ฝ่ายค้านฉวยจังหวะ “สภาล่ม” จี้จุดตาย “ประยุทธ์” ยุบสภา-ลาออก

เพียงแค่สัปดาห์แรก ในการเปิดเทอมการเมืองภาคที่ 2 องค์ประชุมในสภาก็จวนเจียนจะล่มแหล่-ไม่ล่มแหล่

แม้ว่ารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะกุมเสียงข้างมากในสภา นับเป็นตัวเลขกลม ๆ 260 กว่าเสียง หลัง ส.ส.ในรัฐบาลโดนสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ไปหลายราย ขณะที่ฝ่ายค้านยังยืนตัวเลขเดิม 212 เสียง ส่วนต่างอยู่ที่ประมาณ 50 เสียง

หากนับตัวเลขเชิงปริมาณ รัฐบาลอยู่ในภาวะ “เหนือน้ำ” แต่ในความเป็นจริงความขัดแย้งภายในพรรคพลังประชารัฐ อันเป็นศึก พลเอกปะทะร้อยเอก “พล.อ.ประยุทธ์” กับ “ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า” เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ

ผลักให้สภาประยุทธ์อยู่ในสภาพง่อนแง่น ด้วยเกมการเมือง ชิงไหว ชิงพริบ ชิงจำนวนมือของฝ่ายเดียวกัน

ในเวลาเดียวกัน พรรคเพื่อไทย เปลี่ยนตัวหัวหน้าพรรคเป็น “นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว” ส.ส.น่าน 5 สมัย ซึ่งจะทำหน้าที่ผู้นำฝ่ายค้านโดยปริยาย

เป็นจุดที่ทำให้ฝ่ายรัฐบาลฟาก “พล.อ.ประยุทธ์” อาจหวั่นเกรงว่า หากถึงทีเด็ดทีขาดทางการเมือง ต้อง “ยืมมือฝ่ายค้าน” การต่อสายหา “นพ.ชลน่าน” จะยากกว่า “สมพงษ์ อมรวิวัฒน์” หัวหน้าพรรคเพื่อไทยคนเก่า ที่มีสัมพันธไมตรีที่ดีกับคนการเมืองรุ่นใหญ่ซีกพลังประชารัฐ

และเมื่อ ร.อ.ธรรมนัส ยังคงบัญชาการเสียงในสภา อะไรก็เกิดขึ้นได้ โดยที่ฝ่ายค้านรอซ้ำดาบ 2

“สุทิน คลังแสง” ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวถึงการทำหน้าที่ฝ่ายค้านหลังจากเปิดเทอมการเมืองว่า ฝ่ายค้านยึดหน้าที่ตามกรอบ กฎ กติกา มารยาทที่พึงมี การรวบรวมเอาปัญหาของประชาชนมาสะท้อนให้รัฐบาลและกระตุ้นให้รัฐบาลแก้ไข คือหน้าที่หลักที่เราต้องทำให้มีประสิทธิภาพในสมัยประชุมนี้

การกำกับการใช้งบประมาณแผ่นดินที่มีอยู่จำกัด ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และตอบโจทย์ของประเทศ ของประชาชน เพราะรัฐบาลใช้เงินไปมากแต่ไม่เป็นผล ไม่มีประสิทธิภาพและไม่ตรงจุด การใช้อำนาจที่ไม่ชอบมาพากล ตลอดทั้งการทุจริตที่นับวันจะมีมากขึ้นในทุกระดับ

ต่อหน้าต่อตาเลย คือ ความรับผิดชอบของ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล ในการประชุมสภาที่มีทุกสัปดาห์ และการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เราต้องสอดส่องดูแล และกำกับให้เขาทำหน้าที่อย่างสมบูรณ์

“ที่ผ่านมาและอนาคตข้างหน้า การประชุมสภา เราพบเห็นว่า ส.ส.รัฐบาล จะมีปัญหาในการรับผิดชอบการมาประชุมมากพอสมควร ทำให้องค์ประชุมไม่พอ หรือพออย่างหวุดหวิด เราในฐานะฝ่ายค้านต้องอยู่เป็นองค์ประชุมให้ตลอด ต่อไปนี้เราจะไม่เป็นองค์ประชุมให้แล้ว”

เมื่อรัฐบาลมีเสียงข้างมาก จนตั้งรัฐบาลได้ รัฐบาลก็ต้องใช้เสียงข้างมากให้เกิดประโยชน์ต่องานสภา จะมาผลักภาระให้ฝ่ายค้านไม่ได้

สุทินกล่าวว่า เราไม่มีเจตนาล้มรัฐบาลด้วยการนับองค์ประชุม แต่เราต้องกระตุ้นต่อมรับผิดชอบของรัฐบาล แต่ถ้าล่มติดต่อกันเรื่อย 4-5 ครั้ง รัฐบาลก็ต้องพิจารณาตนเองว่า ปัญหารัฐบาลคือปัญหาของประเทศ ก็ไม่ควรจะอยู่ต่อไป

“ถ้าล่มบ่อย ๆ ฝ่ายค้านก็ต้องจี้ให้รัฐบาลรับผิดชอบลาออก หรือไม่ก็ยุบสภาไปเลย เลือกตั้งใหม่”

ถ้าเป็นกฎหมายสำคัญ เป็นพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) รัฐบาลต้องลาออกหรือยุบสภา หากโหวตแพ้ แต่ถ้าเป็นกฎหมายปกติก็อยู่ที่จิตสำนึกของรัฐบาล ว่าจะต้องเทียบเคียงกับกฎหมายใหญ่ ๆ เหล่านั้น

แกนนำฝ่ายรัฐบาลบอกว่า ในสมัยประชุมนี้ลากยาวถึงปีหน้าไม่มีกฎหมายสำคัญ ไม่มีเรื่องเสียงในสภาให้กังวล “สุทิน” แย้งว่า จะกฎหมายเล็ก กฎหมายน้อย กฎหมายใหญ่ สำคัญ ไม่สำคัญ จำเป็นต้องมีองค์ประชุมที่สมบูรณ์ เพื่อความรอบคอบสมบูรณ์ในการบัญญัติกฎหมาย

เราเคยตำหนิสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มาตลอดว่า ออกกฎหมายได้เยอะ แต่องค์ประชุมน้อย เกิดข้อผิดพลาด เกิดช่องโหว่กฎหมายตลอด

ดังนั้น สภาผู้แทนฯ คือ สภาที่ประชาชนคาดหวัง มีระดับการยอมรับมากกว่า สนช. รัฐบาลไม่ควรจะทำให้สภาผู้แทนฯด้อยค่าลงไปเท่า สนช. ดังนั้นจะฉบับเล็ก ฉบับน้อย กฎหมายสำคัญ ไม่สำคัญ องค์ประชุมต้องสมบูรณ์

ส่วนคณะรัฐมนตรีต้องรับผิดชอบต่อสภา ที่พบบ่อยและไม่สบายใจ คือ รัฐบาลไม่ให้ความสำคัญสภา การตอบกระทู้ในแต่ละสัปดาห์ เท่ากับรัฐบาลละเลยปัญหาประชาชน ถ้าจะเกิดแบบนี้เรื่อยไปอีก ฝ่ายค้านก็คงไม่ยอม

“สุทิน” ยอมรับว่า “ไม่ง่าย” ที่จะเอาผิดรัฐบาล หากไม่มาตอบกระทู้ แต่เราก็มีมาตรการตอบโต้ว่า ถ้าคุณไม่รับผิดชอบต่อสภา ไม่มาตอบกระทู้ ฝ่ายค้านก็ไม่รับผิดชอบต่อองค์ประชุมให้คุณ เราจะนับองค์ประชุมทุกครั้งไป

“ส่วนช่องทางอื่น ๆ ในข้อกฎหมายเรากำลังศึกษาว่า หากรัฐบาลละเลยการตอบกระทู้ จะเอาผิดทางกฎหมายได้อย่างไร”

“สุทิน” ให้จับตาว่า ความแตกแยกในพรรคร่วมรัฐบาลเองที่จะส่งผลต่อฝ่ายนิติบัญญัติ ปัญหาองค์ประชุมไม่ครบ เพราะความแตกแยกในพรรคพลังประชารัฐ และพรรคร่วมรัฐบาล ต่อรองกัน ทะเลาะกัน เล่นเกมในสภา ตรงนี้คือปัญหา

“รัฐบาลจำนวนมือเยอะก็จริง แต่ปัญหาภายในฝ่ายรัฐบาลจะทำให้จำนวนมือไม่มีประโยชน์ ที่ผ่านมาเขามีจำนวนมือเยอะ แต่เวลาโหวตก็ชนะกันหวุดหวิด ๆ เพราะเขาเล่นเกมการเมืองกันเอง”

“ส่วนฝ่ายค้านซ้ำดาบสองหรือไม่…ก็ใช่ แต่ถือว่าเป็นการทำงานปกติของเราที่เข้มแข็ง กำกับก็ดี กำชับประสิทธิภาพของเราเป็นปกติ”

“เพียงแค่ดูการประชุมเริ่มต้นมาสัปดาห์เดียว สัญญาณที่สภาไปไม่ได้ก็เริ่มปรากฏแล้ว ก่อนจะถึงปีใหม่ รัฐบาลคงอยู่ลำบาก ย้ำอีกที เขาไม่ต้องการเปลี่ยนแปลงง่ายหรอก แต่จะคุมไม่อยู่”

ทั้งเรื่ององค์ประชุมล่ม แก้ปัญหาเศรษฐกิจ สังคม แม้กระทั่งเรื่องโควิด-19 ซึ่งอาจมาจากการเปิดประเทศโดยไม่มีมาตรการรองรับที่ดีพอ

ถ้าเกินสิ้นปีนี้ แม้รัฐบาลยังเดินหน้าต่อไปได้ แต่ก็เดินได้แบบเป็ดง่อย ซึ่งทำให้เป็นผลเสียต่อประเทศ และผู้รับกรรมคือประชาชน จุดพลิกผัน ถ้าเขาเสนอกฎหมายการเงิน พ.ร.ก.กู้เงิน ก็จะมีปัญหาแน่นอน