บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ : จุดยืน ประวิตร พปชร.-แกนนำพรรคร่วมรัฐบาล

บัตร 2 ใบ พรรคร่วมรัฐบาล

รวมความคิดเห็น “แกนนำพรรรคร่วมรัฐบาล” ต่อรัฐธรรมนูญให้มีการเลือกตั้งบัตร 2 ใบ ส.ส.เขต 400 คน ส.ส.บัญชีรายชื่อ  100 คน 

วันที่ 23 พฤศจิกายน 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานจากทำเนียบรัฐบาลว่า การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ครั้งที่ 46/2564 ที่ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ทำเนียบรัฐบาล ให้รัฐมนตรีแต่งกายชุดผ้าไทยแขนยาว โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นประธาน

หลังจากราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) พุทธศักราช 2564 พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) พุทธศักราช 2564 ให้ไว้ ณ วันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564 เป็นปีที่ 6 ในรัชกาลปัจจุบัน โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รับสนองพระบรมราชโองการ

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ตรารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติมขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้

มาตรา 1 รัฐธรรมนูญนี้เรียกว่า “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) พุทธศักราช 2564”

มาตรา 2 รัฐธรรมนูญนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

ทั้งนี้ เหตุผลในการประกาศระบุว่า โดยที่มาตรา 83 และมาตรา 91 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยได้กำหนดสภาผู้แทนราษฎรประกอบด้วย สมาชิกจำนวน 500 คน มีสมาชิกซึ่งมาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง จำนวน 350 คน สมาชิกซึ่งมาจากบัญชีรายชื่อของพรรคการเมือง จำนวน 150 คน เป็นจำนวนที่ไม่สอดคล้องต่อจำนวนประชากรในแต่ละเขตเลือกตั้ง

หากมีการกำหนดให้มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมี จำนวน 400 คน ก็จะทำให้การดูแลปัญหาของประชาชนมีความใกล้ชิดและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชน และการคำนวณคะแนนสมาชิกสภาผู้แทนแบบบัญชีรายชื่อก็มีความจำเป็นที่จะต้องมีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนและเป็นธรรมต่อพรรคการเมืองและต้องเคารพหนึ่งสิทธิหนึ่งเสียงของประชาชน

การให้มีบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ เพื่อให้ประชาชนมีสิทธิในการเลือกพรรคการเมืองและผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตย่อมทำให้ประชาชนได้ใช้เจตจำนงในการเลือกตั้งที่สอดคล้องกับความเป็นจริงมากยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องตรารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) พุทธศักราช 2564

ประชาชาติธุรกิจรวบรวมความเห็นแย้งและสนับสนุนแนวทางการใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ และการนับคะแนนแบบใหม่ จากแกนนำพรรรคร่วมรัฐบาลว่า มีความคิดเห็นอย่างไรต่อการเผยแพร่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) พุทธศักราช 2564  ให้มีการเลือกตั้งบัตร 2 ใบ ส.ส.เขต 400 คน ส.ส.บัญชีรายชื่อ  100 คน 

ประวิตร พปชร. “ไม่รู้” แล้วแต่ประชาชน

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ตอบคำถามผู้สื่อข่าวกรณีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเป็นบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ พรรคพลังประชารัฐ มีการประเมินภายในหรือไม่ ว่าได้เปรียบหรือเสียเปรียบอย่างไร พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า “ไม่รู้” สองใบก็ต้องสองใบ ก็ต้องเลือกกันไป ก็แล้วแต่ประชาชน

เมื่อถามว่ามีการวิเคราะห์ว่าพรรคที่ได้เปรียบคือพรรคขนาดใหญ่ เช่น พรรคพลังประชารัฐและพรรคเพื่อไทย พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า จะไปรู้ได้อย่างไร ว่าได้เปรียบหรือไม่ได้เปรียบ ต้องไปถามประชาชนว่าใครได้เปรียบหรือเสียเปรียบ

ผู้สื่อข่าวถามว่ามีการวิเคราห์ว่าบัตรเลือกตั้งสองใบจะเข้าทางพรรคเพื่อไทย พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ก็แล้วแต่ประชาชน เมื่อถามว่าจะส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตครบทั้ง 400 เขต หรือไม่ พล.อ.ประวิตรไม่ได้กล่าวว่า ก็ต้องเตรียม

เมื่อถามย้ำว่าพรรคพลังประชารัฐจะมีการเตรียมส่ง ส.ส.กทม.เร็ว ๆ นี้ใช่หรือไม่ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า “ไม่รู้”

เมื่อถามว่าพรรคพลังประชารัฐจะมีประชุมใหญ่ ส.ส.เมื่อใด พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า “ยังไม่รู้”

จุรินทร์ ปชป. : ประชาธิปไตย-พรรคการเมือง เข้มแข็ง

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ตอบคำถามผู้สื่อข่าวกรณีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเป็นบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ว่า สูตรการคำนวณนั้นมีหลักเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญภาพรวมอยู่แล้ว อธิบายเข้าใจง่าย ๆ คือถ้าพรรคไหนได้คะแนน 100% ก็ได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 100 คน ถ้าพรรคไหนได้ระบบบัตรใบที่ 2 ได้ 60 เปอร์เซ็นต์ก็ได้ ส.ส. 60 คนหลักก็เป็นประมาณนี้ ถ้าคำนวณอย่างนี้ก็เข้าใจง่าย ๆ แต่ถ้าจะเอาตัวนั้นตัวนี้ไปหารก็จะซับซ้อน

ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้ความสำคัญกับพรรคการเมืองมากขึ้น เนื่องจากหากเป็นระบบบัตรใบเดียวต้องเอาคนกับพรรคมามัดรวมกัน ประชาชนไม่สามารถแยกได้ ถ้าต้องการเลือกคน แต่ไม่ต้องการเลือกพรรค หรือเลือกพรรคแต่ไม่ต้องการเลือกคน ระบบบัตรใบเดียวตัวบุคคลจึงมีความสำคัญ แต่พรรคการเมืองก็เหมือนถูกด้อยค่าลงไป ซึ่งหลักประชาธิปไตยพรรคการเมืองควรเป็นสถาบัน หรือกลไกที่มีความสำคัญเป็นลำดับต้น เพราะถ้าพรรคการเมืองไม่มีความเข้มแข็ง ไม่มีความสำคัญประชาธิปไตยก็ไปยาก

หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าวต่อว่า แต่เมื่อเปลี่ยนมาเป็นระบบบัตร 2 ใบ ตนก็คิดว่าจะทำให้พรรคการเมืองมีความสำคัญ การลงสมัครรับเลือกตั้งนอกจากประชาชนจะพิจารณาตัวบุคคลแล้ว ต้องพิจารณาพรรคการเมืองด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีและพรรคประชาธิปัตย์ก็สนับสนุนมาโดยตลอดเมื่อมาถึงวันนี้ก็ถือว่าเป็นสัญญาณที่ดีในการสร้างความเข้มแข็งให้กับระบอบประชาธิปไตย

เมื่อถามว่า พรรคประชาธิปัตย์ต้องปรับโครงสร้างเพื่อรองรับระบบการเลือกตั้งใหม่หรือไม่ นายจุรินทร์กล่าวว่า คงไม่ต้องปรับอะไรเพราะเราก็คุ้นเคยกับระบบนี้มาอยู่แล้ว แต่พอมาเป็นรัฐธรรมนูญ ปี’60 ที่ใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว อันนั้นเราต้องปรับ และต้องปรับทุกพรรคแต่ถ้าย้อนกลับไปใช้ระบบบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ เป็นสิ่งที่มันเป็นสิ่งที่เราเคยทำมาแล้ว และประชาชนก็เข้าใจดีว่าบัตรใบที่ 1 เลือกบุคคล บัตรที่ 2 เลือกพรรค มันมีความชัดเจนในตัวของมัน

เมื่อถามว่า ควรจะเป็นเบอร์เดียวกันหรือไม่ทั้งบุคคลและพรรค นายจุรินทร์กล่าวว่า ควรจะเป็นเบอร์เดียวกันเพื่อความสะดวกของประชาชนพี่จะพิจารณาและตัดสินใจ ส่วนพรรคจะส่งครบทุกเขตหรือไม่นั้นกำลังดำเนินการอยู่ แล้วในเรื่องตัวบุคคลที่มีความคืบหน้าเยอะแล้วแต่โดยหลักควรจะส่งให้ครบทุกเขต

“ประชาธิปัตย์เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญในร่างนี้ก็ด้วยเหตุผลต้องการให้พรรคการเมืองเข้มแข็งและไม่ได้พิจารณาว่าจะเป็นประโยชน์กับพรรคไหน หรือพรรคไหนได้เปรียบ เสียเปรียบ เราต้องการให้ระบบประชาธิปไตย และระบบรัฐสภาไทยเข้มแข็ง” นายจุรินทร์กล่าว

บัตร 2 ใบ “ชทพ.” มั่นใจ ส.ส. ไม่ลด

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์พรรคชาติไทยพัฒนา ให้สัมภาษณ์ถึงระบบการเลือกตั้งแบบบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ จะส่งผลต่อพรรคชาติไทยพัฒนาหรือไม่ ว่า ไม่ว่าบัตรเลือกตั้ง 1 ใบหรือ 2 ใบจะมีข้อดีข้อด้อยแตกต่างกัน อย่างกรณีบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ

ข้อดีคือ พรรคการเมืองแต่ละพรรคไม่จำเป็นต้องส่งผู้สมัครครบ 400 เขต แต่หากเป็นบัตรใบเดียวจำเป็นต้องส่งทุกเขต เพราะหากไม่ส่งก็จะไม่ได้คะแนน ข้อดีข้อด้อยเหล่านี้ไม่ว่าจะพรรคใหญ่ พรรคเล็ก จะมีความได้เปรียบเสียเปรียบแตกต่างกันไป ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นวิธีใดก็ตาม ต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนใช้สิทธิได้อย่างเต็มที่

เมื่อถามว่า แสดงว่าพรรคชาติไทยพัฒนาไม่ได้มีความกังวลกับบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ใช่หรือไม่ นายวราวุธกล่าวว่า ไม่ว่าแบบใดก็มีข้อดีข้อด้อยแตกต่างกัน ในฐานะพรรคการเมืองที่รับฟังเสียงมาแล้ว เมื่อเปลี่ยนกติกาแล้วก็ต้องทำงานตามกรอบกติกา

เมื่อถามว่าที่นั่ง ส.ส.ของพรรคจะลดลงหรือไม่ นายวราวุธกล่าวว่า พรรคชาติไทยพัฒนาคงไม่ลดลงหรอก และพรรคมีความคิดที่จะเพิ่มจำนวน ส.ส.แต่ท้ายที่สุดต้องดูว่าเมื่อผลออกมาแล้วจะเป็นอย่างไร

เมื่อถามว่า มองว่าควรใช้เบอร์เดียวทั้งประเทศหรือเขตใหญ่เรียงเบอร์ นายวราวุธกล่าวว่า จากประสบการณ์ตอนรัฐธรรมนูญ 2540 บัตรเลือกตั้ง 2 ใบและเป็นเบอร์เดียวกันทั้งประเทศ ประชาชนไม่เกิดความสับสน พรรคการเมืองเองก็ไม่สับสนด้วย รวมทั้งสะดวกต่อการหาเสียง แต่การใช้เบอร์ไม่ซ้ำกันเลยจะทำให้เกิดความสับสนโดยเฉพาะประชาชนในเขตติดต่อกันที่จะเกิดความสับสนพอสมควรในครั้งที่ผ่าน ๆ มา ดังนั้น การใช้เบอร์เดียวกันทั้งประเทศจะแก้ไขปัญหาความสับสนได้

ศักดิ์สยาม “ภูมิใจไทย” ร้องไม่เอา !

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในฐานะเลขาธิการพรรคภูมิใจไทย ปฏิเสธให้สัมภาษณ์ถึงกรณีความพร้อมในการเลือกตั้งแบบบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ โดยหัวเราะและกล่าวว่า “ไม่เอา”

จากนั้นผู้สื่อข่าวถามหยอกกลับว่า ไม่เอาคือไม่เอาบัตร 2 ใบจะเอาใบเดียวใช่ไหม นายศักดิ์สยามกล่าวว่า “ใบไหนก็ได้”

ต่อมา นายศักดิ์สยามให้สัมภาษณ์กับสื่ออมวลชนอีกครั้ง ถึงการใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบจะทำให้พรรคภูมิใจไทยซึ่งเป็นพรรคขนาดกลางเสียเปรียบหรือไม่ ระบุว่า “อยู่ที่ประชาชน”

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า หากทำพื้นที่แข็งแกร่ง ประชาชนก็ยังเลือกภูมิใจไทยใช่หรือไม่ นายศักดิ์สยามกล่าวว่า ไม่ใช่เฉพาะพรรคภูมิใจไทย แต่เป็นทุกพรรคถ้าทำงานให้ประชาชน แล้วประชาชนเห็น เขาก็ตัดสินใจได้

ผู้สื่อข่าวถามว่าตั้งเป้าจำนวน ส.ส.กับการเลือกตั้งครั้งนี้อย่างไร นายศักดิ์สยามกล่าวว่า “อีกนาน”

เมื่อถามว่า ขณะนี้พรรคการเมืองเริ่มขยับกันหลายพรรค นายศักดิ์สยามกล่าวว่า ยัง ๆ นี่เพิ่งมาครึ่งทาง ทำงานดีกว่า และเรื่องนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยืนยันตั้งหลายครั้ง เวลานี้เรายังมีปัญหาเรื่องโควิด มีเรื่องเปิดประเทศ ยังไม่คิดถึงเลือกตั้ง ทำงานให้ประชาชนดีกว่า

พรรคฝ่ายค้านเดินหน้าชง 2 ร่าง

ผู้สื่อข่าวรายงานความเคลื่อนไหวจากพรรคร่วมฝ่ายค้าน วานนี้ (22 พ.ย.) มีการประชุมแกนนำพรรคร่วมฝ่ายค้าน เพื่อกำหนดท่าทีการทำงานร่วมกันภายหลังพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวภายหลังการประชุม ว่าหลังจากที่ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้แล้ว ฝ่ายค้านจะได้เร่งทำกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญทั้งสองฉบับ คือร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง เพื่อนำเข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภาโดยเร็วที่สุดภายในสัปดาห์นี้

ทั้งนี้ ในส่วนของพรรคเพื่อไทยยกร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับเสร็จแล้ว หากพรรคร่วมฝ่ายค้านพรรคอื่นจะร่วมลงชื่อกับร่างของพรรคเพื่อไทยมีความยินดี ส่วนการยื่นญัตติอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติตามมาตรา 152 พรรคร่วมฝ่ายค้านมีมติที่จะยื่นญัตติหลังเทศกาลปีใหม่เป็นต้นไป

หากยื่นในช่วงเวลานี้อาจไม่เหมาะสม เพราะจำเป็นต้องยื่นร่าง พ.ร.ป.ทั้งสองฉบับ ได้รับการพิจารณาโดยเร่งด่วนก่อน คาดว่าจะต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 4 เดือน

ด้านนายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล (ก.ก.) กล่าวว่า ในส่วนของพรรคก้าวไกล ได้ร่าง พ.ร.ป.ไว้แล้ว ทั้งระบบเลือกตั้งและพรรคการเมือง จะนำเข้าสู่พิจารณาที่ประชุม ส.ส.ของพรรคในวันที่ 23 พฤศจิกายน แต่คงบอกไม่ได้ว่าต่างจากพรรคอื่นอย่างไร เพราะยังไม่เห็นร่างของพรรคเพื่อไทย

แต่แนวทางที่พรรคได้เคยหารือกันไว้จะมีการเสนอแก้ไขนอกจากระบบการเลือกตั้ง ไม่ใช่แค่ระบบการเลือกตั้ง หรือวิธีการนับเพียงอย่างเดียว ในส่วนระบบเลือกตั้งจะทำอย่างไรให้การเลือกตั้งมีความเสรี โปร่งใส เป็นธรรมมากขึ้น

ส่วน พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองจะเสนอแก้ไขในหลักการ เพื่อส่งเสริมให้พรรคการเมืองเป็นสถาบันทางการเมืองของประชาชนที่เข้มแข็งขึ้น โดยหลักอยากให้พรรคการเมืองตั้งง่ายขึ้น ดำเนินการง่าย แต่ถูกยุบยาก