เทียบฟอร์มทีมเศรษฐกิจพรรคใหม่ เงา 4 กุมาร-พลังประชารัฐ

รายงานพิเศษ

พรรคสี่กุมารกลับมาเกิดใหม่อีกครั้ง พร้อมกับการเดินสาย “ปิดดีล” เจรจาลับกับนักการเมืองเก่า-ขาใหญ่ ระดับเจ้าแม่-มาดามดาวเด่น-รุ่นใหญ่ฝ่ายประชาธิปไตย เตรียม “เปิดตัว” ปลายเดือนมกราคม 2565

พรรคใหม่-รัฐบาลใหม่ที่จะมาจากการเลือกตั้งครั้งหน้า-หลังโควิด-19 ต้องตอบโจทย์วิกฤตเศรษฐกิจ-แก้ปัญหาปากท้องที่ไม่ใช่การเยียวยาระยะสั่น-แจกเงินรายวัน

พรรคสี่กุมารนำทีมโดย “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” มีดีกรีเป็นขงเบ้ง-แม่ทัพเศรษฐกิจ อดีตรองนายกรัฐมนตรี-รัฐมนตรียุคทักษิณ ชินวัตร และรัฐบาลยุคคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา 2 สมัย

ไม่ว่า “สมคิด” จะอยู่ตรงไหนของสมการใน “พรรคใหม่สี่กุมาร” การันตีได้ว่าอยู่ “ส่วนยอด” เอื้อมไม่ถึง แต่จับต้องได้แน่นอน

กับอีก 2 กุมาร “อุตตม สาวนายน” อดีตหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ “สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์” อดีตเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ รัฐมนตรีรัฐบาลยุค คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พล.อ.ประยุทธ์ 1-2

และ 1 กุมาร “หน้าใหม่” นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์-ขุนพลภาคใต้

หลังจากถูกพรรคประชาธิปัตย์ “ถอดปลั๊ก” ขอเลือกทางเดิน-ไปต่อ เพื่อพลิกฟื้นเศรษฐกิจ-พัฒนาภาคใต้

“ไม่ทะเลาะกับใคร ทะเลาะกับความยากจนของชาวบ้านอย่างเดียว”

เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2564 “อุตตม” เปิดตัว “ไทยแลนด์ฟิวเจอร์” หรือ “อนาคตไทย” พร้อมคลิปวิดีโอแนะนำการทำงาน “สถาบันอนาคตไทยศึกษา” หัวข้อ “อนาคตประเทศต้องร่วมกันกำหนดและผลักดันเพื่อสิ่งที่ดีกว่า” ความยาว 2 นาที

หากเจาะลึกเข้าไปใน “สถาบันอนาคตไทยศึกษา” ที่มีนายอุตตมเป็น “ประธานคณะที่ปรึกษา” มีนักธุรกิจเป็น “คณะที่ปรึกษา” อาทิ นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย น.ส.จรีพร จารุกรสกุล แห่งดับบลิวเอชเอฯ

นายวิเชฐ ตันติวานิช อดีตรองผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์เเห่งประเทศไทย-อดีตผู้บริหาร Money Channel และเป็นอดีตกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ “รุ่น 1” และ “สุภรัฐ จิราธิวัฒน์” แห่งอาณาจักรเซ็นทรัล กรุ๊ป

“อีก 3 ปีข้างหน้าถ้า พล.อ.ประยุทธ์บริหารประเทศแบบเดิม ประเทศจะเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ ทีมเศรษฐกิจของพรรคกำลังคิดนโยบายเศรษฐกิจให้ดีกว่าทุกพรรค ให้ดีที่สุดสำหรับประเทศ” หนึ่งในแกนนำสี่กุมารระบุ

หากเอาชื่อสมคิด-อุตตม-สนธิรัตน์-นิพิฏฐ์ มาเทียบกันปอนด์ต่อปอนด์กับ “ทีมเศรษฐกิจ” ของพรรคพลังประชารัฐในยุคปัจจุบันที่เปิดหน้าอยู่สู้ได้แบบ “กินกันไม่ลง”

เนื่องจากนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์เวลานี้ “ผลิตซ้ำ” จากนโยบายในยุค “ทีมเศรษฐกิจ” ที่มี “สมคิด” เป็น “แม่ทัพเศรษฐกิจ” แทบทั้งสิ้น “ไม่มีอะไรใหม่”

ฟากพรรคพลังประชารัฐ “หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ” ที่ถูก “ชูขึ้นมาเชือด” ตั้งแต่ในยุคที่ “เสี่ยแฮงค์” อนุชา นาคาศัย เป็นเลขาธิการพรรค คือ “นฤมล ภิญโญสินวัฒน์” เหรัญญิกพรรค

พร้อมกับการฟอร์มทีมนักวิชาการ-นักธุรกิจ-คนรุ่นใหม่

ขณะที่ในยุคที่มี “ผู้กองธรรมนัส” ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรคคนปัจจุบัน ผนึกกับ “นฤมล” เพื่อรอ “เปิดตัว” พร้อมกับการเฟ้นหา “นักเรียนทุน” ระดับ “หัวกะทิ-ด็อกเตอร์” จากหลากหลาย-ครบทุกมิติ เศรษฐกิจ การศึกษา การกีฬา และการเมือง

อย่างไรก็ตาม “นฤมล” อดีตอาจารย์ประจำสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ นิด้า ก็ถือเป็นหนึ่งในศิษย์ก้นกุฏิ “สมคิด”

และเป็นหนึ่งในผู้ร่วมคิดค้นนโยบายของพรรคพลังประชารัฐตั้งแต่อยู่ใน “ทีมสมคิด” ในยุค คสช.-รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ 1-2

“นฤมล” จึงไม่ใช่มือใหม่ด้านเศรษฐกิจ-ในสนามการเมือง โดยได้รับมอบหมายให้ดูแลยุทธศาสตร์การลงทุนของกองทุนประกันสังคม

โดยดูเรื่องการบริหารเงินตอบแทนการลงทุนในสมัยที่ “พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล” เป็น รมว.แรงงาน

ต่อมา “นฤมล” ถูก “สมคิด” ชักชวนเข้าทำงานด้านนโยบายตั้งแต่เป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง-นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ ปลุกปั้น “สังคมไร้เงินสด” จน e-Payment แจ้งเกิด-ต้นขั้ว “เป๋าตัง”

ก่อนที่จะมาเป็นจะไปช่วยงาน “อุตตม” ที่กระทรวงการคลัง เป็นกำลังสำคัญในการคิดค้นนโยบาย “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” และร่วมคิดนโยบายของพรรคพลังประชารัฐในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง

อีก 1 คีย์แมน “ผู้กองธรรมนัส” ในฐานะแม่บ้านพรรค-คุมหางเสือนโยบายเศรษฐกิจพรรค ภายใต้สโลแกนของ “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” หัวหน้าพรรคที่ว่า “อยู่ดีกินดี”

โดย “ผู้กองธรรมนัส” มีความสัมพันธ์ทางการทูตกับ “พรรคคอมมิวนิสต์จีน” ศึกษานโยบายเศรษฐกิจของ “มณฑลกว่างซี” หรือ “กว่างซีโมเดล” เพื่อกำหนดยุทธศาสตร์ของพรรคทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคม การศึกษา และกีฬา

นอกจากนี้ ยังมี “บิ๊กน้อย” พล.อ.วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา ประธานยุทธศาสตร์พรรคที่จะคุมเกม “ยุทธศาสตร์เศรษฐกิจ” ทั้งหมด ภายใต้แนวคิด “เศรษฐกิจพัฒนา ประชามีสุข ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมยั่งยืน ประเทศชาติมั่นคง”

โยนหินถามทางด้วยนโยบาย “ประชานิยม” อาทิ โครงการบัตรเครดิตเกษตรประชารัฐถูกใจ วงเงิน 50,000 บาทต่อครอบครัว โครงการประชารัฐระดับตำบล ตำบลละ 20 ล้านบาท

เทียบฟอร์มทีมเศรษฐกิจพรรคสี่กุมาร-พรรคพลังประชารัฐ


ก่อนสัประยุทธ์ในอีก 18 เดือนข้างหน้า