ขานชื่อโหวตวันนี้ 10 โมง ร่างแก้ไข รธน. ฉบับประชาชน

แฟ้มภาพ

ขานชื่อโหวตวันนี้ 10 โมง ร่างแก้ไข รธน.ฉบับประชาชน พลังประชารัฐ-พรรคร่วมรัฐบาลผนึกคว่ำ

วันที่ 17 พฤศจิกายน 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมฉบับประชาชนเป็นประเด็นทางการเมืองที่ถูกจับตาว่าจะกลายเป็นแรงกระเพื่อมหลังการโหวตในวาระแรกหรือไม่ โดยเมื่อเวลา 09.40 น. วันที่ 16 พฤศจิกายน ที่รัฐสภา ในการประชุมร่วมรัฐสภา มีนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุม วาระการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่..) พุทธศักราช … (ยกเลิกมาตรา 65 แก้ไขเพิ่มเติมหมวด 7 มาตรา 159 วรรคแรก เพิ่มมาตรา 193/1 มาตรา 193/2 แก้ไขเพิ่มเติมหมวด 11 หมวด 12 มาตรา 256 หมวด 16 ยกเลิกมาตรา 269 มาตรา 270 มาตรา 271 มาตรา 272 และมาตรา 279) โดยนายพริษฐ์ วัชรสินธุ กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 135,257 คน เป็นผู้เสนอ

ทั้งนี้ ก่อนเข้าสู่วาระการประชุม นายวิเชียร ชวลิต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ชี้แจงผลการประชุมร่วมวิป 3 ฝ่าย เพื่อกำหนดกรอบการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า มีเวลาอภิปราย 18 ชั่วโมง โดยให้ผู้เสนอร่างอภิปราย 3 ชั่วโมง ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล ส.ส.ฝ่ายค้าน และ ส.ว.ฝ่ายละ 5 ชั่วโมง เริ่มอภิปรายเวลา 09.00 น. เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน ถึงเวลา 03.00 น. วันที่ 17 พฤศจิกายน 2564

และวันนี้ (17 พ.ย. 64) จะมีการลงมติวาระรับหลักการโดยการขานชื่อรายบุคคลในเวลา 10.00 น.

นายพริษฐ์กล่าวว่า การเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญของกลุ่มรีโซลูชั่น เปรียบเหมือนการฉีดวัคซีนเข็มหนึ่งให้กับประเทศ แม้ร่างฉบับนี้อาจไม่สามารถแก้ทุกปัญหาของรัฐธรรมนูญ 2560 ได้ แต่ปัญหาที่ใหญ่หลวงที่สุดคือเป็นเครื่องมือของการสืบทอดอำนาจของระบอบประยุทธ์ ดังนั้นจึงเสนอเนื้อหาที่ปลดอาวุธ

เช่น 1.การยกเลิก ส.ว. ปรับระบบรัฐสภามาเป็นสภาเดียวคือ ส.ส. โดยอำนาจและที่มาของ ส.ว.ต้องยึดโยงกับประชาชนสูงหรือมาจากการเลือกตั้ง วันนี้จึงขอเสนออีกทางหนึ่ง คือ การใช้สภาเดียวเหลือเพียง ส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้ง โดยมีข้อดี คือ ช่วยประหยัดงบประมาณประเทศ เงินเดือน ส.ว.บวกที่ปรึกษา ผู้ติดตาม อยู่ที่ 800 ล้านต่อปี รวมค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ค่าประชุม มีค่าใช้จ่ายไม่น้อยกว่า 1,000 ล้านบาทต่อปี ไม่รู้คุ้มค่าหรือไม่

ส่วนข้อกังวลการยกเลิก ส.ว.นั้น รับประกันว่าจะมีกลไกอื่นมาทดแทนได้และอาจมีประสิทธิภาพมากกว่า ขอให้เพิ่มอำนาจ ส.ส.ฝ่ายค้านในการตรวจสอบฝ่ายรัฐบาลแทน รวมทั้งให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลการทำงานของรัฐได้ละเอียดขึ้น การออกกฎหมายคุ้มครองประชาชนที่เปิดโปงการทุจริต ไม่ใช่การทักท้วงจาก ส.ว.

2.การเสนอยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนการปฏิรูปประเทศ เพราะตัวแทนคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติไม่มีตัวแทนภาคประชาชน

“ผมอยากให้ทุกคนเปิดใจร่างฉบับนี้ หัวใจสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้คือสร้างระบบการเมืองที่ไว้วางใจประชาชน เลือกตัวแทนเข้ามาผ่านกลไกรัฐสภา ไม่ให้ทหารเข้ามายึดอำนาจแก้ปัญหา ขอให้หยุดหยิบยกเสียง 16 ล้านเสียง อ้างเป็นส่วนใหญ่รับร่างรัฐธรรมนูญปี 2560 ขอให้รับร่างแก้ไขฉบับนี้ แล้วไปวัดที่การทำประชามติ” นายพริษฐ์กล่าว

นายวีระกร คำประกอบ ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) อภิปรายว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ มีหลักที่อาจจะรับไม่ได้หลายเรื่อง แม้บางเรื่องเห็นด้วยกับข้อเสนอการปรับโครงสร้างศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ควรไปยุ่งเลอะไปหมด เหมือนเป็นเจ้าของรัฐธรรมนูญ แต่มีหลายเรื่องที่อาจจะรับได้ยาก เช่น ในมาตรา 79 ซึ่งตัดหมวดว่าด้วยรัฐสภาทั้งหมด แล้วเหลือเพียงสภาผู้แทนฯ 500 คน อีกทั้งไม่เห็นด้วยที่ให้ตัดวุฒิสภา จนเหลือสภาเดียว เพราะที่ผ่านมาเรามีสภาคู่มาโดยตลอด และ ส.ว.มีหน้าที่กลั่นกรองกฎหมายและหลายครั้งที่ ส.ว.ช่วยแก้ไขกฎหมายที่มีความจำเป็น

นายวันชัย สอนศิริ ส.ว.อภิปรายว่า การเสนอร่างดังกล่าวนั้นมาจาก 4 ก. คือ 1.เกลียด คือ เกลียด ส.ว. 2.โกรธ คือ โกรธศาลรัฐธรรมนูญที่ตัดสินคดีพรรคพวกตัวเอง 3.กลัว คือ กลัวยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนปฏิรูปประเทศ และ 4.เกิน โดยการเสนอร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวเกินจากความเป็นจริง พยายามล้างทุกอย่าง โดยใช้คำว่าล้างมรดกที่สืบทอดกันมา

ตนเห็นด้วยอย่างยิ่งที่คนที่มาจากการเลือกตั้งต้องเป็นใหญ่ แต่ท่านไม่ได้มองให้ครบถ้วนรอบด้านในบริบทสังคมไทยตอนนี้ว่ามันบริสุทธิ์ผุดผ่องดั่งทองอย่างที่วาดไว้หรือไม่ ถ้าการเมืองดีก็ไม่มีทางที่จะปฏิวัติได้ อยู่ได้เพราะประชาชน เพราะถ้า ส.ส.ที่มาจากประชาชนไม่เอาด้วย ส.ว.จะทำอะไรได้