ถาวร น้ำตาตกใน ศาลรัฐธรรมนูญ สั่งพ้น ส.ส. เลือกตั้งซ่อมใน 45 วัน

ศาลรัฐธรรมนูญมีเสียงข้างมาก 6 ต่อ 3 ให้ 5 แกนนำ กปปส.พ้นเก้าอี้ ส.ส.ตั้งแต่วันที่ 7 เมษายน 64 เหตุให้จําคุกและถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาลอาญา ถาวร ช้ำ น้ำตาตกใน แต่ยอมรับคำวินิจฉัย ด้าน “ต่อศักดิ์ อัศวเหม” ส้มหล่น ถูกเลื่อนให้เป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ พร้อมทำหน้าที่ผู้แทน

วันที่ 8 ธันวาคม 2564 ที่ศาลรัฐธรรมนูญ องค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จะอ่านคำวินิจฉัยในคดีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 วรรคสี่ 170 สรรคสาม ประกอบมาตรา 82 ว่าสมาชิกสภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101(6) ประกอบมาตรา 98(4) (6) และมาตรา 96(2) และความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 (4) ประกอบมาตรา 160 (6) (7) มาตรา 98 (4) (6) และมาตรา 96(2) หรือไม่

กกต. (ผู้ร้อง) ส่งคําร้องขอให้พิจารณาวินิจฉัยกรณีนายชุมพล จุลใส ผู้ถูกร้องที่ 1 นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ ผู้ถูกร้องที่ 2 นายอิสสระ สมชัย ผู้ถูกร้องที่ 3 นายถาวร เสนเนียม ผู้ถูกร้องที่ 4 และนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ ผู้ถูกร้องที่ 5 เนื่องจากศาลอาญามีคําพิพากษาในคดีอาญา หมายเลขแดงที่ อ 317/2564 ลงโทษจําคุกผู้ถูกร้องทั้ง 5 และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้ถูกร้องที่ 1 ผู้ถูกร้องที่ 3 และผู้ถูกร้องที่ 5 มีกําหนด 5 ปีนับแต่วันมีคําพิพากษา โดยศาลอาญาออกหมายจําคุกระหว่าง อุทธรณ์ฎีกาและขังผู้ถูกร้องทั้ง 5 ที่เรือนจําพิเศษกรุงเทพมหานคร ผู้ร้องจึงยื่นคําร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย

ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 วรรคสี่ และมาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 และขอให้มีคําสั่ง ให้ผู้ถูกร้องทั้ง 5 หยุดปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 วรรคสอง ศาลรัฐธรรมนูญมีคําสั่งรับคําร้องเฉพาะ ในส่วนที่ขอให้วินิจฉัยว่าสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของผู้ถูกร้องทั้ง 5 สิ้นสุดลงไว้พิจารณาวินิจฉัย ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 วรรคสี่ประกอบวรรคหนึ่ง

และมีคําสั่งให้ผู้ถูกร้องทั้งห้าหยุดปฏิบัติหน้าที่นับแต่วันที่ 7 เมษายน 2564 จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคําวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 วรรคสอง ผู้ถูกร้องทั้ง 5 ยื่นคําชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา ศาลรัฐธรรมนูญมีคําสั่งรับคําชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาดังกล่าวรวมไว้ในสํานวน และเห็นว่า คดีเป็นปัญหาข้อกฎหมายและมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้

จึงยุติการไต่สวนตามพระราชบัญญัติ ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 58 วรรคหนึ่ง และกําหนด ประเด็นที่ต้องพิจารณาวินิจฉัยว่า สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของผู้ถูกร้องทั้ง 5 สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101(6) ประกอบมาตรา 98(4) (6) และมาตรา 96 (2) หรือไม่ นับแต่เมื่อใด

ทั้งนี้ ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์วินิจฉัยว่า ผู้ถูกร้องที่ 1 ผู้ถูกร้องที่ 3 และผู้ถูกร้องที่ 5 (นายชุมพล นายอิสสระ และนายณัฏฐพล) ต้องคําพิพากษาของศาลอาญาให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง เป็นเหตุให้สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ของนายชุมพล นายอิสสระ และนายณัฏฐพล จึงสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบ มาตรา 98 (4) และมาตรา 96 (2) นับแต่วันที่ 7 เมษายน 2564 ซึ่งเป็นวันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคําสั่งให้ ผู้นายชุมพล นายอิสสระ และนายณัฏฐพล หยุดปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 วรรคสอง

ศาลรัฐธรรมนูญมีมติโดยเสียงข้างมาก 6 ต่อ 3 วินิจฉัยว่า ผู้ถูกร้องทั้ง 5 ต้องคําพิพากษา ของศาลอาญาให้จําคุกและถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาลอาญา เป็นเหตุให้สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ของผู้ถูกร้องทั้ง 5 จึงสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (6) นับแต่วันที่ 7 เมษายน 2564 ซึ่งเป็นวันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคําสั่งให้ผู้ถูกร้องทั้งห้าหยุดปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 วรรคสอง

เมื่อสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของผู้ถูกร้องที่ 1 (นายชุมพล) และผู้ถูกร้องที่ 4 (นายถาวร) สิ้นสุดลง ทําให้ มีตําแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งว่างลงและต้องดําเนินการตราพระราชกฤษฎีกาเพื่อจัดให้มี การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งขึ้นแทนตําแหน่งที่ว่างภายใน 45 วัน

นับแต่วันที่ตําแหน่ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรว่างลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 105 วรรคหนึ่ง (1) ประกอบมาตรา 102 จึงให้ถือว่าวันที่ตําแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรว่างลง คือ วันที่ศาลรัฐธรรมนูญอ่านคําวินิจฉัยให้แก่คู่กรณีฟัง โดยชอบตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2562 มาตรา 76 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติให้คําวินิจฉัยของศาลมีผลในวันอ่าน คือ วันที่ 8 ธันวาคม 2564

เมื่อสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของผู้ถูกร้องที่ 2 (นายพุทธิพงษ์) และผู้ถูกร้องที่ 3 (นายถาวร) สิ้นสุดลง ทําให้มีตําแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อว่างลง ประธานสภาผู้แทนราษฎรต้องประกาศ ให้ผู้มีชื่ออยู่ในลําดับถัดไปในบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองนั้นเลื่อนขึ้นมาเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แทนตําแหน่งที่ว่างลง

โดยต้องประกาศในราชกิจจานุเบกษาภายใน 7 วันนับแต่วันที่ตําแหน่งนั้นว่างลง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 105 วรรคหนึ่ง (2) จึงให้ถือว่าวันที่ตําแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรว่างลง คือ วันที่ ศาลรัฐธรรมนูญอ่านคําวินิจฉัยให้แก่คู่กรณีฟังโดยชอบตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 76 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติให้คําวินิจฉัยของศาลมีผล ในวันอ่าน คือ วันที่ 8 ธันวาคม 2564

สําหรับกรณีสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของผู้ถูกร้องที่ 5 (นายณัฏฐพล) ว่างลงนับแต่เมื่อใดนั้น เห็นว่า ผู้นายณัฏฐพลมีหนังสือขอลาออกจากตําแหน่ง ต่อมามีประกาศสภาผู้แทนราษฎร ลงวันที่ 31 พฤษภาคม 2564 ให้ผู้มีชื่อในลําดับถัดไปในบัญชีรายชื่อของพรรคพลังประชารัฐเลื่อนขึ้นมาเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแทนตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 105 วรรคหนึ่ง (2) ในวันดังกล่าวแล้ว จึงไม่จําต้องวินิจฉัย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้ สมาชิกสภาพ ส.ส.ของ นายพุทธิพงษ์ และต้องเลื่อนรายชื่อผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคพลังประชารัฐในลำดับถัดไปขึ้นมาแทน โดยต้องประกาศในราชกิจจานุเบกษาภายใน 7 วันนั้น คนที่ถูกเลื่อนขึ้นมาแทน คือ นายต่อศักดิ์ อัศวเหม ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อลำดับที่ 22 โดยนายต่อศักดิ์อยู่ในกลุ่มสมุทรปราการก้าวหน้า และเป็นญาติของ นายชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม ประธานหอการค้าสมุทรปราการ

โดยนายต่อศักดิ์ ให้สัมภาษณ์ว่า เพิ่งทราบเรื่องดังกล่าว และขณะนี้รอดำเนินการตามขั้นตอนของสภาฯต่อไป ส่วนตนปัจจุบันไม่ได้ดำรงตำแหน่งอะไร จึงไม่มีปัญหา พร้อมทำหน้าที่ ส.ส.

ด้านนายถาวร กล่าวว่า แม้ตนจะยอมรับโดยหลักการ แต่เหตุผลตนไม่เชื่อถือ เพราะกฎหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา 125 ระบุว่าเปิดโอกาสให้ศาลพิจารณาคดีในสมัยการประชุมได้ แต่จะไปขัดขวางการทำหน้าที่ไปประชุมของสมาชิกไม่ได้ ศาลรัฐธรรมนูญเขียนคำวินิจฉัยเอาไว้ว่าเมื่อพิพากษาเสร็จแล้ว ไม่ใช่กระบวนการพิจารณา

เพราะฉะนั้นจะนำมาตรา 125 วรรคสี่มาบังคับใช้ไม่ได้ ถามกลับไปว่าการใช้ดุลพินิจในการให้ประกันตัว ส่งคดีไปยังศาลอุทธรณ์ การใช้ดุลพินิจในการไม่ให้ประกันตัว นั่นเขาเรียกว่าอะไร เขาไม่เรียกว่ากระบวนการพิจารณาโดยใช้ดุลพินิจของศาลหรือ

แต่เมื่อศาลใช้แนวทางอย่างนี้ต่อไป ถ้าหากว่าฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายผู้มีอำนาจรัฐจับกุม ส.ส.สัก 20 คน ขังสัก 1 นาที ส.ส.เหล่านั้นก็จะขาดการเป็นสมาชิกภาพ ไม่สามารถประชุมลงมติได้ ก็จะมีการกลั่นแกล้ง แนวทางนี้ขอความกระจ่างจากศาลรัฐธรรมนูญในการใช้ทัศนคติ วิสัยทัศน์ในการมองการณ์ไกลสำหรับวงการการเมือง อย่างไรก็ตาม ตนยอมรับโดยดุษณีภาพ ซึ่งจะไปร้องแรกแหกกระเชอไม่ได้

“ด้วยน้ำตาตกใน ด้วยอกระทม ด้วยความเจ็บปวด ที่ไม่มีคำบรรยายใดๆ ทั้งสิ้น ที่จะบอกพี่น้องประชาชนพรรคประชาธิปัตย์ บอกกรรมการบริหาร บอกบรรพบุรุษของพรรคประชาธิปัตย์ว่าผมสิ้นแล้ว สิ้นเกียรติยศที่จะเป็นสมาชิกพรรค ด้วยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ต้องกราบขออภัยที่ทำให้พรรคมัวหมอง ขอกราบขอโทษผู้หลักผู้ใหญ่ของพรรคที่ทำให้ท่านผิดหวัง”นายถาวร กล่าว