มุ่งเน้นการรับเรื่องราวร้องทุกข์ การมีส่วนร่วมจากประชาชน ก่อนจะนำมาเข้าคณะกรรมการชุดที่หนึ่ง เพื่อกำหนดทิศทาง

ฝ่ายค้านปรับโหมด “ความเข้มข้น เพิ่มบทบาทการเข้าถึงประชาชน”

วาระเร่งด่วน ในฝ่ายค้านคือการเตรียมอภิปรายทั่วไป ตามมาตรา 152 ซึ่งมีทั้งมุมวิพากษ์การทำงานรัฐบาล และให้ข้อเสนอแนะกับรัฐบาล

“หมอชลน่าน” ผู้นำฝ่ายค้านคนใหม่ บอกว่า ในการทำงานในสภา ขณะที่เราทำหน้าที่ฝ่ายค้าน ดูแลผลประโยชน์ของประชาชนในฐานะเสียงข้างน้อย ตรวจสอบให้รัฐบาลมาแถลงข้อเท็จจริง เช่น วิกฤตเศรษฐกิจ ปัญหาโควิดที่ยังแก้ไม่ได้ น้ำมันแพง เป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องมาบอกกับเรา ว่าเหตุเกิดจากอะไร แก้อย่างไร และฝ่ายค้านเสนออย่างไร โดยจะดำเนินการเร็วที่สุด

ด้าน “พิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์” รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวว่า ก้าวไกลเตรียมอภิปรายไว้ 3 ประเด็นหลัก เปิดประเทศ ในขณะที่ระบบสาธารณสุขยังไม่พร้อม เรื่องเศรษฐกิจต่าง ๆ เช่น ปัญหาราคาน้ำมัน ราคาพืชผลการเกษตร การเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนขนาดใหญ่ และการละเมิดสิทธิเสรีภาพการแสดงออกทางการเมือง

พรรคก้าวไกลเตรียมเนื้อหา-ผู้อภิปรายไว้เยอะ 20 คน แต่ยังต้องตัดตัว อย่างไรก็ตาม จากการประชุมพรรคร่วมฝ่ายค้าน ซึ่งใช้เสียง 1 ใน 10 ของสภาผู้แทนราษฎร (50 เสียง) ซึ่งพรรคก้าวไกลก็มีพอ แต่เมื่อเป็นสิทธิครั้งเดียวที่จะยื่นอภิปรายในสมัยประชุมนี้ ฝ่ายค้านก็อยากให้เป็นเอกภาพ แต่ฝ่ายค้านหลาย ๆ พรรคยัง wait & see

มีรายงานจากที่ประชุมพรรคร่วมฝ่ายค้านว่า การอภิปรายตามมาตรา 152 ยังไม่ได้ข้อสรุปว่าจะยื่นเมื่อไหร่-ภายในปี 2564 นี้หรือไม่ ยังอยู่ระหว่างการประเมินสถานการณ์

แต่ที่จะเกิดขึ้นในปี 2565 โดยพรรคเพื่อไทยเป็นผู้กำหนด “ทิศทาง” คือประเด็น “ทำประชามติ” ให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

ย้อนกลับไปวันที่ 11 มีนาคม 2564 ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า รัฐสภามีอำนาจและหน้าที่จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ แต่ต้องจัดทำประชามติ 2 ครั้ง ครั้งแรก ให้ประชาชนลงมติว่า ต้องการให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ และครั้งที่สอง เมื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้ว ต้องจัดให้มีการลงประชามติว่าจะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

ดังนั้น สิ่งที่ฝ่ายค้านเตรียมทำในสมัยประชุมนี้ คือ คิกออฟผลักดัน เรื่องให้มีรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ

รอเพียงกฎหมายว่าด้วยการออกเสียงประชามติผ่านรัฐสภา และมีผลบังคับใช้ จากนั้นฝ่ายค้านจะใช้กลไกสภาเสนอให้รัฐบาลทำประชามติว่า สมควรจะแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับหรือไม่ เมื่อผ่านประชามติ เริ่มเข้าสู่กระบวนการให้มีรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ

ฝ่ายค้านภายใต้ผู้นำคนใหม่ จะคิกออฟอภิปรายรัฐบาลแบบไม่ลงมติ ตามมาตรา 152 และผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญก่อน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อยู่ครบเทอม