เลือกตั้งซ่อมหลักสี่: วิธีแจ้งเหตุผลไม่ไปใช้สิทธิ ผ่านออนไลน์ ถึง 6 ก.พ.

เลือกตั้ง อบจ.
REUTERS/Athit Perawongmetha

เปิดขั้นตอน แจ้งเหตุผลไม่ไปเลือกตั้งซ่อมทางออนไลน์ มีเวลากรอกถึง 6 ก.พ.นี้ ไม่ไป-ไม่แจ้งโดนจำกัดสิทธิ 5 ประการ 2 ปี

วันที่ 28 มกราคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันอาทิตย์ที่ 30 มกราคม 2565 นี้ จะเป็นวันเลือกตั้งซ่อม ส.ส.กทม.เขต 9 เขตหลักสี่-จตุจักร พื้นที่แขวงทุ่งสองห้องและแขวงตลาดบางเขน และเขตจตุจักรบางส่วน ประกอบด้วย แขวงลาดยาว แขวงเสนานิคม และแขวงจันทรเกษม แทนตำแหน่งที่ว่างลง

สำหรับผู้ที่ไม่สามารถไปเลือกตั้งได้ ครั้งนี้ สำนักงานเขตหลักสี่ได้แจ้งว่า จะต้องชี้แจงเหตุผลเข้ามา โดยเปิดให้ชี้แจงใน 2 ช่วงเวลาคือ

  • ช่วงก่อนเลือกตั้ง 7 วัน ตั้งแต่วันที่ 23-29 มกราคม 2565
  • ช่วงหลังเลือกตั้ง 7 วัน ระหว่างวันที่ 31 ม.ค. – 6 ก.พ. 2565

ซึ่งนอกจากการไปแจ้งที่สำนักงานเขตและการส่งไปรษณีย์แล้ว ครั้งนี้ยังมีการอำนวยความสะดวกด้วยการแจ้งเหตุผลผ่านช่องทางออนไลน์ด้วย

“ประชาชาติธุรกิจ” เปิดขั้นตอนการแจ้งเหตุผลที่ไม่ได้ไปเลือกตั้งผ่านช่องทางออนไลน์ ดังนี้

1. คลิกที่นี่ เพื่อเข้าสู่หน้าจอกรอกรายละเอียด โดยผู้ที่จะกรอกได้ต้องเป็นผู้ที่มีสิทธิเลือกตั้งครั้งนี้เท่านั้น รูปแบบหน้าจอ เป็นดังนี้

ภาพจากเว็บไซต์กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย

2.กรอกรายละเอียดให้ครบถ้วน แล้วกดตรวจสอบข้อมูล รายละเอียดที่ต้องกรอก ได้แก่

  • เลขประจำตัวประชาชน
  • รหัสหลังบัตรประจำตัวประชาชน
  • ชื่อ นามสกุล โดยไม่ต้องระบุคำนำหน้าชื่อ
  • วัน/เดือน/ปีเกิดที่ปรากฎในบัตรประชาชน

3.เมื่อกดตรวจสอบข้อมูลแล้ว ระบบจะแจ้งเหตุจำเป็นที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งให้โดยอัตโนมัติ จากนั้นเก็บหลักฐานการกรอกข้อมูลเอาไว้

ไม่ไปเลือกตั้ง ไม่แจ้ง เกิดอะไรขึ้น?

ตาม พ.ร.ป.การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสำหรับผู้ที่มีสิทธิเลือกตั้ง 2561 มาตรา 35 ระบุว่า ผู้มีสิทธิเลือกตั้งแล้วไม่ได้ไปเลือกตั้ง และไม่แจ้งเหตุผลที่ไม่ไปจะถูก “จำกัดสิทธิ” ดังนี้

  1. การยื่นคําร้องคัดค้านการเลือกตั้ง ส.ส.
  2. สมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส., ส.ว. หรือสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นไม่ได้
  3. สมัครรับเลือกเป็นกํานันและผู้ใหญ่บ้านตามกฎหมายว่าด้วยลักษณะปกครองท้องที่ไม่ได้
  4. ดํารงตําแหน่งข้าราชการการเมืองตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการการเมือง และข้าราชการรัฐสภาฝ่ายการเมืองตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการรัฐสภาไม่ได้
  5. ดํารงตําแหน่งรองผู้บริหารท้องถิ่น เลขานุการผู้บริหารท้องถิ่น ผู้ช่วยเลขานุการผู้บริหารท้องถิ่น ประธานที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น ที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น หรือคณะที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น ตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่ได้

ทั้งนี้ การจำกัดสิทธิดังกล่าวมีระยะเวลา 2 ปี นับจากวันที่มีการเลือกตั้งแล้วไม่ได้ไปใช้สิทธิ หากวันที่ 30 มกราคม 2565 ไม่ไป ก็ถูกจำกัดสิทธิถึงวันที่ 30 มกราคม 2567