จุดเสี่ยงพลังประชารัฐ เลือกตั้งซ่อม แพ้ฟาวล์ กฎเหล็ก กกต. ?

ในศึกเลือกตั้งซ่อมทั้ง 3 เขต พรรคพลังประชารัฐส่งผู้สมัครลงเลือกตั้ง ส.ส.ครบทั้งหมด ประกอบด้วย

หนึ่งเลือกตั้งซ่อมสงขลา เขตเลือกตั้งที่ 6 ส่ง อนุกูล พฤกษานุศักดิ์ “โบ๊ต” เข้าชิงชัย

สอง เลือกตั้งซ่อมชุมพร เขตเลือกตั้งที่ 1 ส่ง “ทนายแดง” หรือ ชวลิต อาจหาญ

2 เขตเลือกตั้งทั้ง สงขลา และ ชุมพร จะตัดเชือกในวันที่ 16 มกราคมนี้ โดยมีพรรคคู่แข่งสำคัญ คือ พรรคประชาธิปัตย์ เจ้าของพื้นที่เดิม และมีตัวตัดแต้ม – ไม้ประดับ เช่นพรรคก้าวไกล พรรคกล้า

ส่วนสนามที่สาม เลือกตั้งซ่อม กทม. เขตเลือกตั้งที่ 9 ส่ง “สรัลรัศมิ์ เจนจาคะ” หรือ “มาดามหลี” แข่งกันดุเดือด มีพรรคเพื่อไทย เป็นคู่ชิงสำคัญ รวมถึงพรรคกล้า พรรคไทยภักดี พรรคก้าวไกล

อย่างไรก็ตาม สนามเลือกตั้งซ่อมทั้ง 3 สนาม พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะพรรคแกนนำรัฐบาล ที่มี “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” รองนายกรัฐมนตรี หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เป็นแม่ทัพสำคัญ มีรองแม่ทัพมือขวาคือ “ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า” เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ ลงพื้นที่ไปกำกับภาพรวมทั้งสองสนาม

กลับเป็นที่จับจ้องของบรรดาคู่แข่ง เรื่องการใช้ “อำนาจรัฐ” ทำให้เกิดการได้เปรียบ – เสียเปรียบในการเลือกตั้ง ไปถึงขั้นทุจริตเลือกตั้ง – ปราศรัยสัญญาว่าจะให้

ในสมรภูมิเลือกตั้งซ่อมสงขลา พรรคก้าวไกลยื่นเรื่องให้ กกต.สงขลาสอบสวนกรณี “ร.อ.ธรรมนัส” ปราศรัยในลักษณะสัญญาว่าจะให้ เข้าข่ายฝ่าฝืน พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 มาตรา 73 (1) ห้ามมิให้ผู้สมัครหรือผู้ใดกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งลงคะแนนให้แก่ตนเองหรือผู้สมัครอื่น

ให้งดเว้นการลงคะแนนให้แก่ผู้สมัคร หรือการชักชวนให้ไปลงคะแนนไม่เลือกผู้ใดเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ด้วยวิธีการ (1) จัดทำ ให้ เสนอให้ สัญญาว่าจะให้ หรือจัดเตรียมเพื่อจะให้ ทรัพย์สิน หรือผลประโยชน์อื่นใด อันอาจคำนวณเป็นเงินได้แก่ผู้ใด

ซึ่งเรื่องดังกล่าว กกต.สงขลา รับเรื่องไว้พิจารณาตรวจสอบคำร้องไว้แล้ว

นอกจากนี้ กกต.สงขลา ตั้งชุดปฏิบัติการข่าวทั้งของจังหวัดและส่วนกลางลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง ผนึกกำลัง “ผู้ตรวจการเลือกตั้ง” ลงพื้นที่ไปจนถึงวันเลือกตั้ง รวมทั้งชุดเคลื่อนที่เร็ว ซึ่งคอยทำหน้าที่ตรวจสอบ หาข่าวและป้องปรามการทุจริตการเลือกตั้ง

ในการเลือกตั้งซ่อม กทม. เกิดการชุลมุนร้อง กกต.กันไปมาระหว่าง “มาดามหลี” พรรคพลังประชารัฐ กับ พรรคกล้า ที่มี “อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี” เป็นผู้สมัคร

“มาดามหลี” ร้อง กกต.ว่า “อรรถวิชช์” ให้สัมภาษณ์ในรายการ เจาะลึกทั่วไทย ทางช่อง 9 ว่า พรรคพลังประชารัฐน่าจะส่งคนที่มีคุณภาพมากกว่านี้มาลงสมัคร เข้าข่ายการหาเสียงด้วยลักษณะโจมตี ใส่ร้าย ป้ายสี ที่ถือกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้งกรณีหาเสียงเลือกตั้ง ว่าด้วยการหลอกลวงใส่ร้ายด้วยความเท็จ หรือจูงใจให้เข้าใจผิดในคะแนนนิยมของผู้สมัคร หรือพรรคการเมือง ตามมาตรา 73 (5)

ขณะที่ “อรรถวิชช์” ใช้กฎหมายมาตราเดียวกัน ในการร้อง กกต.เอาผิด “มาดามหลี” กรณีพูดพาดพิงในข้อความไม่ตรงกับความจริง กล่าวหาว่าดูถูกเพศแม่ มีพฤติกรรมที่ดูถูกผู้มีสิทธิเลือกตั้ง

อีกด้านหนึ่ง พรรคเพื่อไทย จัดตั้งพรรคเพื่อไทยจัดตั้งคณะทำงาน ติดตาม ดูแลการใช้อำนาจที่ไม่ชอบ ติดตามมือจ่าย มือยิง (เงิน) ในช่วงเลือกตั้งซ่อม แถมอัดฉีดเงิน 2 แสนบาท หากข้อมูลนำไปสู่การจับทุจริตการเลือกตั้งได้

เมื่อทุกสนามแข่งกันดุเดือดพรรคพลังประชารัฐ ถูกจับตามองทุกพื้นที่ยิ่งมีกรณีตัวอย่าง ในการเลือกตั้งซ่อมลำปาง ที่ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐถูกใบเหลืองไปสด ๆ ร้อน ๆ

ทั้งนี้ 14 มกราคม 2565 ที่ผ่านมา กกต.ได้เผยแพร่คำวินิจฉัย กกต. กรณีมีมติให้ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาเพื่อสั่งให้มีการเลือกตั้ง ส.ส.ลำปาง เขตเลือกตั้งที่ 4 ใหม่แทน นายวัฒนา สิทธิวัง ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. 2561 มาตรา 133

และให้ดำเนินคดีอาญากับนางเกี๋ยงมา ปุพพโก ตามมาตรา 73 (1) ประกอบมาตรา 158 ของกฎหมายเดียวกัน

จากกรณี กกต.สอบสวนแล้วเห็นว่า วันที่ 19 มิ.ย. 2563 ที่บ้านของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง ต.ล้อมแรด อ.เถิน จ.ลำปาง นางเกี๋ยงมา ได้มอบธนบัตรซึ่งเย็บติดกันจำนวน 2 ชุด ชุดละ 300 บาทให้กับผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งจริง โดยจากการตรวจสอบคลิปวิดีโอประกอบคำร้อง

ซึ่งเป็นการสนทนาระหว่างนางเกี๋ยงมา กับผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง นางเกี๋ยงมาได้พูดว่า “ฝากให้แม่ด้วย” และผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งถามว่า “เบอร์อะไร” นางเกี๋ยงมา ตอบว่า “เบอร์ 1” พร้อมทั้งชูมือเป็นสัญลักษณ์หมายเลข 1

โดยไม่ปรากฏข้อความใด ที่เป็นการกล่าวถึงการชำระค่าอาหาร ตามที่นางเกี๋ยงมา กล่าวอ้าง อีกทั้งจากการไต่สวนมารดาของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งคนดังกล่าวให้ถ้อยคำยืนยันว่า ธนบัตรจำนวน 600 บาท ไม่ใช่ค่าอาหาร ที่นางเกี๋ยงมาว่าจ้างให้ตนทำไปส่งให้กับน้องชายของนางเกี๋ยงมา

โดยนางเกี๋ยงมา ได้มาสอบถามเกี่ยวกับจำนวนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งในบ้านและมารดาของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งได้ให้หมายเลขประจำตัวประชาชนของตนเองและบุตรชายกับ นางเกี๋ยงมา ไปก่อนที่จะมีการว่าจ้างให้ทำอาหาร ข้อเท็จจริงดังกล่าวจึงฟังได้ว่า นางเกี๋ยงมา ให้เงินจำนวน 600 บาทกับผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งดังกล่าว เพื่อจูงใจให้ลงคะแนนเลือกตั้งให้กับนายวัฒนาตามข้อกล่าวหา

จึงเป็นหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่านางเกี๋ยงมา ทำให้ เสนอให้ สัญญาว่าจะให้ หรือเตรียมเพื่อจะให้ทรัพย์สินประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้แก่ผู้ใดเพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งลงคะแนนให้แก่นายวัฒนา

พรรคพลังประชารัฐ จึงถูกจับจ้องเป็นพิเศษ สุดท้าย ถ้ามีความผิดจริงอาจถูกจับ “แพ้ฟาวล์” เลือกตั้งซ่อมก็เป็นได้