สภา หวิดล่มแต่ไก่โห่ “ชวน” กรีด รัฐบาลต้องรักษาองค์ประชุม อย่าโทษวิป

Nattawut Karanyasopol

“ชวน” ย้ำหน้าที่รัฐบาลต้องรักษาองค์ประชุม พรรคการเมืองต้องดูแลคนของตัวเอง สภาหวิดล่มแต่ไก่โห่ เพราะ ส.ส.เข้าประชุมช้า

วันที่ 10 พฤศจิกายน 2564 ที่รัฐสภา เวลา 10.30 น. ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร โดยมีวาระพิจารณา ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองพยานในคดีอาญา พ.ศ…. ในมาตรา 6 ซึ่งเป็นวาระที่ค้างมาจากการประชุมสัปดาห์ก่อน อย่างไรก็ตาม หลังจากนายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 ทำหน้าที่เป็นประธานที่ประชุม ปรากฏว่า เมื่อเข้าสู่วาระ แต่ ส.ส.จำนวนมากไม่ได้อยู่ในห้องประชุม

ทำให้นายศุภชัยต้องกดออดเรียกให้ ส.ส.เข้าห้องประชุม และทอดเวลานานกว่า 5 นาที พร้อมกล่าวว่า

“ขอเชิญสมาชิกที่อยู่ด้านนอก และกำลังประชุมอยู่ห้องกรรมาธิการต่าง ๆ ขอให้เข้าห้องประชุม เพราะเมื่อกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองพยานในคดีอาญา พ.ศ… นั่งประจำที่แล้วจะมีการตรวจสอบองค์ประชุม”

ส.ส.ซีกรัฐบาลจึงทยอยวิ่งเข้าห้องประชุม ทั้งนี้ ก่อนลงมติประธานได้นับองค์ประชุมได้ 271 คน ซึ่งถือว่าครบองค์ประชุมเพราะเสียงเกินกึ่งหนึ่ง (238 เสียง) จากนั้นจึงมีการลงมติโหวตกฎหมายดังกล่าวในมาตราที่ 6

ก่อนหน้านั้น นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ถึงเรื่ององค์ประชุมที่อาจจะมีปัญหา ว่าเกือบ 3 ปีที่ผ่านมา ในการประชุมระดับรัฐสภาไม่มีครั้งไหนที่องค์ประชุมไม่ครบ มีเพียงการประชุมร่วมครั้งสุดท้ายสมัยที่แล้วที่พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การศึกษาแห่งชาติ ซึ่งยังไม่มีการลงมติ แต่แนวโน้มองค์ประชุมจะไม่ครบ

เพราะไม่มีใครรู้ว่าการอภิปรายจะจบเมื่อไหร่ เนื่องจากมีผู้อภิปราย 70 กว่าคน ถือว่ามากเป็นประวัติศาสตร์ จึงทำให้มีปัญหาขึ้นมา และเมื่อดูแล้วคนในห้องก็ไม่อยากกดบัตรแสดงตนประชุม เพราะเขาไม่อยากประชุม จึงสั่งปิดประชุมไป และมาลงมติเมื่อการประชุมร่วมเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายนที่ผ่านมา

นายชวนกล่าวว่า ในส่วนของสภาผู้แทนราษฎรก็มีปัญหา แต่ไม่มากเกินไป จะมีในลักษณะถ้ามีการอภิปรายยึดเยื้อและมีทีท่าว่าสมาชิกจะอยู่ไม่ครบ จึงได้มาตกลงเมื่อการประชุมร่วม 3 ฝ่ายว่าให้จัดสัดส่วนการอภิปรายตามจำนวน ส.ส. เช่น พรรคเพื่อไทยมีเสียงมากก็มีสิทธิอภิปรายมาก ซึ่งในอดีตก็มีการทำแบบนี้

แต่ช่วงหลังเปิดโอกาสให้ทุกคน แต่ก็เป็นหน้าที่ของเขาต้องอภิปราย เพราะสภาเป็นที่อภิปราย แต่ไม่ใช่ว่าทุกคนจะพูดได้ทุกเรื่องจนกินเวลาคนอื่น เพราะเวลามีค่า ซึ่งก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดความเบื่อหน่ายในหมู่สมาชิกส่วนหนึ่งที่มาเล่าให้ฟัง จึงได้บอกไปว่าถ้าอย่างนั้นจะมาหารือกันว่าในการอภิปรายกฎหมายแต่ละฉบับควรกำหนดเวลา แต่เรื่องนี้เคยมีการประสานกันไว้แล้วในสมัยประชุมก่อน ๆ ว่าแต่ละเรื่องไม่ควรเกินกี่ชั่วโมง เช่น อภิปรายไม่ไว้วางใจ หรือร่าง พ.ร.บ.งบประมาณประจำปี

“เรื่ององค์ประชุมโดยหลักแล้วทุกคนต้องร่วมมือกัน แต่ในระบบนี้ซึ่งผมพูดมาตลอด ไม่ว่าเป็น ส.ส.มากี่สมัยก็เป็นหน้าที่ของ ส.ส. แต่ในระบบนี้รัฐบาลอยู่ได้ด้วยเสียงข้างมาก เพราะถ้าไม่ใช่เสียงข้างมากก็เป็นรัฐบาลไม่ได้ ฉะนั้น รัฐบาลต้องเป็นหลักมีหน้าที่รักษาองค์ประชุม ส.ส.รัฐบาลก็จะมีน้ำหนักพิเศษกว่า ส.ส.ทั่วไป ถือว่าเป็นภารกิจจะต้องทำและอย่าไปโยนให้วิป เพราะวิปเป็นเพียงผู้ควบคุมเสียง ไม่ใช่คนที่จะบอกว่าให้คะแนนครบ หรือไม่ครบ” นายชวน กล่าว

นายชวนกล่าวว่า เสียงจะครบหรือไม่อยู่ที่สมาชิกรับผิดชอบ และพรรคการเมืองต้องดูแลคนของตนเอง รวมทั้งพรรคประชาธิปัตย์ด้วย เตือนว่าเป็นรัฐบาลก็ต้องรับผิดชอบต่อเสียง ไม่ใช่ขาดประชุมแล้วไปโยนให้คนอื่น มันไม่ได้