นโยบายใหม่ ประยุทธ์ สั่งบรรจุ “1 ข้าราชการชายแดนใต้ 1 ครัวเรือน”

ประยุทธ์ ลงใต้ ยะลา-ปัตตานี นำร่อง “1 ข้าราชการ ศอ.บต. 1 ครัวเรือนยากจน” ศอ.บต.319 คน ประกบครัวเรือนยากจน 379 ราย

วันที่ 15 ธันวาคม 2564 ที่อาคารศูนย์ราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตำบลสะเตง อำเภอเมืองยะลา จังหวัดยะลา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เดินทางมาติดตามงานด้านความมั่นคงและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมฟังรายงานผลสำเร็จการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และมอบพันธุ์กล้าไม้ให้แก่ผู้แทนเกษตรกร จำนวน 3 ราย

ได้แก่ พันธุ์ทุเรียนหมอนทอง ราชาผลไม้ที่สร้างรายได้จำนวนมากให้พื้นที่ พันธุ์กาแฟโรบัสต้าที่เหมาะกับพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และพันธุ์ไผ่พื้นเมือง โดยมีคณะรัฐมนตรี อาทิ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รมช.กลาโหม นายนิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย ร่วมตรวจเยี่ยมครั้งนี้ด้วย นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญดังนี้

นายกรัฐมนตรีกล่าวคิดถึงและห่วงใยประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ถือเป็นพื้นที่อ่อนไหวที่ทั้งความมั่นคงและเศรษฐกิจ ซึ่งรัฐบาลให้ความสำคัญที่จะเร่งแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นให้เกิดผลเป็นรูปธรรมตามเป้าหมายโดยเร็ว รวมทั้งจะดำเนินการใหม่ ๆ เพื่อประโยชน์ต่อประชาชนและพื้นที่ด้วย

โดยให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำ Agri-Map ซึ่งเป็นแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุกในการปลูกพืชให้เหมาะสมกับพื้นที่ แก้ปัญหาหนี้สิน จัดตั้งวิสาหกิจชุมชนเกิดขึ้น โดยขอให้ ศอ.บต. ช่วยขับเคลื่อนเรื่องการค้าขายออนไลน์ด้วย และให้มีการบูรณาการร่วมกันระหว่าง ศอ.บต. ทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้อง และภาคส่วนในพื้นที่

นายกรัฐมนตรียังพอใจต่อการดำเนินการเรื่องการแก้ปัญหาความรุนแรงในพื้นที่พบว่า สถิติลดลงแม้ยังมีความรุนแรงอยู่ จึงฝากประชาชนทุกคนและทุกภาคส่วนร่วมมือกันแก้ไขปัญหาช่วยกันเฝ้าระมัดระวังร่วมกับเจ้าหน้าที่ โดยยกตัวอย่างการดำเนินการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ของรัฐบาล ด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและทุกภาคส่วนในพื้นที่

ยกตัวอย่างเช่น กรณีการดำเนินการขยายผลโครงการเมืองต้นแบบ “สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ไปสู่เมืองต้นแบบที่ 4 อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา “เมืองต้นแบบอุตสาหกรรม ก้าวหน้าแห่งอนาคต” ที่ให้จัดทำ SEA หรือผลการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment: SEA) โดยรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ประกอบการดำเนินการด้วย

ทั้งนี้ รัฐบาลอยากเห็นประชาชนอยู่ดี กินดี มีความสุข สามารถลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมให้เกิดความเท่าเทียมกัน เกิดสังคมที่เป็นธรรม มีพหุวัฒนธรรมที่สร้างสรรค์และมีคุณค่า ประชาชนอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข และได้รับโอกาสจากการพัฒนาของรัฐบนฐานศักยภาพของตนเอง ต่อยอดไปสู่การมีชุมชนที่เข้มแข็ง สังคมที่แข็งแรงและประเทศชาติที่มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน

พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรีชื่นชมความก้าวหน้าในการพัฒนาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เช่น การขับเคลื่อนโครงการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้เป็น “เมืองแห่งปูทะเลโลก” ให้ประชาชนมีอาชีพ มีรายได้จากการเลี้ยงปูทะเล การพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้เป็น “เมืองแห่งพืชพลัง” เป็นวัตถุดิบให้กับโรงงานและโรงไฟฟ้าในพื้นที่ เป็น “เมืองแห่งปศุสัตว์ฮาลาลจังหวัดชายแดนภาคใต้” และ “เมืองแห่งผลไม้” อีกด้วย

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีมอบหมาย ศอ.บต. ทำงานร่วมกับส่วนราชการให้เป็นรูปธรรม อย่างน้อย 3 เรื่องสำคัญ ได้แก่ 1. จัดตั้งห้องเรียนวิทยาศาสตร์ตามแนวทางโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณ์ราชวิทยาลัย 2. จัดตั้งโรงเรียนเทคโนโลยีและนวัตกรรมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ 3. การจัดสร้าง “หอเฉลิมพระเกียรติสถาบันพระมหากษัตริย์กับการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้” น้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณในสถาบันพระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ที่มีต่อพสกนิกรในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

รวมไปถึงการขยายผลโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ตลอดจนส่งเสริมการจัดการแข่งขันระดับโลก อาทิ การวิ่งเทรล ณ พื้นที่อำเภอเบตง จังหวัดยะลา และการวิ่งมาราธอนระดับโลกในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีชื่นชมการดำเนินงานของกิจกรรมต่าง ๆ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ย้ำให้ประชาชนเปิดใจและเปิดตาให้กว้าง หาความรู้จากเทคโนโลยีสมัยใหม่และดิจิทัล หรือสื่อออนไลน์ เพื่อนำกลับมาพัฒนาศักยภาพตนเองให้ดียิ่งขึ้น โดยนายกรัฐมนตรีจะติดตามการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องใกล้ชิด ซึ่งทุกอย่างจะสำเร็จได้ ทุกคนต้องร่วมมือกันทั้งภาครัฐบาล หน่วยงานในพื้นที่ และภาคประชาชน

จากนั้น นายกรัฐมนตรีเยี่ยมชมกิจกรรมในการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ 1) การขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี “เก้าอี้สุขใจสู่รองเท้าสั่งตัด” และการนำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ในการวินิจฉัยความพิการ

2) นายกรัฐมนตรีเปิดปฏิบัติการ “การขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้” ภายใต้กรอบแนวทาง “1 ข้าราชการ ศอ.บต. 1 ครัวเรือนยากจน” และ 3) การส่งเสริมการเรียนรู้การใช้ภาษาไทยเพื่อการสื่อสาร “การสอนภาษาไทยในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน” และ “การใช้สื่อสร้างสรรค์ส่งเสริมการเรียนรู้ภาษาไทยควบคู่ภาษาพื้นถิ่น”

พร้อมชมนิทรรศการการดำเนินงานต่าง ๆ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และการพัฒนาพื้นที่เมืองต้นแบบเบตง จังหวัดยะลา “Amazean Jungle Trail” ก่อนตรวจเยี่ยมการบริหารจัดการน้ำพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดอุทกภัยของศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าจังหวัดชายแดนภาคใต้

หลังจากนั้น ณ ห้องประชุมชั้น 2 อาคารศูนย์ราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ อ.เมืองยะลา จ.ยะลา พล.อ.ประยุทธ์ เป็นประธานประชุมการบูรณาการแก้ไขสถานการณ์โควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ งานด้านความมั่นคง และด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมี พล.ร.ต.สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ พล.ท.เกรียงไกร ศรีรักษ์ แม่ทัพภาคที่ 4 ผู้อํานวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา ปัตตานี นราธิวาส สงขลา สตูล และหัวหน้าส่วนราชการเข้าร่วมประชุม

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญของการประชุม ดังนี้ เลขาธิการ ศอ.บต. รายงานความคืบหน้าการดำเนินงานพัฒนาแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (จชต.) ตอนหนึ่งว่า ได้ดำเนินงานผ่านกลไก 2 ส่วนในการพัฒนา คือ ตามแผนบูรณาการแก้ไขปัญหา จชต. และกลไกคณะกรรมการยุทธศาสตร์การพัฒนา จชต. (กพต.)

ในส่วนของการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในพื้นที่ สนับสนุนการฝึกทักษะเพื่อประกอบอาชีพอิสระ จำนวน 6,178 ราย สนับสนุนให้มีการรวมกลุ่มอาชีพ ในชุมชน 2,952 ราย จัดส่งไปทำงานโรงงานในพื้นที่ 840 ราย นอกพื้นที่ 3,448 ราย ส่วนการพัฒนาในระดับฐานราก ตั้งแต่ครัวเรือนจนถึงตำบล ศอ.บต. ขับเคลื่อนผ่านโครงการมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน

พร้อมแก้ไขปัญหาระดับอนุภูมิภาค ได้เร่งแก้ปัญหาความยากจนแบบแม่นยำ ภายใต้โครงการนำร่อง 1 ข้าราชการ 1 ครัวเรือนยากจน มอบข้าราชการและเจ้าหน้าที่ ศอ.บต. จำนวน 319 คน ประกบครัวเรือนยากจนนำร่อง 379 ราย โดยใช้ข้อมูลคนจน (TPMAP) เพื่อกำหนดเป้าหมายเร่งด่วน ตามแผนโครงการปี 2565 ต่อเนื่องถึงปี 2566 มีเป้าหมายให้ครัวเรือนยากจนมาก พ้นเกณฑ์ความจน 5 มิติ โดยผลักดันร่วมกับหน่วยงานบูรณาการด้านการพัฒนา 38 หน่วยงาน

นอกจากนี้ ศอ.บต. ยังสนับสนุนพื้นที่ จชต. ให้เป็นเมืองผลไม้ โดยในปี 2564 มีการส่งออกทุเรียน เงาะ มังคุด ลองกอง ทั้งแบบสดและแปรรูปมูลค่ากว่า 5,747 ล้านบาท จำหน่ายทั้งตลาดภายในและส่งออกไปต่างประเทศ ด้านโครงข่ายคมนาคมจังหวัดชายแดนใต้มีความคืบหน้าทั้งทางบก ทางราง ทางอากาศ และทางน้ำ ภาพรวมโครงสร้างพื้นฐานมีการเปลี่ยนแปลงชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

โอกาสนี้ แม่ทัพภาคที่ 4 กล่าวสรุปงานความมั่นคงว่า การก่อเหตุความรุนแรงในพื้นที่ลดลง มีแนวโน้มที่ดีตามลำดับ แต่ยังพบการก่อเหตุเชิงสัญลักษณ์ผ่านรูปแบบต่าง ๆ เพื่อหล่อเลี้ยงความรุนแรงให้คงอยู่ โดยในปี 64 มีการก่อเหตุเพิ่มขึ้นจากปี 63 คิดเป็นร้อยละ 37.5 ทั้งนี้ มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บลดลง ความเชื่อมั่นด้านความมั่นคงในพื้นที่เพิ่มขึ้น

ทั้งนื้ นายกรัฐมนตรีกล่าวขอบคุณทุกภาคส่วนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่บูรณาการร่วมมือทำงานแกัไขปัญหาอย่างเต็มที่ ช่วยกันแก้ไขปัญหาไปในทางที่ดีขึ้น รัฐบาลทำงานภายใต้ระบอบประชาธิปไตย ภายใต้กรอบของกฎหมาย ยืนยันรัฐบาลทำทุกอย่างถูกต้องตามหลักสากล ขอให้ร่วมมือกับภาครัฐในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ซึ่งที่ผ่านมาทั่วโลกและไทยประสบปัญหาการแพร่ระบาดโควิด-19

โดยเฉพาะเรื่องงบประมาณทำให้ต้องบริหารการใช้งบประมาณให้เกิดประสิทธิภาพ ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศชาติมากที่สุด ในส่วนของการฉีดวัคซีน นายกรัฐมนตรีกำชับส่วนราชการในพื้นที่เร่งฉีดวัคซีนให้ประชาชนมากที่สุด ส่งเสริมประชาชนให้เข้ารับการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ในเบื้องต้น เพื่อลดอัตราการเสียชีวิต

ทั้งนี้ ประชาชนทุกคนต้องรับผิดชอบต่อสังคม และไม่ตื่นตระหนกจนเกินไป ขอให้รับฟังข้อมูลข่าวสารอย่างมีเหตุผล ในด้านความมั่นคง นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำให้เตรียมรับมือภัยในรูปแบบใหม่ด้านต่าง ๆ สิ่งสำคัญคือต้องช่วยกันสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง อย่าสร้างความเกลียดชังขึ้นในสังคม ทุกคนต้องอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข และที่สำคัญทุกคนต้องเข้มแข็ง มีความสามัคคี มีความรักชาติ ศาสนา ต้องยืนหยัดต่อสู้กับปัญหาไปให้ได้ด้วยความเป็นไทย

นายกรัฐมนตรีกล่าวย้ำว่า รัฐบาลมีเจตนารมณ์มุ่งมั่นขับเคลื่อนงานด้านความมั่นคง และงานด้านการพัฒนาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยกให้เป็นเรื่องสำคัญเร่งด่วน โดยกำหนดเป้าหมายตัวชี้วัดผลสัมฤทธิ์ว่าเหตุการณ์ในพื้นที่ต้องลดลง ขณะที่อัตราการพัฒนาทางเศรษฐกิจต้องสูงขึ้นในทุกด้าน เพื่อวัดผลสัมฤทธิ์ของการปฏิบัติงานของทุกส่วนราชการร่วมกัน เพื่อประโยชน์และความสุขของประชาชนและประเทศชาติต่อไป