มวลชน 3 กลุ่มจุดพลุประชามติ ล้างมรดก คสช.ร่างรัฐธรรมนูญใหม่

ในปี 2565 เกมแก้รัฐธรรมนูญจะเป็นอีกวาระที่อาจทำให้การเมืองร้อนฉ่าและโยนภาระการตัดสินใจมาที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

นั่นเพราะจะมีการชง “ประชามติ” ให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับจากหลายกลุ่ม

หลังพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนกันยายนปี 2564

ขณะนี้เหลือเพียงร่างข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่…) พ.ศ… ที่พิจารณาอยู่ในชั้นกรรมาธิการวิสามัญ หลังจากสภาอนุมัติ ฝ่ายค้านจะคิกออฟยื่นประชามติทันที เนื่องจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่มีมติ 8 ต่อ 1 เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2564 ว่า

“รัฐสภามีอำนาจหน้าที่จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้โดยต้องให้ประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญได้ลงประชามติเสียก่อนว่า ประชาชนประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ และเมื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จแล้วลงประชามติอีกครั้ง”

ทั้งนี้ ในร่างข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร อันเป็น “ข้อบังคับ” เกี่ยวกับเรื่องการลงมติประเด็นประชามติส่งให้คณะรัฐมนตรีไปพิจารณา มีอยู่ 2 ฉบับ คือ ฉบับของพรรคพลังประชารัฐ กับฉบับของพรรคเพื่อไทย มีเนื้อหา-สาระสำคัญคล้ายกัน

ฉบับของพรรคพลังประชารัฐกำหนดขั้นตอนว่า 1.สมาชิกผู้เสนอญัตติจะต้องมีจำนวนสมาชิกรับรองไม่น้อยกว่า 20 คน 2.ญัตติดังกล่าวต้องมีสาระสำคัญของเรื่องที่จะขอทำประชามติในลักษณะที่ประชาชนจะสามารถเข้าใจได้โดยสะดวก 3.เมื่อที่ประชุมเห็นชอบญัตติดังกล่าวแล้วให้สภาส่งผลการลงมติแจ้งไปยัง ส.ว.เพื่อให้ลงมติ

4.กรณี ส.ว.ส่งผลการลงมติกลับมายังสภา ให้บรรจุเข้าระเบียบวาระการประชุมเป็นเรื่องด่วน 5.เมื่อที่ประชุมสภาลงมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบกับเรื่องดังกล่าวให้แจ้งผลการลงมติให้ ส.ว.ทราบ

6.เมื่อได้รับความเห็นชอบจากทั้งสองสภาให้ถือว่ารัฐสภาให้ความเห็นชอบเรื่องที่มีเหตุผลสมควรจะให้มีการออกเสียงประชามติแล้ว จากนั้นจึงส่งไปที่คณะรัฐมนตรีตามกฎหมายประชามติ

ส่วนของพรรคเพื่อไทยกำหนดว่า 1.สมาชิกที่จะเสนอญัตติให้สภามีมติจะต้องมีจำนวนสมาชิกรับรองไม่น้อยกว่า 20 คน 2.ญัตติต้องมีสาระสำคัญของเรื่องที่จะขอทำประชามติในลักษณะที่ประชาชนสามารถเข้าใจเนื้อหาสำคัญได้โดยสะดวก

3.ญัตติที่จะนำไปสู่การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เพื่อขอให้ประชาชนลงประชามติให้มีสาระสำคัญของกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพียงพอที่ประชาชนสามารถเข้าใจได้โดยสะดวก

4.เมื่อที่ประชุมสภาเห็นชอบแล้ว ให้ส่งผลการลงมติไปให้ ส.ว.ลงมติต่อไป 5.กรณี ส.ว.ส่งผลการลงมติกลับมายังสภา ให้บรรจุวาระเป็นเรื่องด่วน เมื่อที่ประชุมสภาลงมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบดังกล่าว ให้แจ้งผลการลงมติไปยังวุฒิสภาเพื่อทราบ

6.เมื่อญัตติได้รับความเห็นชอบจากทั้งสองสภา ให้ถือว่ารัฐสภาให้ความเห็นชอบ จากนั้น จึงส่งไปที่คณะรัฐมนตรีตามกฎหมายประชามติ

“นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว” หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่า รอร่างข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎรที่กำลังแก้ไขอยู่ขณะนี้บังคับใช้

เมื่อมีการบังคับใช้ฝ่ายค้านจะยื่นเรื่องที่เห็นควรให้มีการลงประชามติผ่านรัฐสภาไปยังรัฐบาล ถ้าข้อบังคับเสร็จเร็วก็สามารถยื่นภายในสมัยประชุมนี้ได้ทันที และเป็นจุดเชื่อมต่อไปยังบุคคลภายนอกเพื่อให้เคลื่อนไหวการแก้รัฐธรรมนูญ

ถ้าไม่ทันก็จะไปถึงเดือนพฤษภาคม 2565 ซึ่งจะตรงกับกลุ่มผู้ริเริ่มเชิญชวนแก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 272 ที่มี นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีต กกต.เตรียมยื่นร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเข้าสู่รัฐสภาในเวลานั้นพอดี

เหตุที่ต้องยื่นในเดือนพฤษภาคมเนื่องจากสมัยประชุมปัจจุบัน รัฐสภาได้ตีตกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของ Re-Solution ที่มีหลักการแก้ไขมาตรา 272 ไปแล้ว ดังนั้น ต้องยื่นเป็นสมัยประชุมใหม่หลัง 22 พฤษภาคม 2565

“แม้กระบวนการจะยากนิดหนึ่ง ถือว่าสำเร็จยาก ต้องผ่านสภาผู้แทนฯ ต้องผ่าน ส.ว. ทั้งสองสภาต้องเห็นชอบด้วยกันว่าจะทำประชามติสอบถามประชาชนสมควรจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่หรือไม่ ก็จะส่งไปที่คณะรัฐมนตรี เมื่อคณะรัฐมนตรีไม่มีสภาพบังคับให้ทำตาม เป็นความรับผิดชอบทางการเมือง ต้องใช้แรงกดดันจากสังคมช่วยกดดัน”

นอกจากนี้ “พริษฐ์ วัชรสินธุ” หนึ่งในแกนนำ Re-Solution พกแผนชงประชามติไว้ในใจ รอจังหวะเวลา โดยเห็นว่าพอ พ.ร.บ.ประชามติบังคับใช้ ขั้นตอนต่อไปที่น่าสนใจคือการให้ประชาชนมีส่วนร่วม

โดยการรวบรวม 5 หมื่นรายชื่อเพื่อยื่นไปที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้มีการจัดทำประชามติว่าจะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยมีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) หรือไม่

“เป็นการยื่นร่างไปที่ ครม.และนายกฯโดยตรง ไม่ต้องผ่านรัฐสภา เป็นการกดดัน พล.อ.ประยุทธ์ว่าจริงใจแค่ไหนกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะประกาศในปีแรกที่รับตำแหน่งว่าเป็น 1 ใน 12 นโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล”

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมามีการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญในรัฐสภามาแล้ว 3 รอบนับนิ้วแล้วมีถึง 21 ฉบับที่ผ่านเข้าสู่การพิจารณาของสภาอันทรงเกียรติ

ครั้งแรกมีการชงร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมของทั้งฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้านและภาคประชาชนจำนวน 7 ฉบับ

แยกเป็นร่างฝ่ายค้าน 5 ร่าง เสนอโดย “นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์” หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร (ขณะนั้น) กับคณะ

กระทั่ง 18 พฤศจิกายน 2563 รัฐสภาตีตกร่างของไอลอว์ แต่รับร่างของรัฐบาล-ฝ่ายค้าน แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1 ที่แก้ไขเพิ่มเติมให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญมาร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เหตุการณ์ลากต่อเนื่องหลายเดือน

แต่ก็มีอุปสรรคที่รัฐสภามีมติส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความอำนาจของรัฐสภาในการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ โดยให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญมาร่างแทนได้หรือไม่ ที่สุดแล้วรัฐสภาก็โหวตคว่ำในวาระที่ 3 เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2564

ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2564 เป็นการแก้รัฐธรรมนูญรายมาตรามุ่งแก้กติกาเลือกตั้งจากบัตรใบเดียวแบบจัดสรรปันส่วนผสม มาเป็นเลือกตั้งบัตรสองใบ โดยมีฝ่ายรัฐบาล-ฝ่ายค้านเสนอให้รัฐสภาพิจารณารวมกันถึง 13 ฉบับ

โดยที่ประชุมตีตก 12 ร่าง ผ่านแค่ร่างแก้ไขระบบเลือกตั้ง ส.ส. ใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ เสนอโดยนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ปชป. กับคณะเพียงร่างเดียวด้วยมติเห็นชอบ 552 ต่อ 24 เสียง แบ่งเป็น ส.ส. 342 ส.ว. 210 งดออกเสียง 130 เสียง

มีเพียงร่าง 1 เดียวของ “จุรินทร์ และพวก” สามารถไปถึงฝั่งฝันที่รัฐสภาให้ความเห็นชอบผ่านวาระที่ 3 ด้วยเสียง 472 ต่อ 33 เสียง งดออกเสียง 187 คะแนน

ครั้งที่ 3 ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่…) พุทธศักราช… ตามที่ นายพริษฐ์ วัชรสินธุ, ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า ในฐานะตัวแทนกลุ่ม Re-Solution กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 135,247 คนเป็นผู้เสนอ

เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2564 ด้วยเสียง 473 ต่อ 206 เสียง งดออกเสียง 6 เสียง โดยเห็นชอบไม่ถึงกึ่งหนึ่ง หรือ 362 เสียง จากจำนวนสมาชิกรัฐสภาทั้งหมด 723 คน

โดยสรุปถูกตีตกเกือบทั้งหมด ผ่านเพียงแค่ฉบับเดียว คือ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เปลี่ยนระบบเลือกตั้งจากบัตรใบเดียวมาเป็นบัตรสองใบตามที่ “นักการเมือง” เรียกร้อง

ในช่วงพฤษภาคม 2565 อาจมี 3 กลุ่มที่รวมพลังเสนอให้มีการทำประชามติ หนึ่ง ฝ่ายค้าน สอง Re-Solution สาม กลุ่มผู้ริเริ่มเชิญชวนแก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 272

เพื่อกดดันรัฐบาล โละมรดกรัฐธรรมนูญ คสช.