เลือกตั้งซ่อม ชุมพร-สงขลา แทนตำแหน่งว่าง พรุ่งนี้

เลือกตั้ง
FILE PHOTO : Jewel SAMAD / AFP

กกต. จัดเลือกตั้งซ่อม ส.ส.ชุมพร เขต 1 สงขลา เขต 6 แทนตำแหน่งที่ว่าง พรุ่งนี้ (16 ม.ค.)

วันที่ 15 มกราคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จัดให้มีการเลือกตั้งซ่อม ส.ส.ชุมพร เขต 1 และ สงขลา เขต 6 แทนตำแหน่งที่ว่าง เนื่องจากสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของนายชุมพล จุลใส สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (4) (6) และมาตรา 96 (2) และสมาชิกของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของนายถาวร เสนเนียม สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (6)

เมื่อสมาชิกสภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้ง 2 คนสิ้นสุดลง ทำให้ตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งว่างลง จึงต้องดำเนินการเลือกตั้งแบบแบ่งเขต ในวันพรุ่งนี้ (16 ม.ค.) เวลา 08.00-17.00 น. หลังเปิดรับสมัครตั้งแต่วันที่ 23-27 ธันวาคม 2564 ผ่านมา

ผู้สมัคร ส.ส. ชุมพร เขต 1

ในช่วงการเปิดรับสมัครระหว่างวันที่ 23-27 ธันวาคม 2564 ปรากฏว่า มีผู้ยื่นใบสมัครรับเลือกตั้งจาก 5 พรรคการเมือง เขตเลือกตั้งที่ 1 ประกอบด้วย อำเภอเมือง (ยกเว้น ตำบลหาดพันไกร ตำบลบางลึก ตำบลบ้านนา ตำบลวังใหม่ และตำบลถ้ำสิงห์) และอำเภอสวี (ยกเว้นตำบลเขาทะลุ และตำบลเขาค่าย)

  • หมายเลข 1 นายอิสรพงษ์ มากอำไพ หรือ “ตาร์ท” พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.)
  • หมายเลข 2 ร.ต.ท.สมชาย แพ่งยงยุทธ หรือ “หมวดสมชาย” พรรคไทยศรีวิไลย์ (ทศล.)
  • หมายเลข 3 นายวรพล อนันตศักดิ์ หรือ “โอ๊ต” พรรคก้าวไกล (กก.)
  • หมายเลข 4 นายชวลิต อาจหาญ หรือ “ทนายแดง” พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.)
  • หมายเลข 5 พ.ต.อ.ทศพล โชติคุตร์ หรือ “ผู้กำกับหนุ่ย” พรรคกล้า (ก.)

ผู้สมัคร ส.ส. สงขลา เขต 6

ในช่วงการเปิดรับสมัครระหว่างวันที่ 23-27 ธันวาคม 2564 ปรากฏว่า มีผู้ยื่นใบสมัครรับเลือกตั้งจาก 4 พรรคการเมือง โดยในเขตเลือกตั้งที่ 6 ประกอบด้วย อำเภอคลองหอยโข่ง อำเภอหาดใหญ่ (เฉพาะตำบลบ้านพรุและตำบลพะตง) และอำเภอสะเดา (ยกเว้นตำบลสำนักแต้วและตำบลสำนักขาม)

  • หมายเลข 1 น.ส.สุภาพร กำเนิดผล หรือ น้ำหอม พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.)
  • หมายเลข 2 นายธิวัชร์ ดำแก้ว หรือ “ตาม” พรรคก้าวไกล (กก.)
  • หมายเลข 3 นายอนุกูล พฤกษานุศักดิ์ หรือโบ๊ต พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.)
  • หมายเลข 4 พงศธร สุวรรณรักษา หรือทนายอาร์ม พรรคกล้า (ก.)

คุณสมบัติผู้มีสิทธิเลือกตั้ง

  1. มีสัญชาติไทย แต่บุคคลผู้มีสัญชาติไทยโดยการแปลงสัญชาติ ต้องได้สัญชาติไทยมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี
  2. อายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ ในวันที่ 1 มกราคม ของปีที่มีการเลือกตั้ง
  3. มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตเลือกตั้งมาแล้วเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 90 วัน นับถึงวันเลือกตั้ง

ลักษณะต้องห้ามของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง

  1. เป็นภิกษุ สามเณร นักพรต หรือนักบวช
  2. อยู่ในระหว่างถูกเพิงถอนสิทธิการเลือกตั้ง
  3. ต้องคุมขังโดยหมายของศาลหรือโดยคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย
  4. วิกลจริต จิตฟั่นเฟือน หรือไม่สมประกอบ

หลักฐานที่ใช้ในการเลือกตั้ง

  1. บัตรประชาชน (บัตรที่หมดอายุก็ใช้ได้)
  2. บัตรหรือหลักฐานที่ราชการหรือหน่วยงานของรัฐออกให้มีรูปถ่ายและหมายเลขบัตรประจำตัวประชาชน
  • บัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐ
  • ใบขับขี่
  • หนังสือเดินทาง (พาสปอร์ต)

กกต. มั่นใจคนไปใช้สิทธิมากกว่า 70%

นายอิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต. พร้อมคณะ เดินทางไปตรวจเยี่ยมการอบรมกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย และเจ้าหน้าที่อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน จำนวน 8 หน่วย หน่วยละ 9 คน รวม 72 คน เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้

ขณะที่การจัดการเลือกตั้งภายใต้สถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 โอมิครอน ได้กำชับทุกหน่วยเลือกตั้งเข้มงวดเรื่องมาตรการด้านสาธารณสุข ที่รูปแบบผ่านการตรวจสอบรับรองจากกรมควบคุมโรคแล้ว ซึ่งการจัดการเลือกตั้งที่ผ่านมายังไม่พบการแพร่ระบาดในวันที่มีการจัดการเลือกตั้ง

โดยตั้งเป้าผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งมากกว่าร้อยละ 70 ของผู้มีสิทธิในเขตเลือกตั้ง ซึ่งการเลือกตั้งครั้งก่อนมีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งร้อยละ 77.93 จึงอยากให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งในวันอาทิตย์ที่ 16 ม.ค. 2565 

ไปใช้สิทธิไม่ได้ ต้องแจ้งเหตุ ภายใน 7 วัน

ทั้งนี้ หากไม่สามารถไปเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้ได้ ต้องแจ้งเหตุจำเป็นที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ครั้งนี้ได้ จะต้องแจ้งเหตุจำเป็นที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ระหว่างวันที่ 9-15 ม.ค. 2565 และระหว่างวันที่ 17-23 ม.ค. 2565 ผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ได้

1. ผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ประสงค์จะแจ้งเหตุจำเป็นที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งทางอิเล็กทรอนิกส์ให้แจ้งเหตุจำเป็นภายใน 7 วัน ก่อนวันเลือกตั้งหรือภายใน 7 วันนับแต่วันเลือกตั้ง ผ่านทางช่องทางเว็บไซต์ www.ect.go.th

2. กรอกข้อมูลในระบบแจ้งเหตุที่ไม่อาจไป

  • เลขประจำตัวประชาชน
  • รหัสหลังบัตรประจำตัวประชาชน
  • ชื่อ *ไม่ต้องระบุคำนำหน้าชื่อ (เช่น นาย, นาง, นางสาว)
  • วันเดือนปีเกิดที่ปรากฏในบัตรประชาชน

3. จากนั้น กดยืนยันข้อความที่ได้กรอกแล้ว ระบบจะแจ้งเหตุจำเป็นที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งให้โดยอัตโนมัติ


4. พิมพ์แบบการแจ้งเหตุจำเป็นที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้ง หรือจัดเก็บสำเนาข้อมูลไว้ในรูปแบบข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์เพื่อเป็นหลักฐาน