สภาหวิดล่ม พ่นพิษ ฝ่ายค้าน – รัฐบาล แลกหมัดในเกมนับจำนวนมือ

ฝ่ายค้านขู่ ไม่ลงชื่อเปิดประชุม หลัง “ไพบูลย์ นิติตะวัน” ส.ส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เตรียมใช้โปรแกรมประมวลผลการประชุมของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ว่า ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล และ ส.ส.ฝ่ายค้านเข้าประชุมกันกี่คน

ภายหลังการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน มีข้อถกเถียงกันจนส่งผลให้ต้องนับองค์ประชุมแบบขานรายชื่อว่า ผลที่ออกมาฝ่ายรัฐบาลร่วมประชุม 263 คน ฝ่ายค้าน 1 คน

ฝ่ายรัฐบาลมาเกินองค์ประชุมถึง 25 คน ซึ่งการทำหน้าที่ในการมาประชุมและลงมติเป็นการปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. ทุกคน ภายใต้รัฐธรรมนูญ มาตรา 114 ที่ต้องทำหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ปราศจากการขัดกันแห่งผลประโยชน์

อีกทั้งข้อบังคับประมวลจริยธรรมของสภาผู้แทนราษฎร ข้อ14 และข้อบังคับการประชุม ส.ส. หมวด 2 ต้องอุทิศเวลาให้กับการประชุม ให้สมาชิกทำหน้าที่เว้นแต่เจ็บป่วยสุดวิสัย และที่สำคัญส.ส. ทั้ง 475 คนได้รับเงินเดือนที่มาจากภาษี จึงต้องทำหน้าที่

“เพื่อตรวจสอบการทำหน้าที่ของ ส.ส. ในการประชุมสภาฯสัปดาห์หน้าจะนำผลการโหวต นับองค์ประชุมทุกครั้งของสภาฯ ไปเข้าโปรแกรมประมวลผล เพื่อให้เห็นว่ามี ส.ส. รัฐบาล ฝ่ายค้าน มาประชุมกี่คน ขาดประชุมกี่คน แยกย่อยเป็นรายพรรคการเมือง และรายบุคคล เพื่อเป็นฐานข้อมูล เผยแพร่ทางเว็บไซต์ หรือทางออนไลน์ และจัดแถลงข่าวรายงานผลให้ประชาชนรับทราบ” นายไพบูลย์ กล่าว

ส่วนเรื่องที่อ้างประเพณีว่าฝ่ายค้านไม่ต้องรักษาองค์ประชุม แต่เป็นเรื่องของรัฐบาล ไม่ได้มีกำหนดในรัฐธรรมนูญ แต่เป็นเรื่องที่พรรคฝ่ายค้านเลี่ยงที่จะไม่มาประชุม ซึ่งการที่จะประมวลผล ฝ่ายค้านจะได้ประโยชน์ เพราะคนที่มาก็จะได้รับการเผยแพร่ว่าทำหน้าที่ ส่วนรัฐบาล ก็จะเป็นไปตามที่หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ

กำชับให้มาประชุม และการตรวจสอบครั้งนี้ถือเป็นการปฏิรูปสภาฯ โดยจะเริ่มตรวจสอบตั้งแต่วันนี้ ไม่ตรวจสอบย้อนหลัง ในฐานะที่เป็น ส.ส. อยากทำทุกอย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้

ทำให้ “จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์” ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ตอบโต้ทันควันว่า เป็นสิทธิของนายไพบูลย์ ซึ่งสมาชิกบางคนอาจไม่เข้าใจเรื่องระบบสภา เพราะอาจจะเพิ่งมาเป็น ส.ส.ครั้งแรก หรือมาจากสภาอื่นที่ไม่ได้รับการเลือกตั้งในอดีต จึงไม่เข้าใจว่าเรื่องขององค์ประชุมและการแสดงตนเป็นสิ่งที่ปรากฏเปิดเผยโดยทั่วไปอยู่แล้ว จะไปเปิดดูเมื่อไหร่ก็ได้

ส่วนปัญหาที่เกิดขึ้นในสภา ฝั่งรัฐบาลตอนจะเป็นรัฐบาลดูกระเหี้ยนกระหือรือกันเหลือเกิน ทั้งดูด ทั้งดึง ทั้งงูเห่า ทั้งหิ้วกระเป๋าดำ แต่พอถึงเวลาจะทำงาน จะรักษาองค์ประชุม กลับมาขอความร่วมมือกับฝ่ายค้าน พวกตนไม่มีหน้าที่เป็นองค์ประชุมให้ท่าน แต่เราจะลงมติกฎหมายอย่างถูกต้อง แต่หากท่านครบองค์ประชุมแล้ว เราก็พร้อมทำงาน

นี่คือการทำงานของฝ่ายค้านซึ่งเราได้ประกาศชัดเจน เพราะเราอยากเห็นการทำงานของรัฐมนตรีที่ให้ความใส่ใจกับสภา เราอยากเห็นการทำงานของ ส.ส.รัฐบาล ที่เข้มงวดกวดขันกว่าที่เคยเป็น ที่ผ่านมา 2-3 ปี ถ้าไม่มีฝ่ายค้านกฎหมายหลายฉบับก็ผ่านไม่ได้ เพราะองค์ประชุมไม่ครบ เราไม่อยากเห็นแบบนั้นอีก เราถึงดำเนินการอย่างเข้มข้นขึ้นที่จะใช้กลไกสภาเพื่อบังคับให้เขามา สัปดาห์นี้และสัปดาห์ที่แล้วมีรัฐมนตรีเข้ามาเป็นองค์ประชุม

เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน ตอนขานชื่อก็มีรัฐมนตรีวิ่งเข้ามาเป็นองค์ประชุม นี่คือความสำเร็จของฝ่ายค้านที่สามารถดึงเขาเข้ามาได้ ความจริง ส.ส.รัฐบาล ควรมาขอบคุณพวกตนด้วยซ้ำ เพราะทราบมาว่ารัฐมนตรีบางคน ส.ส.ไม่เคยคุยด้วยด้วยซ้ำ ตนดึงให้เข้ามาหาพวกท่านจะได้มาคุยกัน น่าจะเป็นการดีกับสภาฯ และสมาชิกทุกคน

“ถ้าจะมาร้องแรกแหกกระเชอว่า ทำไมฝ่ายค้านไม่อยู่ในสภา ไม่ช่วยเป็นองค์ประชุมให้ วิ่งไปบอก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้ยุบสภาดีกว่า ถ้าเกิดไม่สามารถรักษาองค์ประชุมได้”

ด้านสมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย ในฐานะรองประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวว่า นายไพบูลย์ ต้องไปเรียนรู้เรื่องเสียงข้างมากในสภาก่อน หน้าที่ของรัฐบาลเป็นเสียงข้างมาก ไม่เช่นนั้นก็มาเป็นฝ่ายค้าน เดี๋ยวเราจะดูแลองค์ประชุมเอง เพราะฝ่ายค้านไม่มีอะไรสู้รัฐบาลได้ นอกจากบังคับให้รัฐบาลมาทำงาน ถ้าไม่มาฝ่ายค้านจะนับองค์ประชุม

“คุณไพบูลย์จะมานับองค์ประชุมฝ่ายค้าน ไม่มีประโยชน์ เพราะฝ่ายค้านไม่มีองค์ประชุม และฝ่ายค้านไม่จำเป็นต้องรักษาองค์ประชุมให้คุณ แต่กฎหมายสำคัญๆ คุณต้องรักษาเอง เว้นแต่บางเรื่องที่เราช่วยรัฐบาลเป็นบางเรื่อง ซึ่งกฎหมายอะไรที่สำคัญต่อประชาชนฝ่ายค้านช่วยตลอด แต่ไม่ได้แปลว่ามีปัญหาจะมาโทษว่าฝ่ายค้านไม่เข้าร่วมประชุม” นายสมคิด กล่าว

นายสมคิด กล่าวว่า แม้กระทั่งประธานชวน หลีกภัย ยังบอกว่ารัฐบาลมีหน้าที่รักษาองค์ประชุม ไม่อย่างนั้นจะมีรัฐบาลทำไม ต้องไปเรียนรู้เรื่องเสียงข้างมากก่อน อย่ามาตรวจสอบฝ่ายค้าน ไม่มีประโยชน์ และฝ่ายค้านไม่ใยดีกับเรื่องแบบนี้

“ความเห็นส่วนตัว ถ้าทำแบบนี้ฝ่ายค้านจะไม่เซ็นชื่อเปิดประชุมให้ เพราะฝ่ายค้านช่วยทุกเช้า ถ้าเล่นกันแบบนี้เราจะไม่เซ็นชื่อ 200 กว่าคน หาคนมาเซ็นเปิดประชุมแล้วกัน ถ้าครบเมื่อไหร่ฝ่ายค้านถึงค่อยเซ็นชื่อ คุณไพบูลย์และรัฐบาลไปเตรียมตัวได้ ถ้าจะเล่นแบบนี้ หรือคุมองค์ประชุมไม่ได้ก็ยุบสภา”

อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ที่องค์ประชุมสภา “หวิด” ล่ม เกิดถี่ขึ้นในช่วงหลัง นับตั้งแต่เปิดสมัยประชุมสามัญประจำปี ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564

กระทั่ง “ชวน” ต้องออกมาเตือนว่า “เรื่ององค์ประชุมโดยหลักแล้วทุกคนต้องร่วมมือกัน แต่ในระบบนี้ซึ่งผมพูดมาตลอด ไม่ว่าเป็น ส.ส.มากี่สมัยก็เป็นหน้าที่ของ ส.ส. แต่ในระบบนี้รัฐบาลอยู่ได้ด้วยเสียงข้างมาก เพราะถ้าไม่ใช่เสียงข้างมากก็เป็นรัฐบาลไม่ได้ ฉะนั้น รัฐบาลต้องเป็นหลักมีหน้าที่รักษาองค์ประชุม ส.ส.รัฐบาลก็จะมีน้ำหนักพิเศษกว่า ส.ส.ทั่วไป ถือว่าเป็นภารกิจจะต้องทำและอย่าไปโยนให้วิป เพราะวิปเป็นเพียงผู้ควบคุมเสียง ไม่ใช่คนที่จะบอกว่าให้คะแนนครบ หรือไม่ครบ”

ขณะที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ต้องกำชับ ส.ส.ให้เข้าร่วมประชุมสภา

ในการประชุม พล.อ.ประวิตรกำชับ ส.ส.ของพรรคให้เข้าร่วมประชุมสภาผู้แทนราษฎร และอยู่จนเลิกประชุม เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาองค์ประชุมหรือสภาล่มอีก และมีการเสนอว่าหากมีการนับองค์ประชุม จะพรินต์รายชื่อ ส.ส.ออกมาและจะส่งให้ พล.อ.ประวิตร ดูว่ามี ส.ส.คนไหนขาดประชุมบ้าง และเป็น ส.ส.ของพรรคร่วมรัฐบาลพรรคไหนบ้าง ไม่ใช่เฉพาะ ส.ส.ของพรรค พปชร.พรรคเดียว

“ถ้าองค์ประชุมล่มบ่อยๆ ก็จะโดนบอกให้ยุบสภา”