เนติบริกร-นักแท็กติกเลือกตั้ง ลักไก่ ลากกฎหมายลูก 8 เดือน

เลือกตั้ง

 

ร่างกฎหมายลูก 2 ฉบับ คือ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง

คณะรัฐมนตรี (ครม.) ประทับตรา ส่งรัฐสภาเพื่อประกบกับร่างกฎหมายของพรรคร่วมรัฐบาล ร่างของพรรคร่วมฝ่ายค้าน ร่างของพรรคก้าวไกล และอาจมีร่างฉบับพรรคเล็ก เพื่อนำไปเจียระไน ออกมาบังคับใช้เป็นกฎหมาย เตรียมใช้ในการเลือกตั้ง

ซึ่งกฎหมายลูกทั้ง 2 ฉบับเป็น “กติกาย่อย” หลังจากรัฐสภา แก้รัฐธรรมนูญ 2560 ที่เปลี่ยนจากบัตรเลือกตั้งใบเดียว มาเป็นบัตรสองใบจนสำเร็จและมีผลบังคับใช้

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม รับทราบรายงานรัฐสภา ที่คาดว่าจะมีการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ในเดือนกุมภาพันธ์นี้

“นายกฯขอให้สมาชิกรัฐสภาทุกคน ร่วมกันผลักดันกฎหมายที่มีความสำคัญ ส่วนรัฐบาลมีความตั้งใจให้กฎหมายของไทยเป็นไปตามหลักสากล” นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกรัฐบาลแถลง

ตามขั้นตอนกฎหมายลูกทั้ง 2 ฉบับ มีคิวพิจารณาวาระรับหลักการช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ แต่บังเอิญว่ารัฐสภากำลังจะ “ปิดเทอม” หมดสมัยประชุมสภา และจะเปิดอีกครั้งในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม

“วิษณุ เครืองาม” รองนายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า รัฐบาลไม่ใช้กฎหมายลูกยื้อเวลาให้รัฐบาลอยู่ได้ยาวนานขึ้น เนื่องจากสมัยประชุมสภากำลังจะปิดตัวลงในวันที่ 28 กุมภาพันธ์

“กว่าจะเปิดสมัยประชุมอีกครั้งเดือนพฤษภาคม แต่เพื่อไม่ให้เสียเวลา ขอเปิดสมัยวิสามัญได้ โดยบอกมาที่รัฐบาลได้ว่าจะขอเปิดเพื่อพิจารณาในวาระสองและสาม รัฐบาลก็จะเปิดให้ ซึ่งอาจจะเปิดประมาณเดือนเมษายน”

“ที่อุตส่าห์เปิดให้ก็เพื่อจะไม่ยื้อไง แต่ถ้าขอมาแล้วไม่เปิดนี่แหละยื้อ แต่ทีนี้ต้องให้เขา (รัฐสภา) ขอมาว่ากฎหมายเสร็จแล้วขอเปิด เพราะถ้าอยู่ดี ๆ ไปเปิดแล้วไม่มีร่างเข้ามาหรือไม่เสร็จ ก็ไม่รู้จะเปิดทำไม เดี๋ยวไม่มีใครมาประชุมสภาล่มอีก”

ทว่า แหล่งข่าวจากแกนนำนิติบัญญัติฝ่ายรัฐบาล วางไทม์ไลน์การพิจารณากฎหมายลูกไว้ว่า กฎหมายทั้งสองฉบับ ผ่านวาระ 1 ในเดือนกุมภาพันธ์ จากนั้นจะเข้าสู่การแปรญัตติในชั้นกรรมาธิการ

ซึ่งคาดว่าจะเสร็จทันในช่วงก่อนเปิดสมัยประชุมสภาครั้งใหม่ ในปลายเดือนพฤษภาคม

จากนั้นจะเข้าสู่วาระ 2 และ 3 ในเดือนมิถุนายน เมื่อผ่านการเห็นชอบของรัฐสภา จะต้องส่งร่างกฎหมายเวียนไปให้องค์กรที่เกี่ยวข้องอย่างคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ตรวจสอบว่ามีสิ่งใดที่ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่

กรกฎาคม-สิงหาคม หาก กกต.ไม่ขัดข้องก็จะนำขึ้นทูลเกล้าฯ ซึ่งมีเวลา 90 วัน อย่างไรก็ตาม กฎหมายน่าจะมีผลบังคับใช้กันยายน-ตุลาคมนี้

เท่ากับว่า ใช้เวลาเต็มแม็ก 180 วัน ตามกรอบเวลาที่รัฐธรรมนูญอนุญาต

แต่ก่อนที่จะไปถึงวันนั้น ยังมีตัวแปรที่ฝ่ายผู้มีอำนาจต้อง “เคลียร์ให้ขาด” คือ “กติกาเลือกตั้ง”ในร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร…

ที่ยังเห็นไม่ลงรอยกันอยู่ในหมู่พรรคร่วมรัฐบาล-ฝ่ายค้าน คือ ประเด็นผู้สมัครรับเลือกตั้งใช้หมายเลขเดียวกันทั่วประเทศ ทั้งแบบบัญชีรายชื่อ และระบบเขตเลือกตั้ง

เพราะในร่างกฎหมายของรัฐบาลที่ออกแบบโดยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เขียน ให้ใช้เบอร์เดียวกันทั่วประเทศ ทั้งบัญชีรายชื่อ และ ส.ส.เขตเลือกตั้ง เหมือนเช่น ร่างของฝ่ายค้าน นำโดยพรรคเพื่อไทย และร่างของพรรคก้าวไกล

แต่ที่แตกต่างคือ ร่างกฎหมายของ “วิปรัฐบาล” ยังคงใช้หมายเลขผู้สมัครแบบ “ต่างเขต ต่างเบอร์”

แค่เปลี่ยนเขตเลือกตั้ง หมายเลขผู้สมัครก็เปลี่ยนไป เหมือนการเลือกตั้งปี 2562 ที่นักการเมืองก่นด่ากันทั่วราชอาณาจักร

เวลานั้นผู้สมัคร ส.ส.ในพรรคแบงก์ร้อยของพรรคเพื่อไทย เช่น พรรคเพื่อชาติ ใช้กลยุทธ์ “เปลี่ยนชื่อ” ตัวเองให้คล้ายกับ “ยิ่งลักษณ์-ทักษิณ ชินวัตร” เพื่อให้คนจำได้ ไม่ต้องคิดเรื่องหมายเลข

แต่เที่ยวนี้ร่างกฎหมายของวิปรัฐบาล ยังยืนยันใช้แบบเดิม-ไม่มีการแก้ไข แต่ทว่า นอกวงประชุม ทั้ง “ชินวรณ์ บุณยเกียรติ” รองประธานวิปรัฐบาลจากพรรคประชาธิปัตย์ “นิกร จำนง” วิปรัฐบาลจากพรรคชาติไทยพัฒนา ต่างออกมาชูแนวคิด ใช้เบอร์เดียวทั่วประเทศ ทั้งบัญชีรายชื่อ และผู้สมัครเขตเลือกตั้ง

ข่าวล่าสุดพรรคพลังประชารัฐขอดันสูตรแบบ ต่างเขต-ต่างเบอร์ โดยจับมือพันธมิตร ส.ว.คุมเสียงโหวตในชั้นคณะกรรมาธิการวิสามัญ หลังจากผ่านวาระ 1 จะแปรญัตติในชั้นรับหลักการ

“ก่อนหน้านี้มีการเคลียร์กันแล้วระหว่างแกนนำของพรรคพลังประชารัฐ ในวิปรัฐบาล และพรรคเพื่อไทยว่าจะแก้มาใช้แบบเบอร์เดียวทั่วประเทศ แต่ล่าสุดมีแนวโน้มว่าพรรคพลังประชารัฐจะเปลี่ยนใจ เพราะเห็นว่าตัวเองกำลังเสียเปรียบในการเลือกตั้ง หากใช้เขตเดียวเบอร์เดียวทั่วประเทศ ทั้งบัญชีรายชื่อและระบบเขตเลือกตั้ง” แหล่งข่าวจากพรรคฝ่ายค้าน เปิดเผย-ดักทางเกมผู้มีอำนาจ

เมื่อพรรคพลังประชารัฐแตกละเอียด ยิ่งกว่าแตกเป็นเสี่ยง ๆ

พรรคพลังประชารัฐ ภายใต้การนำ “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” หัวหน้าพรรคไม่มีทางเลือก

ต้องแก้กติกา-กุมสภาพการเลือกตั้ง ผ่านกฎหมายลูก 2 ฉบับ เพื่อให้ได้เปรียบในสนามเลือกตั้งอยู่บ้าง

ในจังหวะที่คะแนนนิยม ความเชื่อมั่นในรัฐบาลตกต่ำสุดขีด-พรรคแตก