“จาตุรนต์” ในเพื่อไทย ภารกิจใหม่ในบ้านเก่า

“จาตุรนต์ ฉายแสง” คืนบ้านหลังเก่าพรรคเพื่อไทย หลังหายไปนาน 2 ปีเศษตั้งเป้าหมาย “เปลี่ยนรัฐบาล” มากกว่า ดีลกันเพื่อขอตำแหน่งแห่งหนทางการเมือง

เขาบอกว่าใช้เวลา 2-3 เดือนก่อนตัดสินใจร่วมงานกลับมาพรรคเพื่อไทยอีกครั้ง

แต่ทว่า การกลับบ้านเพื่อไทยเที่ยวนี้ต้องเจอแรงเสียดทานอยู่ไม่น้อย

“วัน อยู่บำรุง” ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย ลูกชาย ร.ต.อ.เฉลิม อยูบำรุง งัดรอยแค้นเก่าส่วนตัวสมัย “รุ่นพ่อ” ยุคพรรคความหวังใหม่ มาโพสต์เฟซบุ๊กลอย ๆ ไม่บอกชื่อตัวบุคคล แต่ก็รู้ว่าหมายถึงใคร

“ยืนยันคำเดิมนะ…ไปต่อท้ายแถว พรรษาขาด ต้องนับหนึ่งใหม่ !!!!”

มิใช่เพียงแค่ตระกูล “อยู่บำรุง” แต่นักการเมืองรุ่นเด็กกว่าจากพรรคไทยรักษาชาติ ที่อพยพมาอยู่พรรคเพื่อไทยหลังจากพรรคถูกยุบก็มิได้พอใจ “จาตุรนต์” เช่นกัน เพราะไม่ได้อยู่ร่วมกันเมื่อตอนที่พรรคถูกยุบ

การกลับเข้าพรรคเพื่อไทย “จาตุรนต์” อาจต้องพิสูจน์ตัวเองเพื่อลบคำครหา-คำปรามาสอยู่พอสมควร

ตำแหน่งใหม่ที่พรรคมีไว้ต้อนรับ “จาตุรนต์” คือ รองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์และทิศทางทางการเมืองของพรรคเพื่อไทย ซึ่งมี “ชัยเกษม นิติสิริ” เป็นประธาน ซึ่งแกนนำพรรคเพื่อไทยยืนยันว่า “จาตุรนต์” จะมีบทบาทอย่างมากแน่นอนในปี 2565

อย่างไรก็ตาม “จาตุรนต์” วิเคราะห์ถึงโอกาสที่พรรคเพื่อไทยจะแลนด์สไลด์ว่า การเลือกตั้งพรรคร่วมรัฐบาลจะลดความได้เปรียบที่เห็นได้ชัด คือการเลือกตั้งครั้งที่แล้วรัฐบาล คสช.ไม่ได้เป็นรัฐบาลรักษาการ สามารถใช้งบประมาณหลายหมื่นล้านทำโครงการชื่อเดียวกับพรรคการเมืองที่ลงเลือกตั้ง และสามารถอนุมัติโครงการ อนุมัติการโยกย้ายได้หมดระหว่างหาเสียงเลือกตั้ง ทำให้เขาได้เปรียบมาก ครั้งต่อไปนี้ไม่มีแล้ว

กับอีกอย่างหนึ่ง เมื่อรัฐบาลบริหารงานมาระยะหนึ่งแล้วมาเจอกับสถานการณ์โควิด-19 การฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ล่าช้าตกขบวน ความเสียหายที่มากเกินจำเป็น และการเยียวยาที่น้อยและล่าช้าทำให้รัฐบาลเสื่อมความนิยมลงมาก และปัญหาความไม่เป็นประชาธิปไตยเกิดขึ้นชัดเจน คนที่อยากให้บ้านเมืองเป็นฝ่ายประชาธิปไตยไม่สนับสนุนฝ่ายรัฐบาล

โอกาสที่พรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยได้เสียงมากขึ้น หรือได้เสียงเกินครึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิ พรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยเพื่อไทยเป็นพรรคที่ใหญ่กว่าพรรคอื่น มีความพร้อม ระดมคนได้มาก จากนี้ไปขึ้นอยู่กับว่านำเสนอนโยบายได้เข้าตาประชาชนมากน้อยแค่ไหน มีการทำงานทั้งในสภา นอกสภา ใกล้ชิดกับประชาชนมากน้อยแค่ไหน

ถ้าทำได้ดีโอกาสที่จะได้เสียงข้างมากกว่าครั้งที่แล้วมีอีกมาก เพราะระบบการเลือกตั้งไม่เหมือนเดิมก็มีโอกาสได้เสียงมาก