ยกที่สอง แก้รัฐธรรมนูญ 64 วิธีนับคะแนนเลือกตั้ง-อำนาจยุบพรรค

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) พุทธศักราช 2564 เรื่องสูตรเลือกตั้งบัตร 2 ใบ มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการ

ต่อไปนี้จึงขึ้นสู่ “ยกที่สอง” ของการทำกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ที่มี 2 ฉบับ

หนึ่ง ร่างแก้ไขพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

สอง ร่างแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง

ซึ่งอาจจะตะลุมบอน หรือเกิดการรอมชอมระหว่างฝ่ายค้าน-ฝ่ายรัฐบาล และ ส.ว.อีกครั้งหนึ่ง

สำรวจร่างแก้ไขเพิ่มเติมของแต่ละฝ่ายพบว่า ฝ่ายค้านที่จะเสนอร่างกฎหมายพรรคใคร-พรรคมัน โดยเฉพาะ “พรรคก้าวไกล” มีเนื้อหาที่แหลมคมมากกว่าเพื่อน

อาทิ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ก้าวไกลวางไว้ทั้งแบบเลือกตั้งบัตร 2 ใบ แบบรัฐธรรมนูญ 40 เลือกพรรคที่ใช่ คนที่ชอบ-หนึ่งสิทธิ หนึ่งเสียง รวมถึงระบบเลือกตั้งแบบ MMP ของเยอรมนี แบบบัตร 2 ใบ แต่นับคะแนนตกน้ำ

“ธีรัจชัย พันธุมาศ” ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหอกรัฐธรรมนูญ ก้าวไกล ระบุว่า ไม่ว่าสูตรใด ก้าวไกลก็พร้อม เพราะเลือกตั้งปี 2562 พรรคได้คะแนนอันดับ 2 กว่า 80 เขตเลือกตั้ง แต่ถ้าใช้ระบบ MMP ก็จะเป็นธรรมกับพรรคอื่นด้วย

การนับคะแนนให้เปลี่ยนจากนับ “หน้าหน่วยเลือกตั้ง” เป็นนับคะแนนรวมกันแต่ละเขต และประกาศผลคะแนนให้ภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง รวมถึงสื่อมวลชน เข้าถึงผลการเลือกตั้งโดยเร็ว

ไฮไลต์สำคัญอยู่ที่ “พ.ร.ป.พรรคการเมือง” โดยเฉพาะเรื่อง “ยุบพรรค” แม้ให้ กกต.วินิจฉัยยุบพรรค แต่ต้องให้ “อัยการสูงสุด” กรองอีกชั้น ก่อนจะส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในขั้นตอนสุดท้าย ท่ามกลางข่าวลือการเมืองว่า “ก้าวไกล” เสียวสันหลังเรื่องยุบพรรคจากการร่วมชุมนุม-หนุนม็อบ 3 นิ้ว

“ชัยธวัช ตุลาธน” เลขาธิการพรรคก้าวไกล กล่าวว่า เสนอแก้ไขนอกเหนือจากระบบเลือกตั้ง ไม่ใช่การเลือกตั้ง วิธีการนับอย่างเดียว แต่จะทำอย่างไรให้การเลือกตั้งโปร่งใส เสรี เป็นธรรมมากขึ้น ส่วน พ.ร.ป.พรรคการเมือง ไม่ได้เสนอเกี่ยวกับการเลือกตั้งเท่านั้น แต่จะเสนอแก้ไขหลักการส่งเสริมให้พรรคการเมืองเป็นสถาบันการเมือง ที่มั่นคง ตั้งง่าย-ยุบยาก

ด้านพรรคเพื่อไทย “นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว” หัวหน้าพรรค เปิดเผยว่า ใช้ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กฎหมายเลือกตั้ง 2550 แก้ไขปี 2554 เป็นแนวทาง เพราะเนื้อหาใกล้เคียงกัน

การนับคะแนนบัญชีรายชื่อ ให้นำคะแนนของแต่ละพรรคการเมืองที่ได้จากการเลือกตั้งมาคำนวณเป็นสัดส่วน ส.ส.บัญชีรายชื่อ โดยตรงกับสัดส่วนที่ได้ ได้เปอร์เซ็นต์เท่าไหร่ก็ได้ตามนั้น

ส่วน พ.ร.ป.พรรคการเมือง ทำไพรมารี่โหวต เมื่อมีการแบ่งเขตจาก 350 เขต มาเป็น 400 เขต ถ้าไม่แก้ไขจะมีตัวแทนพรรคประจำจังหวัดเพิ่มอีก 50 คน แต่การจะมีทุกเขตเลือกตั้ง ต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 180 วัน และเจตนาการไพรมารี่เป็นเพียงแค่ “พิธีกรรม” ไม่สะท้อนเจตนารมณ์

เพื่อไทยเสนอว่า การทำไพรมารี่โหวตยังคงต้องมีอยู่ แต่จะแก้ไขเป็นว่ากรณีมีสาขาพรรคการเมืองประจำจังหวัด สามารถส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งได้ทุกเขต โดยให้สาขาพรรคการเมืองเป็นหน่วยงานจัดไพรมารี่โหวต หรือถ้าไม่มีสาขา แต่มีตัวแทนพรรคประจำจังหวัดเพียงหนึ่งเขตก็สามารถส่งผู้สมัครได้ เหมือนจุดเริ่มต้นตอนเลือกตั้งปี 2562 ก็เป็นเช่นนี้

ขณะที่ร่างของฝ่ายรัฐบาล โดยคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) ตัดสินใจตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 1 คณะ เขียนกฎหมายให้ไปทำนองเดียวกัน โดยมี “วิเชียร ชวลิต” ส.ส.บัญชีรายชื่อ พลังประชารัฐ เป็นประธาน

นิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคชาติไทยพัฒนา ในฐานะวิปรัฐบาล เปิดเผยร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร โดยปิดช่องนับคะแนนตกน้ำ MMP ส่วน พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ให้ใช้กึ่งไพรมารี่โหวตเหมือน คสช.แก้เลือกตั้งปี’62

นิกรกล่าวว่า จะแก้เรื่องวิธีการนับคะแนนที่จะคล้ายรัฐธรรมนูญ ปี 2550 แก้ไขปี 2554 คือการรวมคะแนนทั้งประเทศและมาหารรวมด้วย ส.ส. 100 คน 
ดังนั้น รัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 92 ที่ระบุว่า ส.ส.พึงมีจึงไม่เกิดผลอะไร ซึ่งหมายความว่า การนับคะแนนแบบจัดสรรปันส่วนผสม (MMP) จึงใช้ไม่ได้

กฎหมายการเลือกตั้งคงไม่มีปัญหา และพรรคร่วมรัฐบาลเสนอหนึ่งร่างรวมกันถ้าในพรรคแต่ละพรรคเห็นต่างก็ขอให้ไปแปรญัตติอีกครั้งหนึ่ง

ส่วน พ.ร.ป.พรรคการเมืองนั้น เสนอให้มีเป็น “กึ่งไพรมารี่” เหมือนตอนที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ที่มีตัวแทนทำกลุ่มหนึ่งแต่ครอบคลุมทั้งจังหวัด ซึ่งถือว่าเป็นการพบกันครึ่งทาง

ขณะที่ “ไพบูลย์ นิติตะวัน” ส.ส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานคณะกรรมการกฎหมายและข้อบังคับพรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า พลังประชารัฐร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไว้แล้ว แต่เนื่องจากมีร่างของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่จะเสนอให้คณะรัฐมนตรีชงเข้าที่ประชุมรัฐสภาเป็นร่างหลัก จะต้องดูในส่วนนั้นก่อนแล้วค่อยปรับใช้กันด้วย ซึ่งคิดว่าจะเป็นร่างหลักในรัฐสภา

ส่วน พ.ร.ป.พรรคการเมือง ยังมีความเห็นแตกต่างไปในหลายทาง ทั้งภายในพลังประชารัฐ และพรรคร่วมรัฐบาล วิปรัฐบาลจะต้องหารือกันก่อน

เกมแก้กฎหมายลูก 2 ฉบับยังทอดยาว อาจถึงกันยายนปี 2565 รัฐบาลประยุทธ์อาจลากยาวไปถึงไตรมาสสุดท้ายของปี 2565 จึงค่อยยุบสภา