ไฟเขียว FTA อาเซียน-แคนาดา CPTPP จ่อเข้า ครม.อีกไม่นาน

ขนส่งสินค้าทางเรือ

ครม.ไฟเขียว FTA อาเซียน-แคนาดา เปิดประตูการค้าอเมริกาเหนือ “รัชดา” เผยปัจจุบันไทยจัดทำ FTA 13 ฉบับ 18 ประเทศ CPTPP จ่อเข้า ครม.อีกไม่นานนี้

วันที่ 9 พฤศจิกายน 2564 น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบให้ประเทศไทยเข้าร่วมเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) อาเซียน-แคนาดา พร้อมทั้งเห็นชอบกรอบการเจรจา FTA อาเซียน-แคนาดา ของไทย และร่างเอกสารขอบเขตสาระที่จะเจรจาในการจัดทำ FTA อาเซียน-แคนาดา

ซึ่งจะมีการเจรจาจัดทำ FTA อาเซียน-แคนาดา ในการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน-แคนาดา ครั้งที่ 10 ในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2564 ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ

น.ส.รัชดากล่าวว่า การเจรจาในครั้งนี้ มีเป้าหมายเพื่ออำนวยความสะดวกการขยายการค้าและการลงทุนระหว่างกัน โดยเปิดเสรีทางการค้าผ่านการลดอุปสรรคทางการค้าทางภาษีและที่มิใช่ภาษีในสินค้าทั้งหมดอย่างค่อยเป็นค่อยไป ส่งเสริมการค้าบริการในสาขาที่สำคัญ และขยายโอกาสด้านการลงทุน ซึ่งการเจรจาในชั้นนี้ยังไม่มีผลผูกผันทางกฎหมาย สำหรับสาระสำคัญของเอกสารทั้ง 2 ฉบับ ดังนี้

1.ร่างกรอบการเจรจา FTA อาเซียน-แคนาดา ของไทย มีสาระสำคัญเป็นการ วางกรอบแนวทางการเจรจาของไทย เพื่อขยายโอกาสการค้าการลงทุน เพื่อประโยชน์ของทุกภาคส่วนในประเทศ เพื่อเจรจาให้ได้ประโยชน์ในภาพรวมสูงสุดกับประเทศ โดยคำนึงถึงความพร้อมระดับการพัฒนาและภูมิคุ้มกันของประเทศ ตลอดจนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

2.ร่างเอกสารขอบเขตสาระที่จะเจรจาในการจัดทำ FTA อาเซียน-แคนาดา เป็นการสร้างพื้นฐานความเข้าใจร่วมกันระหว่างอาเซียนและแคนาดา ถึงขอบเขตประเด็นที่จะเจรจาประกอบด้วย หลักการทั่วไป วัตถุประสงค์ของการเจรจา ตลอดจนหัวข้อสำคัญในการเจรจา ครอบคลุมเรื่องต่าง ๆ

ได้แก่ การค้าสินค้า มาตรการปกป้องและเยียวยาทางการค้า กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า พิธีการศุลกากรและการอานวยความสะดวกทางการค้า มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช อุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า แนวทางปฏิบัติที่ดีด้านกฎระเบียบการค้าและบริการ การลงทุน การเคลื่อนย้ายบุคคลธรรมดา ทรัพย์สินทางปัญญา แรงงาน สิ่งแวดล้อม พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ นโยบายแข่งขันทางการค้า วิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย ความร่วมมือด้านเทคนิคและเศรษฐกิจ การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ ความโปร่งใส การระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐ กลไกการจัดการเชิงสถาบัน วัฒนธรรม และเรื่องอื่น ๆ ทั้งนี้ ไม่ได้เป็นการผูกมัดผลการเจรจาที่จะเกิดขึ้น

น.ส.รัชดากล่าวว่า ประโยชน์ที่ไทยจะได้รับการเจรจาจัดทำ FTA อาเซียน-แคนาดา อาทิ 1.GDP ของไทยจะเพิ่มขึ้น ประมาณการได้ตั้งแต่ 7,968-254,953 ล้านบาท ตามสมมติฐานที่แตกต่างกัน 2.FTA ช่วยเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานของไทยไปยังภูมิภาคอเมริกาเหนือ ซึ่งไทยยังไม่เคยมี FTA ด้วยมาก่อน

3.กลุ่มสินค้าที่คาดว่าไทยจะส่งออกไปแคนาดาเพิ่มขึ้น อาทิ 1.สินค้าเกษตรและอาหาร เช่น ผักและผลไม้แปรรูป ผลิตภัณฑ์ปรุงรส 2.ผลิตภัณฑ์ยาง เช่น ยางรถยนต์ ถุงมือยาง 3.เครื่องมือและเครื่องจักร เช่น เครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น เครื่องซักผ้า ส่วนกลุ่มสินค้าที่คาดว่าไทยจะนำเข้าจากแคนาดามากขึ้น อาทิ 1.ผลิตภัณฑ์จากสัตว์ เช่น เนื้อหมูและเครื่องใน เนื้อปลาแช่แข็ง 2.ธัญพืช เช่นข้าวสาลี 3.ไม้แปรรูป เช่น แผ่นชิ้นไม้อัดเรียงแถว เฟอร์นิเจอร์ไม้

อย่างไรก็ตาม การเจรจา FTA กับแคนาดา ซึ่งเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว อาจส่งผลให้ภาคเกษตร อุตสาหกรรม บริการ และผู้ประกอบการของไทยต้องเผชิญกับการแข่งขันที่สูงขึ้น และต้องมีการยกระดับมาตรการกฎระเบียบในเรื่องต่าง ๆ ให้เป็นสากลมากขึ้น เช่น การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา การค้าดิจิทัล สิทธิแรงงาน สิ่งแวดล้อม การแข่งขันทางการค้า และการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ ซึ่งข้อกังวลในเรื่องต่าง ๆ นี้ ขอย้ำว่ารัฐบาลจะเจรจาเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประเทศไทย

น.ส.รัชดากล่าวว่า ปัจจุบันไทยการจัดทำความตกลงการค้าเสรี FTA จำนวน 13 ฉบับ กับ 18 ประเทศ โดยเป็นประเทศสมาชิกอาเซียน 9 ประเทศ คือ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น จีน เกาหลีใต้ ฮ่องกง อินเดีย เปรู และชิลี และไทย ซึ่งครอบคลุมร้อยละ 63 ของการค้าทั้งหมดของไทย มากไปกว่านั้น ยังได้จัดทำความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership : RCEP) ที่มีสมาชิกประกอบด้วยอาเซียน จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ซึ่งความตกลง RCEP จะมีผลบังใช้ 1 มกราคม 2565 เป็นต้นไป ส่งผลให้สินค้าไทยกว่า 2.9 หมื่นรายการ ได้ลดภาษีเหลือ 0% ทันที


“ส่วนความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) เตรียมเข้าสู่ครม.พิจารณาในอีกไม่นานนี้”