วโรทัย ไตรพิทักษ์ ผอ.สำนักโฆษกฯ ลมใต้ปีกตึกไทยคู่ฟ้า-นารีสโมสร

“วโรทัย ไตรพิทักษ์” ผู้อำนวยการสำนักโฆษก ทำเนียบรัฐบาลคนใหม่
สัมภาษณ์พิเศษ

งานด่านหน้า-ใจกลางของการสื่อสารวาระสำคัญ จากศูนย์กลางอำนาจประเทศไทย ในทำเนียบรัฐบาล

ปฏิเสธไม่ได้ว่า มีสำนักโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นลมใต้ปีกทั้ง 2 ข้าง ทั้งในตึกไทยคู่ฟ้า และตึกนารีสโมสร

ข้างหนึ่งคือเป็นกล่องเสียงในการส่งสัญญาณ ทิศทางนโยบายของรัฐบาล ที่มาจากนายกรัฐมนตรี-อีกข้างหนึ่ง ส่งข้อมูลข่าวสารผ่านการเป็นกองหนุนให้โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ผ่านสื่อไทยที่ประจำทำเนียบรัฐบาลกว่า 200 ชีวิต และสื่อต่างประเทศทุกสำนัก

ภารกิจที่ท้าทายในปี 2565 คือการเป็นวัวงานในวาระที่ประเทศไทย เป็นเจ้าภาพจัดประชุม กลุ่มประเทศความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก เป็นกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ระหว่างเขตเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (APEC)

ส่วนหนึ่งคือภาระบนบ่าของ “วโรทัย ไตรพิทักษ์” ผู้อำนวยการสำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ที่เข้ารับตำแหน่งในต้นปี 2565

“ประชาชาติธุรกิจ”  สนทนาพิเศษกับ “วโรทัย ไตรพิทักษ์” หลังรับตำแหน่งใหม่หมาด

“ความเร็วของข่าว” คือ ความท้ายทาย

ผอ.สำนักโฆษกคนใหม่ เผยถึง ความท้าทาย (Challenge) ในการเข้ารับตำแหน่งนี้ ซึ่งเป็นทีมด่านหน้า ด้านการสื่อสารในยุคนี้ คือ ความรวดเร็ว ในการสื่อสารที่ถือเป็นความท้าทายอย่างมาก ในยุคที่ประชาชนต้องการรับรู้ข่าวสารที่รวดเร็ว สำนักโฆษกฯ พยายามที่เพิ่มช่องทางการสื่อสารให้มากขึ้น เพื่อให้ประชาชนได้รับรู้เกี่ยวกับการทำงานของรัฐบาลได้รวดเร็วยิ่งขึ้น และพยายามพัฒนาบุคลากร ไม่ว่าจะเป็นการอบรมหรือการส่งเสริมการเรียนรู้

คำถามที่ว่าเขาเข้ารับตำแหน่งนี้ ในช่วงที่อายุรัฐบาลเข้าสู่ปีที่ 3 เป็นโค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้งในปีหน้า ภารกิจจะยากขึ้นหรือไม่ เขายอมรับและเข้าใจ ว่า “รัฐบาลในช่วงปีสุดท้าย จะต้องเผชิญกับปัญหาต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นข่าวลบหรือข่าวจากฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล เพื่อโน้มน้าวให้ประชาชนมีทัศนะอีกแบบหนึ่ง”

แต่ฝ่ายรัฐบาลก็มีหลักฐานที่ชัดเจน ว่า รัฐบาลได้สร้างประโยชน์ใดให้ประชาชนบ้าง ไม่ว่าจะเป็นการแก้ปัญหาต่าง ๆ ในช่วงที่ผ่านมา อาทิ การแก้สินค้าราคาแพง โดยให้กระทรวงพาณิชย์ดูแลเรื่องสินค้าราคาแพงให้เป็นราคาสินค้าที่ยอมรับได้ 

“ปีนี้พยายามที่จะทำแผนประชาสัมพันธ์ เพราะปีนี้จะเป็นปีเกือบสุดท้าย ก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง จะพยายามทำให้เห็นว่าที่ผ่านมา รัฐบาลมีนโยบายใดบ้าง เพื่อเผยแพร่ให้ประชาชนรับทราบ บางเรื่องประชาชนอาจไม่ทราบ ก็จะประชาสัมพันธ์ให้ทราบ”

จากลูกหม้อทำเนียบ สู่ลมใต้ปีกรัฐบาล

“วโรทัย ไตรพิทักษ์” เล่าชีวิตการทำงานก่อนเข้ารับตำแหน่ง ผู้อำนวยการสำนักโฆษกฯ ว่า เขาจบปริญญาตรี 2 ใบจาก 2 คณะ คือ นิเทศศาสตร์ สาขาวิทยุ-โทรทัศน์ จาก ม.รังสิต และรัฐศาสตร์ สาขาการเมืองการปกครอง ม.รามคำแหง รวมถึงจบด้าน MBA จากประเทศออสเตรเลีย อีกใบ 

เริ่มทำงานที่ กองพิธีการ สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี จากนั้นย้ายไปที่สำนักนายกรัฐมนตรี สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ต่อด้วยกองการต่างประเทศ ดูแลเกี่ยวกับการประชุมภูมิภาคต่าง ๆ การประชุมระหว่างประเทศ เคยร่วมปฏิบัติงานการประชุมกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชีย-แปซิฟิก (APEC) ด้วย 

“พอได้เป็น ผ.อ.สำนักโฆษกก็คิดว่า ว่าจะทำการประชาสัมพันธ์ ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพการประชุมครั้งนี้ด้วย  เพราะผมค่อนข้างมีความรู้ด้านการประชุมเอเปกเป็นอย่างดี คิดว่าช่วยให้การทำงานในการเป็นเจ้าภาพครั้งนี้ในการประชาสัมพันธ์ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ” 

ประยุทธ์
FILE PHOTO : ROYAL THAI GOVERNMENT /

งานใหญ่ “เอเปก” อีกความท้าทายรัฐบาล

“วโรทัย” ในฐานะผู้อำนวยการสำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี  ต้องร่วมปฏิบัติงานการประชุมกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชีย-แปซิฟิก (APEC) ประจำปี 2565 ที่ประเทศไทยรับเป็นเจ้าภาพ เขาย้ำว่า “รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์​ จะเสนอวาระ BCG (Bio Circular Green Economy) เป็นวาระสำคัญ เพราะเป็นสร้างเศรษฐกิจที่ยั่งยืน ยืดหยุ่น รวมถึงเป็นการสร้างสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน เพื่อให้โลกของเราสามารถใช้พลังงานสะอาดได้ในอนาคต”

“สิ่งที่สำคัญ ณ ตอนนี้เรากำลังมีปัญหาเกี่ยวกับภาวะ Climate Change ในการประชุมครั้งนี้ด้วย หากทั่วโลกยอมรับในแนวคิดนี้ คิดว่าจะทำให้โลกของเราน่าอยู่ขึ้น ที่สำคัญคือนายกรัฐมนตรี มีเป้าหมายและแนวคิดที่ได้กล่าวในที่ประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (COP 26) ประเทศไทยมุ่งหน้าที่จะ Net Zero (บรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์) ในปี 2065 หรืออีก 44 ปีข้างหน้า”

ยุทธศาสตร์ ในฐานะกองหนุนทีมโฆษกรัฐบาล

เขาบอกว่า ได้รับนโยบายจากทีมโฆษกรัฐบาลมาว่า จะต้องมีการสื่อสารแก่ประชาชน ในเรื่องที่ประชาชนต้องการรับรู้ เช่นการแก้ปัญหาราคาสินค้าแพง ว่ารัฐบาลมีมาตรการในการช่วยเหลือประชาชนอย่างไร เพื่อสนับสนุนข้อมูลให้โฆษกฯ ไปสื่อสารให้กับประชาชนรับทราบว่า สิ่งที่นายกรัฐมนตรี กำลังทำอะไรอยู่ขณะนี้ คืออะไร รวมถึงพยายามประสานกระทรวงต่าง ๆ เพื่อขอข้อมูลที่เกี่ยวข้อง

สื่อทำเนียบ
FILE PHOTO : ROYAL THAI GOVERNMENT /

พร้อมให้บริการสื่อทำเนียบหลายร้อยชีวิต 

เขายอมรับว่า เพิ่งเข้ามาทำงานในตำแหน่ง ผู้อำนวยการสำนักโฆษก ได้ไม่ถึงสัปดาห์ อยู่ในช่วงการทำความรู้จักกับสื่อมวลชนประจำทำเนียบรัฐบาล แต่อีกสิ่งเขาตั้งเป้าการทำงานไว้คือ คือ การร่วมสื่อมวลชนสัมพันธ์ การมีความสัมพันธ์ที่ดีกับสื่อ จะเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ทำให้ประชาสัมพันธ์ของรัฐบาลมีประสิทธิภาพไปมากยิ่งขึ้น

“ยืนยันว่าจะพยายามกระจายข้อมูลข่าวสารให้เท่าเทียมกัน ให้ความสำคัญกับสื่อมวลชนอย่างเท่าเทียม  อยากฝากเนื้อฝากตัวกับสื่อมวลชน ผมยังใหม่อยู่ หวังว่าจะได้รับความร่วมมือจากสื่อมวลชนเป็นอย่างดี มีอะไรผมพร้อมรับฟังสื่อมวลชนเสมอ หาได้ตลอดเวลา”