ปอกเปลือก รธน.2521 “เปรมโมเดล” ต้นแบบบิ๊กตู่ อยู่ยาว ?

ในวาระรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม 2475 อันเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกภายใต้ระบอบประชาธิปไตยที่เดินทางมาครบ 85 ปี

จนถึงรัฐธรรมนูญ 2560 เป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ 20 ที่ออกแบบโดย มีชัย ฤชุพันธุ์ กับคณะ กลับถูกวิจารณ์วงการเมืองว่าติดตั้ง “กลไกพิเศษ”

เป็นกลไกพิเศษที่เปิดช่องให้มีนายกรัฐมนตรีที่มาจากคนนอกคือ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกฯคนปัจจุบัน

รัฐธรรมนูญ 2560 จึงถูกเปรียบเทียบว่า “ถอดแบบ” มาจากรัฐธรรมนูญ 2521 อันเป็นต้นแบบของประชาธิปไตยครึ่งใบ ที่เปิดทางให้ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ก้าวขึ้นมาเป็นนายกฯ 8 ปี 5 เดือน โดยไม่ต้องลงสมัครรับเลือกตั้งแม้แต่ครั้งเดียว

ย้อนกลับไป 14 มี.ค. 2559 ช่วงโค้งสุดท้ายการร่างรัฐธรรมนูญ ก่อนทำประชามติ มี “จดหมายน้อย” จากทำเนียบรัฐบาล ลงนามโดย “พล.อ.ธีรชัย นาควานิช” ผบ.ทบ. ในฐานะเลขาธิการ คสช.เวลานั้น ส่งตรงถึงห้องประชุม กรธ.

อันเป็น “ใบสั่ง” บอกความต้องการของ คสช. ให้บัญญัติสิ่งสำคัญลงในบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ 2560 เป็นกลไกที่ถูกตั้งข้อสงสัยว่าเป็นช่อง “สืบทอดอำนาจ”

ซึ่งต่อมาได้ถูกบรรจุลงในบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญที่ใช้ในช่วง “เปลี่ยนผ่าน” ตัวอย่างเช่น ให้สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) 250 คน มาจาก คสช.เป็นผู้คัดเลือก และ ส.ว.ร่วมให้ความเห็นชอบบุคคลที่เป็นนายกฯ คนนอก หากสภาผู้แทนราษฎรไม่สามารถเลือกนายกฯ ในบัญชีของพรรคการเมืองได้

ที่สำคัญ การโหวตเลือกนายกฯ คนนอก โดย ส.ว.ร่วมโหวต สามารถทำได้ถึง 2 สมัย เพราะ ส.ว.ช่วงเปลี่ยนผ่านมีอายุ 5 ปี มากกว่าอายุสภาผู้แทนราษฎรที่มีเพียง 4 ปีก็ต้องเลือกตั้งใหม่

นี่เป็นช่องทางต่อท่ออำนาจผ่านรัฐธรรมนูญ 2560

กลไกสืบทอดอำนาจถูกนำมาเทียบกับรัฐธรรมนูญ 2521 ที่มีอายุใช้ 12 ปี 2 เดือน 1 วัน สาระสำคัญคือ ส.ว.มาจากการแต่งตั้ง ประธานวุฒิสภาเป็นประธานรัฐสภา มีอำนาจเหนือสภาผู้แทนราษฎรโดยประธานวุฒิสภามีอำนาจเสนอชื่อบุคคลที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี เพื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯ และวุฒิสภามาจากการแต่งตั้งจำนวนไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดของสภาผู้แทนราษฎร มีวาระคราวละ 6 ปี สามารถร่วมโหวตเลือกนายกฯ กับ ส.ส.ได้ และนายกฯไม่ต้องเป็น ส.ส.

ดังนั้น เมื่อถึงคราวเลือกตั้ง 22 เมษายน 2522 กลุ่มกิจสังคม ที่นำโดย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้รับการเลือกตั้งมากที่สุด ด้วยเสียง 82 คน จากสมาชิกทั้งหมด 301 คน และในช่วงเวลาเดียวกัน มีการประกาศแต่งตั้ง ส.ว. จำนวน 225 คน

เท่ากับจำนวน 3 ใน 4 ของ ส.ส. แบ่งเป็น ทหารบก 112 คน ทหารเรือ 39 คน ทหารอากาศ 34 คน ตำรวจ 8 คน พลเรือน 32 คนทำให้มีสมาชิกทั้งสองสภารวมกัน 526 คน หากฝ่ายใดคุมเสียงเกินกึ่งหนึ่ง คือ 264 คน จะได้เป็นนายกรัฐมนตรีทันที แล้วหลังการเลือกตั้ง พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ก็ได้รับการสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรี ด้วยเสียง 311 เสียง ทั้ง ๆ ที่กลุ่มกิจสังคม คือฝ่ายชนะเลือกตั้ง

แต่รัฐบาล พล.อ.เกรียงศักดิ์ ไม่มีฐานพรรคการเมืองสนับสนุน ไม่นานจึง “ลุกออกจากเก้าอี้” และส่งไม้ต่อให้ “พล.อ.เปรม”

“พล.อ.เปรม” เล่าเหตุการณ์ช่วงเวลานั้นผ่าน หนังสือ “รัฐบุรุษ ชื่อ เปรม” ว่า “ตอนนั้นผมเป็น รมว.กลาโหม ตอนนั่งเครื่องบินกลับมา (หลัง พล.อ.เกรียงศักดิ์เข้าเฝ้าฯ กราบบังคมทูลลาออก) ผมก็ถามว่า พี่เกรียง ถ้าผมเป็นนายกฯ ผมควรจะเอาพรรคไหนมาเป็นรัฐบาล”

“ท่านก็บอกว่า ถ้าเป็นก็เอาทั้ง 5 พรรคที่เขาคัดค้าน คือ กิจสังคม ประชาธิปัตย์ ชาติไทย สยามประชาธิปไตย และประชากรไทย ต้องเอาทั้งหมดนี้ เพราะว่าเขาเป็นฝ่ายที่ให้พี่ออก”

และ พล.อ.เปรมก็ทำตามคำชี้แนะ ทำให้ได้รับเลือกขึ้นมาเป็นนายกฯแทนที่ โดยได้คะแนนเสียงสนับสนุนในสภามากถึง 399 เสียง ส่วน ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ได้อันดับสอง 39 เสียง

จากนั้น พล.อ.เปรมครองเก้าอี้นายกฯ นาน 8 ปี 5 เดือน ไม่ต้องลงสมัครรับเลือกตั้งแม้แต่ครั้งเดียว