เปิดสูตรคำนวณ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ กฏหมายลูก ฉบับ กกต.

เปิดสูตรคำนวน ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์
ภาพลิขสิทธิผู้สื่อข่าวการเมืองประชาชาติธุรกิจ

ปัจจัยชี้ขาดการเลือกตั้ง แบบบัตร 2 ใบ ตามกติการัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติม 2564 นอกจากวัดด้วย ส.ส.เขตที่เปลี่ยนมาเป็น 400 เขต ยังชี้ขาดด้วยจำนวน ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ (แบบบัญชีรายชื่อ) 100 คน

โดยวิธีคำนวณ ส.ส.เขต และ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ไม่ได้บรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่จะไปปรากฏอยู่ในกฎหมายลูก คือ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

ตามธรรมเนียมปฏิบัติ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในฐานะผู้จัดเลือกตั้ง ต้องเตรียมร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ชงเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้เสนอเข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภา ในฐานะ “ร่าง ครม.” จะเป็น “ร่างหลัก” ในการพิจารณา

ประกบกับร่างกฎหมายของฝ่าย ส.ส. ทั้งฝ่ายรัฐบาล และ ฝ่ายค้าน โดยร่างของ กกต.ถอดแบบมาจาก “กติกานับคะแนน” ของรัฐธรรมนูญ 2540 และรัฐธรรมนูญ 2550 แก้ไขเพิ่มเติม 2554

ซึ่งพรรคเพื่อไทย ในฐานะที่เป็นแชมป์ในกติกาเลือกตั้งสูตรนี้ ก็เตรียมชงร่างกฎหมายที่มีเนื้อหาคล้ายกับร่างของ กกต.เข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภาในสัปดาห์นี้เช่นกัน

เปิดวิธีนับคะแนน “ส.ส.เขต” ในร่างกฎหมายของ กกต.บัญญัติอยู่ใน มาตรา 28 ระบุว่า ให้ยกเลิกความในมาตรา 123 แห่งพระราชบัญญัติประกอบ รัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา 123 เมื่อรวบรวมผลการนับคะแนนทุกหน่วยเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้น รวมทั้งคะแนนที่ได้จากการออกเสียงลงคะแนนก่อนวันเลือกตั้งและการลงคะแนนเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรแล้ว ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งดำเนินการ ดังนี้

(1) ประกาศผลการรวมคะแนนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง และคะแนนที่ไม่เลือกผู้สมัครผู้ใด

(2) ประกาศผลการรวมคะแนนที่แต่ละพรรคการเมืองได้รับจากการเลือกตั้ง แบบบัญชีรายชื่อ และคะแนนที่ไม่เลือกพรรคการเมืองใด

(3) ให้รายงานประกาศผลการรวมคะแนนตาม (1) และ (2) ต่อผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัด (ผอ.กต.จังหวัด) เพื่อรายงานคณะกรรมการโดยเร็ว เพื่อให้การรวมคะแนนเป็นไปด้วยความเรียบร้อย คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งอาจมอบหมายให้บุคคลหรือคณะบุคคลช่วยเหลือในการรวมคะแนนได้ตามความจำเป็น”

แปลง่ายๆ ว่า หลังจากปิดหีบเลือกตั้ง และนับคะแนนทุกหน่วยเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้น รวมกับเลือกตั้งล่วงหน้า และเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรแล้ว ให้ กกต.ประจำเขตเลือกตั้งประกาศผลคะแนนเลือกตั้งรวมในเขตนั้น รวมถึงประกาศคะแนนที่กาไม่เลือกใคร

และประกาศคะแนนปาร์ตี้ลิสต์ของพรรคการเมืองที่ได้ในเขตเลือกตั้งนั้น รวมถึงคะแนนไม่กาพรรคใด จากนั้น ให้ ผอ.กต.จังหวัดรายงานต่อ กกต.กลางโดยเร็ว เพื่อให้การรวมคะแนนเป็นไปด้วยความเรียบร้อย

ขณะที่การนับคะแนนปาร์ตี้ลิสต์ ระบุอยู่ในมาตรา 30 ให้ยกเลิกความในมาตรา 128 แห่งพระราชบัญญัติประกอบ รัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา 128 เมื่อคณะกรรมการได้รับรายงานผลรวมคะแนนแบบบัญชีรายชื่อ จากผู้อํานวยการการเลือกตั้งประจําจังหวัดแล้ว ให้ดําเนินการคํานวณสัดส่วนเพื่อหาผู้ได้รับเลือกตั้ง เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ ดังต่อไปนี้

(1) ให้รวมผลคะแนนทั้งหมดที่แต่ละพรรคการเมืองได้รับจากการเลือกตั้งแบบบัญชี รายชื่อทั้งประเทศ

(2) ให้นําคะแนนรวมจาก (1) หารด้วยหนึ่งร้อย ผลลัพธ์ที่ได้ให้ถือเป็นคะแนนเฉลี่ย ต่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อหนึ่งคน

(3) ในการคํานวณหาจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อที่แต่ละ พรรคการเมืองจะได้รับ ให้นําคะแนนรวมจากการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อที่แต่ละพรรคการเมือง ได้รับ หารด้วยคะแนนเฉลี่ยตาม (2) ผลลัพธ์ที่ได้เป็นจํานวนเต็มคือจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองนั้นได้รับ โดยเรียงตามลําดับหมายเลขในบัญชีรายชื่อของพรรค การเมืองนั้น

(4) ในกรณีที่จํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมือง ได้รับรวมกันทุกพรรคการเมืองมีจํานวนไม่ครบหนึ่งร้อยคน ให้พรรคการเมืองที่มีผลลัพธ์ตาม (3) เป็นเศษที่มีจํานวนมากที่สุด ได้รับจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งคน เรียงตามลําดับ จนกว่าจะมีจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองทั้งหมด ได้รับรวมกันครบจํานวนหนึ่งร้อยคน

(5) ในการดําเนินการตาม (4) ถ้ามีคะแนนเท่ากัน ให้พรรคการเมืองที่มีคะแนน เท่ากันจับสลากโดยตัวแทนของพรรคการเมืองที่มีคะแนนเท่ากันภายในวันและเวลาที่คณะกรรมการ กําหนด เพื่อให้ได้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อครบจํานวน จํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคการเมืองที่จะ ได้รับตามผลการคํานวณข้างต้น จะต้องไม่เกินจํานวนผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อเท่าที่มีอยู่ในแต่ละบัญชี รายชื่อผู้สมัครที่พรรคการเมืองนั้นได้จัดทําขึ้น”

ทั้งนี้ ถอดความจากมาตราดังกล่าว แบ่งเป็นคำนวณปาร์ตี้ลิสต์แบ่งได้ 5 ขั้นตอนดังนี้

ขั้นที่ 1 ให้รวมผลคะแนนปาร์ตี้ลิสต์ของทุกพรรคการเมืองได้รับจากการเลือกตั้ง

ขั้นที่ 2 นำคะแนนรวมจากขั้นที่ 1 แล้วนำมาหารด้วย 100 ก็จะได้ “เกณฑ์คะแนน” ต่อ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 1 คน

ขั้นที่ 3 ในการคํานวณหาจำนวน ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ที่แต่ละพรรคจะได้รับ ให้นําคะแนนรวมคะแนนปาร์ตี้ลิสต์ของพรรคนั้นๆ หารด้วยคะแนนเฉลี่ยตามขั้นที่ 2

จากนั้นผลลัพธ์ที่ได้เป็นจํานวนเต็มคือจํานวน ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ที่พรรคการเมืองนั้นได้รับ โดยเรียงตามลําดับหมายเลขในปาร์ตี้ลิสต์ชื่อของพรรค

ขั้นที่ 4 ในกรณีที่ คำนวณ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ครบทุกพรรคการเมืองแล้ว ยังมี ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ไม่ครบ 100 คน ให้พรรคการเมืองที่คำนวณแล้วมีเศษมากที่สุด ได้รับจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งคน

แล้วเรียงตามลําดับ จนกว่าจะมีจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองทั้งหมด ได้รับรวมกันครบจํานวนหนึ่งร้อยคน

ขั้นที่ 5 ในการคำนวณตามขั้นที่ 4 ถ้ามีคะแนนเท่ากัน ให้พรรคการเมืองที่มีคะแนน เท่ากันจับสลากโดยตัวแทนของพรรคการเมืองที่มีคะแนนเท่ากันภายในวันและเวลาที่ กกต. กําหนด เพื่อให้ได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์เต็มจำนวน

กติกาเลือกตั้งบัตร 2 ใบ แบบ ส.ส.เขต และ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ แบบนี้ พรรคที่ได้เปรียบคือพรรคใหญ่ หนีไม่พ้น เพื่อไทย – พลังประชารัฐ