ครม.ไฟเขียว ออกกฎคุมเงื่อนไข ลดจ่ายโบนัสพนักงาน-กรรมการ 9 รัฐวิสาหกิจ

วันนี้ (4 ธ.ค.) นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบหลักเกณฑ์การจ่ายโบนัสกรรมการ พนักงาน และลูกจ้างบริษัทในเครือที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐวิสาหกิจซึ่งจะใช้บังคับกับรัฐวิสาหกิจ 9 บริษัทที่ไม่ได้เข้าตลาดหลักทรัพย์และบริษัทแม่ก็ไม่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ส่วนหลักเกณฑ์อัตราการจ่ายโบนัสให้กับกรรมการบริษัท กรณีบริษัทมีกำไรสุทธิไม่เกิน 100 ล้านบาท จะได้โบนัส 3 %ของกำไรสุทธิ แต่ไม่เกินคนละ 60,000 บาท โดยจะไล่เป็นขั้นบันไดไปเรื่อยๆ เช่นกำไร 101-300 ล้านบาท จะได้โบนัส 3%และไม่เกิน 65,000 บาท ไปจนถึงกำไรสุทธิ 11,001-13,000 ล้านบาท จะได้รับโบนัสไม่เกิน 130,000 บาท

ทั้งนี้ หากกำไรมากกว่า 13,000 ล้านบาท ให้โบนัสเพิ่มอีก 10,000 บาท จากทุกกำไร 2,000 ล้านบาทที่เพิ่มขึ้น โดยที่ประธานบริษัทจะได้รับเพิ่ม1 ใน 4 และรองประธานได้เพิ่ม 1 ใน 8 ของกรรมการบริษัท ขณะเดียวกันยังมีหลักเกณฑ์สำหรับกรรมการที่ขาดประชุมด้วย โดยกรรมการที่ขาดประชุมเกิน 3 เดือนแต่ไม่เกิน 6 เดือน ให้จ่ายโบนัสลดลง 25% , ขาดประชุมเกิน 6 เดือน แต่ไม่เกิน 9 เดือน จ่ายโบนัสลดลง 50% และขาดประชุมเกิน 9 เดือน ให้จ่ายโบนัสลดลง 75%

สำหรับหลักเกณฑ์ใหม่จะทำให้ อัตราการจ่ายโบนัสลดลงกว่าเดิม เพราะมีเพดานขั้นสูงกำหนดไว้ บริษัทในเครือ รสก.ที่ไม่เป็น บจ.จ่าย จะสามารถจ่ายโบนัสพนักงานไม่เกิน 9% ของกำไรสุทธิ หรือไม่เกิน 5 เท่าของเงินเดือน กรณีกำไรจ่ายในวงเงินไม่เกิน 9% ของเงินเดือน แต่มีอัตราต่ำกว่า 1 เท่าของเงินเดือนให้จ่าย 1เท่าของเงินเดือน กรณีมีกำไรสุทธิน้อยกว่า 1 เท่าของเงินเดือน ให้เฉลี่ยจ่ายโบนัสตามส่วนของกำไรสุทธ ส่วนพนักงานที่ลาศึกษาต่อหรือได้ทุนศึกษาต่อในต่างประเทศนานกว่า 4 เดือน ให้จ่ายโบนัสตามระยะเวลาที่ทำงานจริง

 นายณัฐพร กล่าวว่า หลักเกณฑ์ การจ่ายโบนัสกรรมการ พนักงาน และลูกจ้าง วิสาหกิจที่ไม่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ให้มีการประเมินผลการดำเนินงาน 3 มิติคือ ด้านการดำเนินการตามวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งและแผนยุทธศาสตร์, ด้านผลการดำเนินงาน ทั้งด้านการเงินและที่ไม่ใช่ด้านการเงิน และการบริหารจัดการองค์กร ซึ่งการจ่ายโบนัสกรรมการและพนักงานของบริษัทในเครือให้อิงตามผลการประเมินทั้ง 3 มิติ และต้องไม่ส่งผลทางลบต่อมาตรฐานและคุณภาพการให้บริการหรือการผลิตของบริษัท การคำนวณการจัดสรรโบนัสต้องมาจากกำไรที่เกิดจากผลการดำเนินงานประจำปี โดยห้ามนำรายได้จาก 6 ส่วนไปคำนวณจัดสรรโบนัสได้แก่ กำไรจากการเอาประกัน, ดอกเบี้ยเงินฝากธนาคาร เงินกู้ และเงินลงทุนในหลักทรัพย์ของรัฐ,กำไรจากการขายที่ดิน อาคาร โรงงาน สิ่งปลูกสร้างและส่วนควบ,กำไรจากการตีราคาทรัพย์สินใหม่,เงินอุดหนุนที่ได้รับจากรัฐบาล ยกเว้นเงินอุดหนุนตามระบบการให้บริการสาธารณะ และกำไรหรือผลขาดทุนจากการเปลี่ยนแปลงค่าเงินตรา

สำหรับรายชื่อทั้ง 9 บริษัทประกอบด้วย บริษัท พีอีเอ เอ็นคอม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด บริษัทในเครือของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค, บริษัท เอ ซี ที โมบาย จำกัด ในเครือทีโอที, บริษัทผลิตไฟฟ้าและน้ำเย็น จำกัดในเครือ กฟผ. ปตท และการไฟฟ้านครหลวง, บริษัท ไปรษณีย์ไทยดิสทริบิวชั่น จำกัด ในเครือไปรษณีย์ไทย, บริษัท ไทยแลนด์ พริวิเลจ คาร์ด จำกัด ในเครือการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.), บริษัท กฟผ. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ในเครือกฟผ., บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (รฟฟท.) ในเครือการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และ บริษัท โครงข่ายบรอดแบนด์แห่งชาติ จำกัด (เอ็นบีเอ็น) และบริษัท โครงข่ายระหว่างประเทศและศูนย์ข้อมูลอินเทอร์เน็ต จำกัด (เอ็นจีดีซี) ที่มี ทีโอทีและกสท ถือหุ้นร่วมกัน

 

ที่มา ข่าวสดออนไลน์