“ศรีสุวรรณ” ยื่น กสม.-ป.ป.ช. สอบรัฐละเมิดสิทธิม็อบเทพา จี้สอบ “บิ๊กตู่-ป้อม-ไก่อู-ผู้การสงขลา”

“ศรีสุวรรณ” ยื่น กสม.สอบรัฐละเมิดสิทธิมนุษยชนม็อบเทพา ชี้ล่ามโซ่ทั้งที่ยังไม่ใช่ผู้ต้องหา – เหยียดเพศแกนนำที่หายตัว-ออก 4 ประกาศ เข้าข่ายผิด รธน. ขัดกติกาสากลระหว่างประเทศ

เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย นำโดยนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการเข้ายื่นคำร้องต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ผ่านนายโสพล จริงจิตร รองเลขาธิการกสม. ขอให้ตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนกรณีการจับกุมแกนนำต่อต้านโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยนายศรีสุวรรณกล่าวว่า ต้องการให้ กสม.ดำเนินการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนใน 4 เรื่อง คือ 1.การเดินเท้าไปคัดค้านโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าฯของชาวบ้าน ไม่ได้มีการขัดขวางหรือก่อเหตุวุ่นวาย จึงเป็นการใช้สิทธิโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญแต่เจ้าหน้าที่รัฐกลับใช้กำลังเช้าสลายขบวนการเดินเท้าของชาวบ้านซึ่งเข้าข่ายเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ขัดต่อระเบียบวินัย ที่ถือเป็นความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง

2.การเข้าควบคุมตัวแกนนำทั้ง 15 คนทั้งหมดยังไม่ใช่ผู้ต้องหา เป็นเพียงผู้ถูกกล่าวหา แต่กลับมีการใช้เครื่องพันธนาการ หรือล่ามโซ่ ระหว่างนำบุคคลทั้งหมดเดินทางไปยังศาลเพื่อฝากขัง ซึ่งการกระทำดังกล่าวขัดต่อปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติและกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองที่ประเทศไทยให้การรับรองไว้ 3.การที่ พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการเดินหน้าประเทศไทย ถึงการหายตัวไปของแกนนำคัดค้านฯระหว่างเจ้าหน้าที่เข้าสลายขบวนเดินเท้า ทำนองว่าเจ้าหน้าที่ไม่ได้ควบคุมตัว แต่อาจหายไปกับหญิงอื่นนั้น ถือเป็นการเหยียดเพศ หยามชาวบ้านเป็นการลดทอนความน่าเชื่อถือของแกนนำ ถือเป็นการละเมิดปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติเช่นกัน และละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่รัฐธรรมนูญมาตรา 4 บัญญัติคุ้มครองไว้ และ 4.การที่นายกรัฐมนตรีออกประกาศจำนวน 4 ฉบับ เรื่องการกำหนดพื้นที่ การปฏิบัติหน้าที่ และลักษณะความผิดอันมีผลกระทบต่อความมั่นคงภายใน ซึ่งในความเป็นจริงรัฐธรรมนูญได้บัญญัติคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนในเรื่องต่างๆ ไว้รวมถึงเรื่องการชุมนุมฯ การออกประกาศถือเป็นการละเมิดทำให้ประชาชนในพื้นที่ 4 อำเภอสามจังหวัด ต้องอยู่อย่างหวาดกลัว กระทบต่อการดำเนินชีวิต ทั้งที่การที่ชาวบ้านที่คัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าเดินเท้าไปก็ประสงค์จะยื่นหนังสือและอธิบายต่อนายกฯโดยตรงถึงเหตุของการคัดค้านเท่านั้น จึงไม่เป็นเหตุผลที่มีน้ำหนักเพียงพอที่นายกฯจะใช้อำนาจตามมาตรา 15 พ.ร.บ.รักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรออกประกาศทั้ง 4 ฉบับดังกล่าว การออกประกาศจีงเป็นการใช้อำนาจที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงและขัดต่อรัฐธรรมนูญอย่างชัดแจ้ง

”การเป็นนายกรัฐมนตรี ต้องรับทั้งดีทั้งชอบ ซึ่งในระบอบประชาธิปไตยทั่วโลกเขาก็เป็นอย่างนี้ และนายกฯเรียกร้องให้ทุกคนเคารพกฎหมาย แต่ท่านกลับไม่เคารพกฎหมายเสียเอง แล้วจะมาสอนประชาชนให้เคารพกฎหมายได้อย่างไร และแม้ว่ารัฐบาลจะไม่ได้มีทีท่าสนใจในเรื่องการละเมิดสิทธิ แต่ถ้า กสม.ตรวจสอบและมีข้อสรุปที่เป็นไปในทางประจานรัฐบาล ก็จะทำให้ทั่วโลกรับรู้ เราไม่อาจปิดประเทศอยู่คนเดียวได้ ถ้าถูกต่างประเทศตำหนิเรื่องการละเมิดสิทธิ หรือใช้มาตรการในการบอยคอตต่างๆ ก็จะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงการดำเนินนโยบายของรัฐบาลในอนาคตด้วย”

อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้ก็จะไปยื่นเรื่องต่อ ป.ป.ช. ขอให้ตรวจสอบนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสงขลา และ พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด กรณีการสลายขบวนเดินเท้าของชาวบ้านเข้าข่ายดำเนินการไม่ชอบด้วยกฎหมายทุจริตต่อหน้าที่ราชการ โดยเฉพาะกับพล.อ.ประวิตรการที่ออกมาระบุว่าแกนนำ ซึ่งก็มีเยาวชนด้วยหนึ่งคน เป็นพวกฮาร์ดคอร์ชอบรุนแรง การพูดลักษณะนี้เท่ากับการให้ท้ายยุยงส่งเสริมเจ้าหน้าที่ให้ใช้ความรุนแรงกับประชาชน

ต่อมานายศรีสุวรรณเดินทางไปที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อร้องเรียน ป.ป.ช. ขอให้ตรวจสอบการใช้อำนาจหรือการกระทำของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่เข้าข่ายการทุจริตต่อหน้าที่ ตามกฎหมาย ป.ป.ช. ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา, พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี, พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด และพล.ต.ต.ปรีดา เปี่ยมวารี ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสงขลา หลังจากที่ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยขอให้ตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนกรณีการจับกุมแกนนำต่อต้านโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน

โดยขอให้ตรวจสอบ 1.กรณีเจ้าหน้าที่รัฐใช้กำลังเข้าสลาย ซึ่งเข้าข่ายเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน และอาจถือเป็นความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง 2.การเข้าควบคุมตัวแกนนำทั้ง 16 คน ทั้งที่ยังไม่ใช่ผู้ต้องหาเป็นเพียงผู้ถูกกล่าวหา แต่กลับมีการใช้เครื่องพันธนาการ หรือล่ามโซ่ ระหว่างนำบุคคลทั้งหมดเดินทางไปยังศาลเพื่อฝากขัง ขัดต่อปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติและกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง 3. การที่ พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าว ทำนองว่าการหายตัวไปของแกนนำระหว่างเจ้าหน้าที่เข้าสลายขบวนเดินเท้าอาจหายไปกับหญิงอื่นนั้น ถือเป็นการเหยียดเพศ ลดทอนความน่าเชื่อถือของแกนนำ และละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ตามรัฐธรรมนูญ และ 4.การที่นายกรัฐมนตรีออกประกาศ 4 ฉบับ เรื่องการกำหนดพื้นที่ การปฏิบัติหน้าที่ และลักษณะความผิดอันมีผลกระทบต่อความมั่นคงภายใน ถือเป็นการละเมิดทำให้ประชาชนในพื้นที่ 4 อำเภอสามจังหวัด ต้องอยู่อย่างหวาดกลัว กระทบต่อการดำเนินชีวิต

“นายกฯเรียกร้องให้ทุกคนเคารพกฎหมาย แต่ท่านกลับไม่เคารพกฎหมายเสียเอง แล้วจะมาสอนประชาชนให้เคารพกฎหมายได้อย่างไร และแม้ว่ารัฐบาลจะไม่ได้มีทีท่าสนใจในเรื่องการละเมิดสิทธิ แต่ถ้า กสม.ตรวจสอบและมีข้อสรุปที่เป็นไปในทางประจานรัฐบาล ก็จะทำให้ทั่วโลกรับรู้ เราไม่อาจปิดประเทศอยู่คนเดียวได้ ถ้าถูกต่างประเทศตำหนิเรื่องการละเมิดสิทธิ หรือใช้มาตรการในการบอยคอตต่างๆ ก็จะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงการดำเนินนโยบายของรัฐบาลในอนาคตด้วย” นายศรีสุวรรณกล่าว

 

 


ที่มา : มติชนออนไลน์