ประวิตรเคาะ แผนดับไฟใต้ปี’70 ยุติความรุนแรง-สร้างสันติสุข

ประวิตรเคาะ แผนปฏิบัติการด้านการบริหารและการพัฒนา จชต. 5 ปี ตั้งเป้า ดับไฟใต้ปี’70 ขจัดเงื่อนไขเก่า ไม่ก่อเงื่อนไขใหม่ สร้างสันติสุขชายแดนใต้

วันที่ 16 ธันวาคม 2564 พล.อ.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม เปิดเผยว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ครั้งที่ 3/64 ณ ห้องประชุม สมช. ทำเนียบรัฐบาล เพื่อติดตามสถานการณ์สำคัญและการขับเคลื่อนแก้ปัญหาในพื้นที่

พล.อ.คงชีพกล่าวว่า ที่ประชุมรับทราบ แนวโน้มสถานการณ์ในพื้นที่และสถานการณ์โควิด-19 และการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารแก้ไขปัญหา จชต.โดยกลไกใน 3 ระดับ ทั้งระดับนโยบาย การแปลงนโยบายไปสู่การปฏิบัติ และการขับเคลื่อนระดับพื้นที่

รวมทั้งการกำหนดคณะกรรมการผู้แทนพิเศษของรัฐบาล เพื่อประสานงานระหว่าง ครม.ราชการส่วนกลางและหน่วยงานในพื้นที่ รวมทั้งรับทราบความคืบหน้าการดำเนินงานตำบลมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ใน จชต.ผ่านกลไกสภาสันติสุขตำบล

พล.อ.คงชีพกล่าวว่า ต่อจากนั้นได้ร่วมพิจารณา และให้ความเห็นชอบ (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านการบริหารและการพัฒนา จชต. ปี’66-70 โดยมุ่งให้ภาคใต้มีความสงบสุข เหตุการณ์ความรุนแรงยุติได้ในปี’70 และขจัดเงื่อนไขเก่าที่มีอยู่ให้หมดสิ้นไป ตลอดจนเงื่อนไขใหม่ไม่เกิดขึ้น

นอกจากนี้ ยังเห็นชอบแนวทางการขับเคลื่อนศูนย์พัฒนาทักษะภาษา เพื่อสื่อสารในพื้นที่ จชต. ที่จะจัดตั้งขึ้นนำร่อง 184 ศูนย์ในพื้นที่ 3 จชต.และ 4 อำเภอสงขลา มีกระทรวงศึกษาธิการ รับผิดชอบ

พล.อ.คงชีพกล่าวว่า ต่อจากนั้นได้ร่วมพิจารณาแต่งตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนงานภายใต้ คปต.ในแต่ละด้าน ทั้งด้านความมั่นคง ด้านการพัฒนา และด้านบริหารจัดการและประเมินผล

“พล.อ.ประวิตร เป็นห่วงการแพร่ระบาดของโควิด 19 ในพื้นที่ โดยย้ำให้ทุกหน่วยงานบูรณาการสร้างความร่วมมือกับผู้นำทางศาสนาและผู้นำท้องถิ่น เข้ามามีส่วนร่วมสร้างความเข้าใจกับพี่น้องประชาชนให้เห็นถึงความสำคัญของการฉีดวัคซีน และมาตรการป้องกันโควิดของภาครัฐมากขึ้น”

รวมทั้งดูแลผู้ได้รับผลกระทบจากการฉีดวัคซีน เพื่อให้สามารถควบคุมโรคในพื้นที่ได้ ขณะเดียวกัน การขับเคลื่อนสภาสันติสุข ต้องเน้นการมีส่วนร่วมและตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง

พล.อ.คงชีพกล่าวว่า สำหรับโครงการและกิจกรรมทุกด้าน ต้องเป็นงานที่สามารถขับเคลื่อนให้บรรลุเป้าหมายของแผนปฏิบัติการได้จริงและให้ถือแผนปฏิบัติการ เป็นกรอบดำเนินงานในพื้นที่ โดยเฉพาะด้านการศึกษาและสังคมพหุวัฒนธรรม ต้องตอบโจทย์การแก้ปัญหาในระดับโครงสร้างเงื่อนไขทางวัฒนธรรมให้ได้ โดยดึงทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วม


“พร้อมกำชับว่าการดำเนินงานยุติความรุนแรงในพื้นที่และการขจัดเงื่อนไขต่างๆ ที่เป็นปัญหา ต้องเป็นไปตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง โดยไม่สร้างเงื่อนไขใหม่ เพื่อความสงบสันติสุขร่วมกันของประชาชนอย่างแท้จริง”