วิษณุชี้ บัตรเลือกตั้งเบอร์เดียวทั่วประเทศ เข้าทางบางพรรค

วิษณุ-เนติบริกรชี้ เบอร์เดียวทั่วประเทศ ทั้งพรรค-ทั้งเขต เข้าทางบางพรรค เตือน กฎหมายลูกเลือกตั้งเสร็จกรกฎาคมปีหน้า เสียงกดดันยุบสภาดังกระหึ่ม

วันที่ 24 พฤศจิกายน 2564 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เป็นห่วงเรื่องสภาล่ม ว่า พล.อ.ประยุทธ์กำชับให้รัฐมนตรีคนไหนว่างวันพุธและวันพฤหัสบดีที่มีการประชุมสภาให้เข้าประชุมสภา รวมถึงรัฐมนตรีที่ไม่ได้เป็น ส.ส. เพราะการเข้าฟังการประชุมสภา แม้ว่าจะไม่ใช่เรื่องที่ตัวเองรับผิดชอบโดยตรง แต่จะเป็นโอกาสให้ได้พบปะกับ ส.ส. และเกิดเป็นความสัมพันธ์ที่ดี

“นายกรัฐมนตรีไม่ห่วงกฎหมายฉบับใดเป็นพิเศษ แต่ได้มีการพูดกับวิปรัฐบาลถึงกฎหมายสำคัญที่จะเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา”

นายวิษณุยังกล่าวถึงการร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เรื่องการกำหนดหมายเลขเลือกตั้งเบอร์เดียวทั่วประเทศ ต้องไปคุยกัน เพราะก่อนหน้านี้มีเสียงเรียกร้องให้ใช้เบอร์เดียว กกต.จึงทำให้ ซึ่งอาจจะกลายเป็นว่าเข้าทางบางพรรค และอาจจะไม่เข้าทางบางพรรค แต่ส่วนตัวคิดว่า ไม่ใช่เรื่องใหญ่โตอะไร สามารถพูดคุยกันได้

“ผมมองไม่ออกนะ แต่คนที่มองออก เขามองว่าเกิดการได้เปรียบเสียเปรียบ แต่ความจริงมันคือความสะดวกในการจดจำ แต่บางคนมองเป็นอย่างอื่น คนที่ชำนาญในเรื่องการเลือกตั้ง กลายเป็นเรื่องพรรคใหญ่ พรรคเล็ก พรรคเก่า พรรคใหม่ เป็นเรื่องของการชิงไหวชิงพริบทางการเมือง”

นายวิษณุกล่าวว่า สิ่งที่รัฐบาลเป็นห่วง คือ เรื่องตารางเวลา ส่วนเนื้อหารัฐบาลเป็นเพียงเจ้าภาพเสนอให้ เพราะ กกต. เสนอเองไม่ได้ และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก็เสนอเองไม่ได้ ครม.ต้องเสนอโดยความเห็นชอบของ กกต.

“ผมได้เคยรับปากไว้ในวันที่ประชุมร่วมกับวิปรัฐบาล ว่า เนื่องจากพรรคร่วมรัฐบาลจะมีการจัดทำร่าง พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส.ของตัวเอง ซึ่งมีสิทธิแยกเสนอต่างหาก แต่เพื่อไม่ให้ชุลมุนวุ่นวาย นับองค์ประชุม คุยกันก่อนได้ ไม่เสียเวลาพูดกันในสภา รัฐบาลยินดีที่จะเป็นเจ้าภาพ โดยเอา กกต. กับพรรคการเมืองต่าง ๆ มาคุยกัน เพื่อปรับแก้ ถอยบางจุดให้เข้ากัน ไม่ได้ผสมเป็นฉบับเดียวกัน ยังคงเป็นคนละฉบับ แต่ให้รู้เขารู้เรา เวลาเข้าสภาจะเจออะไร เคลียร์กันเสียก่อนได้ ผมถอนของผม คุณถอนของคุณ”

ผู้สื่อข่าวถามว่า สุดท้ายต้องยึดร่างของ กกต. เป็นร่างหลักใช่หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ใช่

“ความที่รัฐบาลเป็นเจ้าของเรื่องคงจะปรับ (ร่าง พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส.) ได้ ตามความเห็นชอบของ กกต.อย่างน้อยในชั้นกฤษฎีกา ถ้า กกต.ไม่เห็นชอบก็ต้องไปพูดกันในสภา โดยขอยืมพรรคร่วมรัฐบาลเป็นคนพูด เพราะสุดท้ายอยู่ที่การเสียบบัตร ยกมือกันในสภา แต่รัฐบาลมีความสัมพันธ์พอที่จะอธิบายด้วยเหตุด้วยผลกันได้ โดยฟังจากพรรคร่วมรัฐบาล ฟังจากประชาชน”

นายวิษณุกล่าวว่า ข้อสำคัญก็คงให้กรรมการกฤษฎีกาที่เคยมีประสบการณ์ในการตรวจร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญเมื่อ 2-3 ปีที่แล้วเป็นผู้พิจารณาเรื่องนี้

“ไม่รู้ว่ากฎหมายลูกจะแก้เสร็จเมื่อไหร่ อย่าลืมว่า คำว่าแก้เสร็จก็ต้องเข้าสภา เข้าสภาเสร็จก็ต้องพิจารณา และการพิจารณาของสภานั้น ไม่ใช่การพิจารณาแบบกฎหมายธรรมดา กฎหมายอื่นเมื่อสภาพิจารณาเสร็จก็คือเสร็จ แต่กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญพอสภาพิจารณาเสร็จก็บังคับให้ส่งไปที่ กกต.ภายใน 10 วัน กกต.ต้องตอบกลับมาภายใน 15 วัน และถ้า กกต.เห็นว่าควรจะแก้อะไรบ้างอย่าง ใครไปเที่ยวแก้ของ กกต.ก็จะเจอดอกนี้ ตอนสุดท้าย คือ ตอนนี้คุณชนะไปก่อน แต่พอ กกต.ยืนยันกลับมาก็ต้องไปแก้ตาม กกต.ให้เสร็จภายใน 1 เดือน”

นายวิษณุกล่าวว่า เพราะฉะนั้นจะเห็นว่า กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญนั้น สภาทำเสร็จมันยังไม่เสร็จ ยังมีอีกขั้นตอนงอกออกมา ซึ่งกฎหมายอื่นไม่มี พิจารณาวาระสามเสร็จก็จบ

“ทำไมต้องถาม กกต. รัฐธรรมนูญไม่ได้เขียน แต่ถามองค์กรที่เกี่ยวข้อง คือ กกต. ถ้า กกต.ยืนยันกลับมา สภาต้องแก้ให้ ซึ่งรัฐบาลพร้อมเปิดสมัยประชุมวิสามัญให้เพื่อแก้ให้ พอแก้เสร็จก็ทูลเกล้าฯ ถวาย ซึ่งมีเวลาอีก 90 วัน ผมจึงกะเวลาให้ถึงเดือนกรกฎาคม 65 คิดว่าเปิดสภาวิสามัญเดือนเมษายน 65 ทูลเกล้าฯถวาย เมษาฯ มีเวลายาวที่สุด 90 วัน คือ พฤษภาคม-กรกฎาคม 65 แต่ถ้าโปรดเกล้าฯ มาก่อนก็เร็ว ผมเคยแจ้ง ครม.ว่า ก็จะมีการกดดันให้มีการยุบสภา รัฐบาลก็เตรียมรับมือในทางการเมืองเองแล้วกันว่าจะทำอย่างไร”