ไฟเขียวแผนใช้เงินกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา 7.5 พันล้าน

ครม.เห็นชอบกรอบการใช้เงินของกองทุน “กสศ.” ปี 2566 วงเงิน 7,590 ล้านบาท ช่วยเหลือเด็กนักเรียน-ครูในระบบ-นอกระบบ ขาดแคลนทุนทรัพย์-ด้อยโอกาสทางการศึกษา

วันที่ 11 มกราคม 2565 น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบแผนการใช้เงินของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ประจำปีงบประมาณ 2566 ในกรอบวงเงินงบประมาณจำนวน 7,590.34 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2565 จำนวน 1,938.05 ล้านบาท เพื่อ กสศ.จะได้จัดทำรายละเอียดคำของบประมาณรายจ่ายประจำปี งบประมาณ 2566 เสนอสำนักงบประมาณพิจารณาต่อไป

สำหรับรายละเอียดแผนการใช้จ่ายเงินในปีงบประมาณ 2566 ของ กสศ.แบ่งเป็น 9 แผนงานประกอบด้วย

1.นวัตกรรมและการวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา วงเงิน 372 ล้านบาท 2.พัฒนาระบบหลักประกันความเสมอภาคทางการศึกษาตั้งแต่ปฐมวัย-ภาคบังคับ วงเงิน 4,829.52 ล้านบาท 3.พัฒนาคุณภาพโรงเรียนทั้งระบบ วงเงิน 270 ล้านบาท 4.จัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ วงเงิน 90 ล้านบาท

5.พัฒนาระบบการผลิตและพัฒนาครูสำหรับโรงเรียนพื้นที่ห่างไกล วงเงิน 403.13 ล้านบาท 6.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพการศึกษาระดับสูงกว่าภาคบังคับ วงเงิน 952.29 ล้านบาท 7.ส่งเสริมและพัฒนาเยาวชนและประชากรวัยแรงงานนอกระบบ วงเงิน 350 ล้านบาท 8.สื่อสารขับเคลื่อนนโยบายและระดมความร่วมมือ วงเงิน 56.32 ล้านบาท และ 9.บริหารและพัฒนาระบบงาน เช่น พัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ วงเงิน 267.08 ล้านบาท

“ขณะที่ผลประโยชน์ที่จะได้รับประกอบด้วย เด็กและเยาวชนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์หรือด้อยโอกาส ได้รับการอุดหนุนเงินเพื่อบรรเทาอุปสรรคการเข้าถึงการศึกษาที่สอดคล้องกับความจำเป็นและเพื่อป้องกันการหลุดออกจากระบบการศึกษาในทุกช่วงระดับชั้น และมีการพัฒนาตามศักยภาพจำนวน 3,017,081 คน/ครั้ง ยาวชนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์หรือด้อยโอกาสได้รับการสนับสนุนให้ศึกษาต่อในระดับชั้นที่สูงกว่าการศึกษาภาคบังคับจำนวน 8,983 คน”

น.ส.ไตรศุลีกล่าวทิ้งท้ายว่า เยาวชนและแรงงานนอกระบบการศึกษาได้รับการช่วยเหลือตามความจำเป็นหรือสนับสนุนให้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษาและได้รับการพัฒนาทักษะวิชาชีพที่เหมาะสมจำนวน 25,000 คน ครูและหน่วยจัดการเรียนรู้ทั้งในและนอกระบบการศึกษาได้รับการพัฒนาคุณภาพทั่วถึง โดยเป็นครูหรือนักศึกษาครูจำนวน 23,983 คน และโรงเรียน 750 แห่ง รวมทั้งการได้องค์ความรู้ นวัตกรรม และต้นแบบ สำหรับภาครัฐและสังคมใช้เป็นแนวทางในการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา