ฉลุย! สนช.รับหลักการ พ.ร.ป.ส.ส. “มีชัย” ชี้พรรคการเมืองหมดสิทธิส่งเสาไฟลงสมัคร

แฟ้มภาพ

เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 30 พฤศจิกายน ที่รัฐสภา มีประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดยมีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช.ทำหน้าที่ประธานการประชุม ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสภาผู้แทนสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ตามที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เสนอมา โดยนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ.กล่าวรายงานว่า เป็นครั้งแรกที่ กรธ.ได้เชิญเจ้าหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มาร่วมพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ร่วมกับ กรธ.ตั้งแต่ต้น เพื่อให้เจ้าหน้าที่ของ กกต.ที่มาร่วมประชุม กรธ.ได้ช่วยตรวจดูความถูกต้องของร่าง พ.ร.ป. และนำไปเสนอต่อ กกต.ทั้ง 5 คน และให้ทำความเห็นกลับมายัง กรธ. ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี ภาพรวมของร่างพ.ร.ป.ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้การเลือกตั้ง ส.ส.เป็นโดยสุจริตและเที่ยงธรรม กรธ.จึงได้มีบัญญัติหลักการสำคัญหลายประการเข้าไปเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว

นายมีชัยกล่าวว่า กรธ.มีการกำหนดให้เบอร์ผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ของพรรคการเมืองในแต่ละเขตเลือกตั้งไม่ซ้ำกัน สาเหตุที่กำหนดไว้เช่นนี้ ด้วยกลไกที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญที่ให้คะแนนเสียงของผู้มีสิทธิเลือกตั้งเป็นคะแนนเสียงที่มีความสำคัญและผู้เลือกตั้งต้องดูทั้งพรรคและบุคคล เราจึงคิดว่าการที่จะใช้เอาความสะดวกสบายให้ทุกพรรคมีเบอร์เดียวกันทั้งประเทศ มันจะทำให้ขาดตกบกพร่องในเรื่องการพิจารณาตัวบุคคลผู้สมัครแต่ละเขต เราจึงกำหนดให้แต่ละเขตมีเบอร์ของตัวเอง

“จริงอยู่ ฟังดูเหมือนกับว่าเราจะกลับไปทำในสิ่งที่ไม่เคยทำ แต่ในอดีตที่ทำกันมาก็ทำอย่างนี้ และในแต่ละประเทศก็น้อยมากที่ใช้เบอร์เดียวกัน บางประเทศไม่มีเบอร์ด้วยซ้ำ ให้เขียนชื่อเอาเอง จึงไม่ได้ผิดแผกแปลกต่างไปจากชาวบ้านชาวเมืองเท่าไหร แต่ข้อสำคัญ คือ จะทำให้ต้องเลือกคนที่คนในพื้นที่รับรู้รับเห็นพอใจ” นายมีชัยกล่าว

ประธาน กรธ.กล่าวอีกว่า ที่สำคัญกติกาการเลือกตั้งในครั้งนี้จะทำให้ประชาชนมีทางเลือกในการออกเสียงมากขึ้น กล่าวคือ การให้ประชาชนสามารถลงคะแนนไม่ประสงค์จะเลือกผู้สมัครคนใด เดิมไม่เคยนำเอาคะแนนส่วนนี้มานับ แต่คราวนี้กำหนดให้นำคะแนนนั้นมานับแล้วประกาศให้ประชาชนทราบ และถ้าในเขตเลือกตั้งใดผู้สมัครรับเลือกตั้งไม่มีใครได้คะแนนเกินกว่าคะแนนที่ไม่เลือกผู้ใด ผู้สมัครรับเลือกตั้งทั้งหมดในเขตนั้นจะไม่ได้รับการเลือกตั้ง และจะไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งในการเลือกตั้งแทนคราวนั้น ต้องกลับไปสร้างคุณงามความดีกันใหม่อีก 4 ปีค่อยกลับมาสมัครใหม่

จากนั้นเป็นการอภิปรายของสมาชิก สนช. ซึ่งส่วนใหญ่สนับสนุนร่าง พ.ร.ป.ส.ส. แต่เรียกร้องให้มีการปรับปรุงถ้อยคำในร่างกฎหมายเพื่อควบคุมไม่ให้เกิดการทุจริต

นายนิพนธ์ นราพิทักษ์กุล สมาชิก สนช.ในฐานะตัวแทนของคณะกรรมการพิจารณาศึกษาร่าง พ.ร.ป.ส.ส. กล่าวว่า คณะกรรมการฯได้พิจารณาภาพรวมของร่าง พ.ร.ป.ส.ส.แล้วได้มีข้อสังเกตบางประการ ดังนี้ กรณีมาตรา 15 ว่าด้วยการให้ กกต. สามารถมติไม่น้อย 2 ใน 3 เพื่อเลื่อนการเลือกตั้งออกไปได้หากมีเหตุจำเป็นอันมิอาจหลีกได้จนเป็นเหตุไม่สามารถจัดการเลือกตั้งทั่วไปพร้อมกันได้ ซึ่งคณะกรรมการฯมีข้อสังเกตว่าควรมีมาตรการในการควบคุมการใช้ดุลพินิจของ กกต.เกี่ยวกับการกำหนดการเลือกตั้งตามมาตรา 15 โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องกำหนดนิยามที่ชัดเจนว่าเหตุจำเป็นอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้มีขอบเขตอย่างไรบ้าง เช่นเดียวกับมาตรา 75 ซึ่งกำหนดห้ามเกี่ยวกับการกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดของผู้สมัครรับเลือกตั้งเพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนน คณะกรรมการมีความเห็นว่าควรกำหนดความผิดให้ครอบคลุมไปถึงบุคคลที่มีความเกี่ยวข้องด้วย รวมไปถึงควรเอาผิดกับ ส.ส. หรือ ส.ว.ที่ใช้งบประมาณของประเทศเพื่อจูงใจให้ประชาชนเลือกตนเองในครั้งต่อไปด้วย

ด้าน นายมีชัยชี้แจงว่า ในภาพรวมของร่างกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส.ที่ สนช.พิจารณาในวันที่ 30 พฤศจิกายน ส่วนใหญ่ กรธ.ได้แก้ไขตามข้อเสนอของ สนช.มาก่อนแล้ว เช่น มาตรา 75 ซึ่ง กรธ.ได้ปรับปรุงถ้อยคำให้รวมไปถึงบุคคลอื่นที่กระทำความผิดด้วย ไม่ใช่เฉพาะผู้สมัครแต่เพียงอย่างเดียว ส่วนมาตรา 15 นั้นในระหว่างการพิจารณาร่างกฎหมายในชั้นของ กรธ.ก็ได้เล็งเห็นถึงการกำหนดนิยามเช่นกัน แต่เห็นว่าเป็นเรื่องยากที่จะกำหนดนิยามลงไปว่าจะให้คำว่าเหตุจำเป็นอันมิอาจหลีกได้จะให้ครอบคลุมเรื่องอะไรบ้าง เพราะเหตุจำเป็นเร่งด่วนในแต่ละกรณีมีความแตกต่างกัน อย่างไรก็ตาม หากมีประเด็นที่จำเป็นต้องแก้ไขถ้อยคำให้มีความชัดเจนก็สามารถดำเนินการในขั้นตอนของคณะกรรมาธิการวิสามัญของ สนช.ต่อไป

จากนั้น สนช.ได้ลงมติผ่านร่าง พ.ร.ป.ส.ส.ในวาระแรกด้วยมติเอกฉันท์ 188 คะแนน พร้อมกับตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญจำนวน 33 คน กำหนดเวลาในการพิจารณาให้เสร็จภายใน 58 วัน

 

 


ที่มา : มติชนออนไลน์