
“ยิ่งลักษณ์” ขึ้นไต่สวนจำนำข้าวนัดสุดท้าย เบิกความจำเลย 3 ปาก สุดท้าย ย้ำ “จำนำข้าว” ไม่กระทบเงินคลัง ไม่เกินกรอบหนี้สาธารณะ 9 ตุลาการ ตีตกคำร้องทนายส่งศาลรัฐธรรมนูญ ชี้ให้ความยุติธรรมแก่คู่ความเต็มที่แล้ว นัด 1 ส.ค. แถลงปิดคดี ชี้ชะตาพร้อมคดีทุจริต “บุญทรง” 25 ส.ค.นี้
@ “ยิ่งลักษณ์” ขึ้นศาลไต่สวนจำนำข้าวนัดสุดท้าย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ถ.แจ้งวัฒนะ นายชีพ จุลมนต์ รองประธานศาลฎีกา เจ้าของสำนวนคดีจำนำข้าวคดีหมายเลขดำ อม.22/2558 พร้อมองค์คณะรวม 9 คน ได้ไต่สวนพยานจำเลยนัดที่ 14 ที่อัยการสูงสุด เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อายุ 50 ปี อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นจำเลย ในความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ และเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และความผิดตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 กรณีละเลยไม่ดำเนินการระงับยับยั้งโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งทำให้รัฐเสียหายกว่า 5 แสนล้านบาท
@ แฟนคลับ – แกนนำเพื่อไทย ให้กำลังใจแน่น
ทั้งนี้เวลา 08.30 น. น.ส.ยิ่งลักษณ์ พร้อมทีมทนาย เดินทางมาศาลฎีกา โดยมีบรรดาอดีตรัฐมนตรี แกนนำพรรค และอดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย (พท.) มาให้กำลังใจ อาทิ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรองนายกฯ นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อดีตรองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายชัยเกษม นิติสิริ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายวัฒนา เมืองสุข อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการเลขาธิการพรรค นายชูศักดิ์ ศิรินิล ประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมาย นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ อดีตโฆษกพรรค เป็นต้น
ท่ามกลางประชาชนจำนวนมากเดินทางมาให้กำลังใจจำนวนมากบริเวณหน้าศาลฯ พร้อมตะโกนว่า “ยิ่งลักษณ์สู้ๆ” ท่ามกลางการรักษาความปลอดภัยจากกองบังคับการตำรวจนครบาล 2 และกองร้อยควบคุมฝูงชนหรือกองร้อยน้ำหวาน รวมทั้งเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบประมาณ 2 กองร้อย โดยมี พล.ต.ท.ศานิตย์ มหถาวร ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล เดินทางมาอำนวยความสะดวกด้วยตัวเอง
โดย น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวเพียงสั้นๆ ว่า “ขอขอบคุณสื่อมวลชนทุกท่าน และขอขอบคุณพี่น้องประชาชนทุกคนที่มาให้กำลังใจ ขณะนี้ได้เวลาที่จะต้องเข้าฟังการพิจารณาแล้ว ขออนุญาตเข้าไปก่อน” จากนั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้ถ่ายภาพร่วมกับอดีตรัฐมนตรี แกนนำ และอดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทยบริเวณด้านหน้าศาลฯ ก่อนที่จะเข้ารับฟังการสืบพยาน ขณะที่มวลชนยังคงปักหลักรอเพื่อให้กำลังใจ น.ส.ยิ่งลักษณ์จนกว่าการสืบพยานจะเสร็จสิ้น
@ ซัดเซอเวเยอร์ ชุด “ปนัดดา” ทำพลาด
ต่อมาเวลา 09.30 น.ศาลฎีกาฯ ออกนั่งบัลลังก์ไต่สวนพยานจำเลยปากที่ 1 คือ นายพศดิษฐ์ ดีเย็น อดีตหัวหน้าคลังสินค้า จ.นครราชสีมา ข้าราชการบำนาญเกษียณแล้ว เบิกความยืนยันขั้นตอนการจ่ายข้าวออกจากคลังสินค้ามีการตรวจสอบตามขั้นตอนและคู่มือที่กรมการค้าภายในกำหนด และทุกครั้งที่มีการมารับข้าวต้องมีเอกสารหรือตั๋วมายืนยันที่จะลงชื่อและเลขรหัสไว้ ส่วนการตรวจสอบของคณะกรรมการ 100 ชุดของ ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล ขณะเป็นปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีนั้น ทำขั้นตอนแทงข้าวไม่ถูกวิธีเหมือนผู้ที่มีความชำนาญทำ ดังนั้นกลายเป็นว่ามีข้าวหัก ข้าวเสียมาก ส่วนกรณีที่ตั้งข้องสงสัยข้าวเขมรปลอมปนนั้น พยานระบุว่า ลักษณะข้าวเขมร-ไทยต่างกันชัดเจน ข้าวเขมรเม็ดตรงป้อมๆ และข้าวไทยเมล็ดงอนหัว-ท้าย และยืนยันไม่มีการนำข้าวเขมรมาในโครงการ ซึ่งระหว่างโครงการอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ สั่งตรวจเข้มตามแนวชายแดนเฝ้าระวัง
@ อคส.ยัน ประมวลผลจำนำข้าววันต่อวัน
ต่อมาเวลา 10.30 น. ศาลฎีกาฯ เริ่มไต่สวนพยานจำเลยปากที่ 2 คือ นายชนุตร์ปกรณ์ วงษ์สีนิล อดีตผอ.องค์การคลังสินค้า (อคส.) ปี 2556 โดยสรุปขั้นตอนการบันทึกข้อมูลการรับเข้า-ออกข้าวจากคลังสินค้า ซึ่งระบบสารสนเทศสามารถประมวลผลได้วันต่อวัน ได้ตอบซักค้านอัยการโจทก์ถึงกรณีที่ตัวเองถูก ป.ป.ช.ตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริงนั้นก็เป็นเรื่องที่บริษัทเอกชนกล่าวหาว่ารับเงิน 30 ล้านบาท ช่วยเหลือการคืนข้าวที่ล่าช้า ซึ่งสาเหตุที่ถูกร้องเรียน นั้นเพราะว่าถูกกลั่นแกล้งเนื่องจากเอกชนจะให้การช่วยเหลือเรื่องเงินค่าปรับแต่ตัวเองไม่รับซึ่งเคยให้การกับ ป.ป.ช.ไปแล้ว ส่วนที่มีทนายคนนอกที่ไม่ใช่ลูกจ้างขององค์การคลังสินค้ามาตรวจสอบเอกสารก่อนส่ง ป.ป.ช.เรื่องการตรวจสอบจำนำข้าวนั้น ก็เป็นคำสั่งของผู้ใหญ่ในกระทรวง
@ ย้ำหนี้สาธารณะไม่เกิดกรอบ 60% ของจีดีพี
จากนั้น เวลา 13.00 น.ศาลจะนัดไต่สวนพยานปากที่ 3 คือนายกิตติ ลิ่มสกุล อาจารย์มหาวิทยาลัยไซตามะ ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินการคลังได้เบิกความตอบการซักค้านของอัยการโจทก์เกี่ยวกับผลวิจัยของทีดีอาร์ไอ และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) ว่า พยานเคยเห็นหรือไม่ โดยนายกิตติ เบิกความว่า ตนได้ศึกษาผลงานวิจัยของทั้งสองแห่ง และผลงานอื่นๆ อีกทั้งยังเป็นผู้ร่วมแถลงในรัฐสภาเกี่ยวกับนโยบายโครงการจำนำข้าวว่ามีการควบคุมทางวินัยการเงินการคลัง ซึ่งได้กำหนดกรอบวงเงินที่ใช้ในโครงการจำนำข้าวไม่เกิน 5 แสนบาท หรือมีหนี้สาธารณะไม่เกิน 60 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี และไม่เกิน 15 เปอร์เซ็นต์ของงบประมาณ โดยผลการศึกษาก็ยืนยันได้ว่าโครงการจำนำข้าวใช้เงินไม่เกินกรอบวงเงินดังกล่าว ส่วนที่มีผลวิจัยระบุถึงวงเงินสำรองของ ธ.ก.ส. 9 หมื่นล้านบาทนั้น มียอดเงิน 1.7 แสนล้านบาทในปี 2556 นั้น ตนยืนยันว่าการตรวจดูต้องเป็นไปตามรอบบัญชีว่ามีการปิดบัญชีแล้วหรือไม่ เพราะเท่าที่ทราบวงเงินหมุนเวียนไม่ได้ใช้เงิน นอกจากนี้ เชื่อว่ารัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่ได้คิดดำเนินการโครงการจำนำข้าวตลอดไป เพราะทราบว่ามีโครงการโซนนิ่งเกษตรกรรม เพื่อลดวงเงินที่ใช้ในโครงการจำนำข้าว
@ ตีตกคำร้องทนาย ยื่นวิธีพิจารณาขัด รธน.60
กระทั่งเวลา 14.40 น. ไต่สวนจำเลยปากสุดท้ายเสร็จ ศาลได้อ่านกระบวนพิจารณาว่า ศาลไต่สวนพยานโจทก์และพยานจำเลยรวม 45 ปาก ใช้เวลาไต่สวน 26 นัด เริ่มไต่สวนเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2559 สำหรับที่ทนายจำเลยยื่นคำร้องฉบับลงวันที่ 7 ก.ค.2560 และคำร้องเพิ่มเติมฉบับลงวันที่ 11 และ17 ก.ค.2560 ขอให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ตามมาตรา 212 โดยโต้แย้งว่าบทบัญญัติในมาตรา 5 แห่งพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพ.ศ.2542 ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 3, 25, 29, 235 วรรคหก
@ ให้ความยุติธรรมสองฝ่ายเต็มที่
ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่าการพิจารณาคดีนี้ ศาลได้ให้โอกาสคู่ความทั้งสองฝ่ายนำพยานหลักฐานเข้าไต่สวนเพิ่มเติม โดยโจทก์ยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติม 21 ครั้ง ไต่สวนพยาน 15 ปาก ใช้เวลาไต่สวน 10 นัด จำเลยยื่นบัญชีพยานเพิ่มเติม 51 ครั้ง ไต่สวนพยาน 30 ปาก ใช้เวลาไต่สวน 16 นัด อันเป็นการให้โอกาสคู่ความรวมทั้งสองฝ่ายนำพยานมาให้ศาลไต่สวนอย่างเต็มที่แล้ว ทั้งนี้ ก็เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมแก่คู่ความทั้งสองฝ่ายอันเป็นหลักการสำคัญของระบบไต่สวน ตามคำร้องของจำเลยพร้อมด้วยเหตุผลที่ยกขึ้นอ้างนั้นไม่เข้าเกณฑ์ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 212 ที่ศาลจะต้องส่งความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย จึงให้ยกคำร้องของจำเลย
@ นัดฟังคำพิพากษา 25 ส.ค.
ศาลอนุญาตให้จำเลยขอแถลงปิดคดีด้วยวาจาวันที่ 1 สิงหาคม 2560 เวลา 9.30 น. และอนุญาตให้คู่ความทั้งสองฝ่ายยื่นคำแถลงการณ์ปิดคดีเป็นลายลักษณ์อักษรภายในวันที่ 15 สิงหาคม 2560 หากไม่ยื่นภายในกำหนดถือว่าไม่ติดใจยื่นคำแถลงการณ์ปิดคดี อนึ่งศาลนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 25 สิงหาคม 2560 เวลา 09.00 น.
@ ปูงดสัมภาษณ์คดี
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังเสร็จสิ้นการไต่สวนพยานจำเลยเสร็จสิ้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้เดินออกมาทักทายประชาชนที่มาให้กำลังใจอยู่บริเวณหน้าศาลฎีกาฯ โดยให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนสั้นๆ ว่า หลังจากนี้จะไม่ขอให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับเรื่องคดี เพราะเป็นการแสดงความเคารพต่อศาล เนื่องจากศาลได้มีการไต่สวนพยานจำเลยเสร็จสิ้นแล้วและอยู่ระหว่างการพิจารณาคดี ซึ่งจะขอพูดทุกอย่างในวันที่ทำการแถลงปิดคดีด้วยวาจาในวันที่ 1 ส.ค.
@ ระทึกชี้ชะตาวันเดียวกับบุญทรง
อย่างไรก็ตาม วันที่ศาลนัดฟังคำพิพากษาคดีดังกล่าวของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ นั้น เป็นวันเดียวกับที่ศาลฎีกานัดฟังคำพิพากษา คดีหมายเลขดำ อม.25/2558 ที่อัยการสูงสุด เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นายภูมิ สาระผล อดีตรมช.พาณิชย์ ในฐานะประธานอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าว จำเลยที่ 1, นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์ ในฐานะประธานอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าว จำเลยที่ 2 และพวก ในวันที่ 25 ส.ค. 2560 เวลา 09.00 น.