จดหมายเปิดผนึก แนบชื่อ 69 นักข่าว-นักวิชาการ ค้าน พ.ร.บ.คุมสื่อ

สมาพันธ์สื่อ

สมาพันธ์สื่อไทยเพื่อประชาธิปไตย ส่งจดหมายเปิดผนึก ลงนาม 69 รายชื่อนักข่าว นักวิชาการ สื่อมวลชน คัดค้าน พ.ร.บ.ควบคุมสื่อฯ

วันที่ 17 มกราคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติผ่านร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. .… เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2565 ที่ผ่านมา ตามที่ได้เสนอข่าวไปแล้วนั้น

ล่าสุด สมาพันธ์สื่อไทยเพื่อประชาธิปไตย โพสต์จดหมายเปิดผนึกจากนักวิชาชีพและนักวิชาการสื่อมวลชน เรื่องข้อห่วงใยต่อสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชนในการผลักดันร่าง พ.ร.บ.มาตรฐานวิชาชีพสื่อฯ ผ่านเฟซบุ๊ก DemAll สมาพันธ์สื่อไทยเพื่อประชาธิปไตย

จดหมายเปิดผนึกดังกล่าว ระบุว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติผ่านร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. .… เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2565 ระบุเหตุผลในบันทึกหลักการและเหตุผลว่า “สมควรกำหนดให้มีองค์กรเพื่อทำหน้าที่คุ้มครองเสรีภาพของบุคคลซึ่งประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติรับรอง และกำหนดให้มีการส่งเสริมจริยธรรมสื่อมวลชนเพื่อให้การทำหน้าที่ตามมาตรฐานวิชาชีพเป็นไปอย่างเหมาะสม”

สาระสำคัญของร่างกฎหมายนี้ คือ กำหนดให้มีองค์กรชื่อ “สภาวิชาชีพสื่อมวลชน” ขึ้นมาทำหน้าที่กำหนดมาตรฐานจริยธรรมของสื่อมวลชน พร้อมกำกับดูแลการทำงานของสื่อมวลชนให้เป็นไปตามมาตรฐานจริยธรรมนั้น โดยกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชนจะประกอบด้วยตัวแทนองค์กรวิชาชีพสื่อในปัจจุบัน 5 คน ผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ด้านต่าง ๆ อีก 5 คน ซึ่งผ่านการคัดเลือกโดยคณะกรรมการสรรหา พร้อมกับผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ที่เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง อีก 1 คน รวม 11 คน

นักวิชาชีพและนักวิชาการสื่อมวลชน ดังรายนามท้ายจดหมายเปิดผนึก ได้พิจารณาแล้วเห็นพ้องกันว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพในการรายงานข่าวสารของสื่อมวลชน รวมถึงสิทธิเสรีภาพในการเข้าถึงข่าวสารของประชาชน จึงควรมีการถกเถียงแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากทั้งสื่อมวลชนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างทั่วถึงเสียก่อน ก่อนจะเข้าสู่กระบวนการของรัฐสภา จึงมีขอเรียกร้องร่วมกันดังต่อไปนี้

1. ขอให้รัฐสภา ตลอดจนผู้เกี่ยวข้องในการผลักดันร่างกฎหมายดังกล่าว ชะลอกระบวนการพิจารณาร่างกฎหมายออกไปก่อน จนกว่าจะเป็นที่ประจักษ์ว่าผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้รับข้อมูลและมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นต่อร่างกฎหมายฉบับนี้โดยทั่วกัน

2. ขอให้องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนในฐานะผู้ที่มีส่วนร่วมในการยกร่างกฎหมายฉบับนี้ จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นอย่างทั่วถึงและรอบด้าน จากสื่อมวลชนที่มีสังกัดและสื่อภาคพลเมือง ทั้งระดับบริหารและระดับปฏิบัติการ รวมถึงประชาชนทั่วไป ว่าจำเป็นจะต้องมีร่างกฎหมายเช่นนี้ออกมาหรือไม่ พร้อมจัดทำข้อคำนึงของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อเป็นประโยชน์ในการพิจารณาตามกระบวนการรัฐสภาต่อไป

พร้อมกันนี้ขอแสดงความกังวลต่อเนื้อหาในร่างกฎหมายที่ผ่านคณะรัฐมนตรีแล้ว ดังนี้

1. การจำกัดเสรีภาพของสื่อมวลชน : มาตรา 5 ของร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว แม้จะรับรองเสรีภาพในการเสนอข้อมูลข่าวสารหรือการแสดงความคิดเห็น “ตามจริยธรรมสื่อมวลชน” แต่ก็มีข้อยกเว้นว่า “ต้องไม่ขัดต่อหน้าที่ของปวงชนชาวไทย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน” ซึ่งที่ผ่านมาคำว่า “หน้าที่ของปวงชนชาวไทย” และ “ศีลธรรมอันดีของประชาชน” มักถูกรัฐตีความอย่างกว้างขวางเพื่อใช้ในทางจำกัดเสรีภาพตลอดมา จึงทำให้เกิดข้อกังวลว่าจะกระทบต่อสิทธิในการรับรู้ข่าวสารของประชาชนในระบอบประชาธิปไตย

2. ผลประโยชน์ทับซ้อน : มาตราที่ 8 และ 9 ของร่างกฎหมายดังกล่าวกำหนดแหล่งรายได้ของสภาวิชาชีพสื่อมวลชนว่ามาจาก 7 ช่องทาง รวมถึงจากเงินที่รัฐบาลจ่ายให้เป็นทุนประเดิม, เงินอุดหนุนทั่วไปที่รัฐบาลจัดสรรให้จากงบประมาณรายจ่ายประจำปี และเงินที่ได้รับการจัดสรรโดยคณะกรรมการบริหารกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) ไม่ต่ำกว่าปีละ 25 ล้านบาท ขณะที่หลักการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนต้องเป็นผู้ตรวจสอบการดำเนินการของภาครัฐ เช่นนี้แล้ว สภาวิชาชีพสื่อมวลชนจะการันตีความเป็นอิสระจากภาครัฐได้อย่างไร หากมีแหล่งรายได้มาจากรัฐเสียเอง

3. ไม่เอื้อต่อการมีส่วนร่วม : คณะกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชนนั้น มาจากการสรรหาของคณะกรรมการสรรหา ประกอบด้วยกลุ่มบุคคลในวงจำกัด ได้แก่

1.คณบดี หัวหน้าภาควิชา หรือผู้แทนคณะหรือภาควิชาด้านนิเทศศาสตร์ หรือสื่อสารมวลชนในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐที่มิใช่มหาวิทยาลัยราชภัฏและมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล คัดเลือกกันเองให้เหลือ 1 คน

2.คณบดี หัวหน้าภาควิชา หรือผู้แทนคณะหรือภาควิชาด้านนิเทศศาสตร์ หรือสื่อสารมวลชนในมหาวิทยาลัยราชภัฏและมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล คัดเลือกกันเองให้เหลือ 1 คน

3.คณบดี หัวหน้าภาควิชา หรือผู้แทนคณะหรือภาควิชาด้านนิเทศศาสตร์ หรือสื่อสารมวลชนในสถาบันอุดมศึกษาของเอกชน คัดเลือกกันเองให้เหลือ 1 คน

4.ผู้แทนองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนด้านสื่อหนังสือพิมพ์ ด้านสื่อวิทยุและโทรทัศน์ ด้านสื่อออนไลน์ ซึ่งแต่ละด้านคัดเลือกกันเองให้เหลือด้านละ 1 คน

5.ผู้แทนสหพันธ์องค์กรคุ้มครองผู้บริโภค จำนวน 1 คน

6.ผู้แทนสภาทนายความ จำนวน 1 คน

7. ผู้แทนกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) ตามกฎหมายว่าด้วยองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม จำนวน 1 คน

โครงสร้างของคณะกรรมการสรรหานี้ ไม่ได้ยึดโยงกับทั้งสื่อมวลชนและประชาชน แต่กลับมีอำนาจในการคัดเลือกคณะกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชนซึ่งจะมีบทบาทหน้าที่สำคัญ เช่น เป็นตัวแทนผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนของประเทศ, กำหนดมาตรฐานทางจริยธรรมสื่อมวลชน, พิจารณาการขอจดแจ้งและเพิกถอนการจดแจ้งขององค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน เป็นต้น ซึ่งล้วนแต่เป็นบทบาทให้คุณให้โทษต่อสมาชิกและวงการสื่อมวลชน

นอกจากนี้เมื่อคัดเลือกมาแล้วก็ไม่มีกลไกเอื้อให้สมาชิกมีส่วนร่วมหรือตรวจสอบการทำงานของคณะกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชน ทั้งที่มีวาระดำรงตำแหน่งได้ถึง 4 ปี และเป็นติดต่อกันได้ 2 สมัย รวม 8 ปี ทำให้เกิดข้อกังวลว่า กลุ่มบุคคลที่ผ่านการคัดเลือกโดยวงจำกัดเช่นนี้จะสามารถเข้ามาทำหน้าที่ในการส่งเสริมจริยธรรมวิชาชีพและปกป้องเสรีภาพสื่อมวลชน ควบคู่กับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร ได้จริงหรือไม่

กลไกการกำกับดูแลสื่อมวลชนจะออกมาเป็นอย่างไรเป็นเรื่องที่ต้องการฉันทามติจากสังคม ไม่ใช่เฉพาะจากแวดวงสื่อมวลชนเท่านั้น แต่ยังรวมถึงประชาชนทั่วไปซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย นอกจากนี้ สื่อมวลชนในสังคมประชาธิปไตยถูกคาดหวังให้ตรวจสอบการทำงานและการใช้อำนาจของภาครัฐ จึงควรปิดช่องทางที่ภาครัฐจะเข้ามาแทรกแซงการทำหน้าที่ ทั้งนี้ เพื่อความเป็นอิสระของวงการสื่อมวลชน และเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชนในฐานะเจ้าของประเทศที่แท้จริง

นอกจากนี้ สมาพันธ์สื่อไทยเพื่อประชาธิปไตย ยังแนบรายชื่อจดหมายปิดผนึก ตามเอกสาร (ด้านล่าง)