3 หมื่นคะแนน ชี้ขาดเลือกตั้งหลักสี่ เพื่อไทยคิกออฟแลนด์สไลด์

เลือกตั้งหลักสี่

การเลือกตั้งซ่อมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แทนตำแหน่งที่ว่าง เขตเลือกตั้งที่ 9 หลักสี่-ดอนเมือง คึกคัก ดุเดือดจนถึงวันสุดท้าย ในวันที่ 30 มกราคม 2565 คือวันดีเดย์เลือกตั้ง

ผู้สมัคร 8 คน จาก 8 พรรคการเมือง ประกอบด้วย นายพันธุ์เทพ ฉัตรนะรัชต์ พรรคไทยภักดี หมายเลข 1 นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี พรรคกล้า หมายเลข 2 นายสุรชาติ เทียนทอง พรรคเพื่อไทย หมายเลข 3

น.ส.กุลรัตน์ กลิ่นดี พรรคยุทธศาสตร์ชาติ หมายเลข 4 นายรุ่งโรจน์ อิบรอฮีม พรรคไทยศรีวิไลย์ หมายเลข 5 นายกรุณพล เทียนสุวรรณ พรรคก้าวไกล หมายเลข 6

นางสรัลรัศมิ์ เจนจาคะ พรรคพลังประชารัฐ ในหมายเลข 7 และ นายเจริญ ชัยสิทธิ์ หมายเลข 8 ผู้สมัครจากพรรคครูไทยเพื่อประชาชน ร่วมชิงชัยเก้าอี้ ส.ส.เขต 9 ของ กทม.

ความเคลื่อนไหวแต่ละพรรค ทยอยลงพื้นที่หาคะแนนเสียงกันฝุ่นตลบ โดยเฉพาะผู้สมัครจากพรรคการเมืองหัวแถวมี ส.ส.ในสภา ทั้งพรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล ต่างขนทัพเล็ก ทัพใหญ่ ลงหาเสียงในตรอก ซอก ซอย แบบเคาะประตูบ้าน ไปจนถึงจัดเวทีปราศรัย ส่วนพรรคใหม่ ที่ประกาศตัวเป็น “ขั้วกลาง” อย่างพรรคกล้า ก็จัดปราศรัยใหญ่

เว้นก็แต่พรรคพลังประชารัฐที่งดปราศรัยแต่จะงัด “พลังพิเศษ” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค รองนายกรัฐมนตรี เสริมสิริมงคลให้กับผู้สมัคร พ่วงแคมเปญ “รักลุงตู่ กาเบอร์ 7” และรักการทำงานของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ขอให้เลือกสรัลรัศมิ์เข้าไปทำงานในสภา

ชูแคมเปญ “รักลุงตู่”

โดยมาดามหลี “สรัลรัศมิ์” ผู้ชิงเก้าอี้ ส.ส.เขตหลักสี่ จตุจักร ยกเหตุผลที่ชู “พล.อ.ประยุทธ์” ในโค้งสุดท้ายว่า การทำงานอย่างเหน็ดเหนื่อยของท่าน พล.อ.ประยุทธ์ จะเห็นว่าท่านมีความมุ่งมั่นและมีเป้าหมายที่จะทำเพื่อประโยชน์ของประเทศและคนไทย

“ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ท่านดำรงตำแหน่ง เราก็จะได้เห็นการทำหน้าที่แบบไม่มีวันหยุดพักผ่อนเลย ดิฉันจึงยึดถือท่านเป็นแบบอย่างในการทำงานดูแลพี่น้องชาวหลักสี่-จตุจักรมาโดยตลอด ว่าเราจะมาคิดว่าเหนื่อยคิดท้อไม่ได้ เพราะขนาดท่านดูแลคนทั้งประเทศ ท่านก็ยังเดินหน้าทำเพื่อประชาชนโดยไม่เคยปริปากบ่นสักคำ”

ท่ามกลางความ “ระส่ำระสาย” ภายในพรรค แต่แกนนำระดับรัฐมนตรีก็แวะเวียนไปช่วยหาเสียงไม่ขาดสาย ไม่ว่า พล.อ.ประวิตร-ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดีอีเอส (ตอนที่ยังไม่ติดโควิด-19) สมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม

เพื่อไทย เจาะบ้านมีรั้ว

ส่วนพรรคเพื่อไทยในช่วงโค้งสุดท้าย แม้ “สุรชาติ เทียนทอง” ประกาศว่าทำพื้นที่ต่อเนื่องมา 15 ปี ทั้งโพลพรรคบอกว่ายังนำอยู่ เพียงแต่ยังนำไม่ขาด

วอร์รูมพรรคเพื่อไทยประเมินสถานการณ์ว่า หลักสี่-จตุจักร เป็นชุมชนมีรั้ว บางพื้นที่ยังเข้าไม่ถึง และถึงยาก เพื่อไทยจึงต้องปรับกลยุทธ์ ทั้งออนโซเชียลมีเดีย และออนกราวนด์ เพื่อให้ถึงคนทุกกลุ่ม

ล่าสุดกับการออกแถลงการณ์สั้น 2 ย่อหน้าเมื่อวันอังคารที่ 25 มกราคม เพื่อส่งไปถึงหัวคะแนนแต่ละชุมชน และกระจายต่อผ่านกลุ่มไลน์หมู่บ้าน ให้ออกมาเลือกตั้ง

“ภูมิธรรม เวชยชัย” ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคเพื่อไทย นักยุทธศาสตร์ประจำพรรค ฉายภาพว่า ที่พรรคทำเป็นแถลงการณ์สั้น ๆ เพราะอยากให้ยิงในไลน์ง่าย ๆ ยิงเข้าไปในบ้านมีรั้ว ที่เขามีเพื่อนฝูงที่เขาอยากช่วย สั้น ๆ คือ เลือกเรา (พรรคเพื่อไทย) ดีกว่า และทุกคนก็หวังว่าการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นหมุดหมายในการเดินหน้าต่อ ก้าวไกลก็ต้องการ พรรคเพื่อไทยก็ต้องการ พรรคพลังประชารัฐก็ต้องการที่จะมีชัยชนะ

ภูมิธรรมอ่านความคิด “คู่แข่ง” ในสนามกับความต้องการที่จะ “ชนะ” เลือกตั้งซ่อมครั้งนี้ว่า บางพรรคต้องการรักษาสถานภาพไม่ให้พังไปมากกว่านี้ บางพรรคต้องการสิ่งนี้เพื่อเป็นสเต็ปต่อไปในการเคลื่อนไหวเลือกตั้งใหญ่ครั้งหน้า ส่วนพรรคเพื่อไทยต้องการใช้เวทีนี้เพื่อไปสู่การแลนด์สไลด์ในการเลือกตั้งครั้งหน้าก็เท่านั้น ทุกพรรคมีหมุดหมายหมด

ทั้งนี้ ในวันที่ 30 มกราคมอันเป็นวันเลือกตั้ง พรรคเพื่อไทยส่งอาสาสมัครของพรรคลงไปเฝ้าหน้าหน่วยทุกหน่วยทั้ง 280 หน่วย ที่สำคัญยังตั้งกล้องไลฟ์สด สอดส่องความผิดปกติ มายังวอร์รูมพรรค

ก้าวไกลต่อยอดเลือกตั้งใหญ่

พรรคก้าวไกลที่ส่ง “เพชร กรุณพล” ลงสนาม อาศัยมุกเดิมจากการที่เคยทำในการเลือกตั้งซ่อมจังหวัดสงขลา ที่ปราศรัยในค่ายทหารช่วงโค้งสุดท้ายเป็นเชิงสัญลักษณ์อีกครั้ง ที่ค่ายกรมยุทธโยธาและมณฑลทหารบกที่ 11

“พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวว่า การที่เราต้องการเข้าไปปราศรัยและหาเสียงในค่ายทหารนั้น เพราะต้องการให้ทหารได้เข้าใจถึงแนวทางการปฏิรูปกองทัพของพรรค เราพบว่ามีงบประมาณของกองทัพที่ถูกใช้ไปอย่างไม่เกิดประโยชน์มากเกินไป

พรรคก้าวไกลต้องการผลักดันงบประมาณเหล่านี้ มาให้เป็นงบประมาณของประชาชน เป็นสวัสดิการของพี่น้องประชาชนรวมถึงชีวิตของครอบครัวทหารชั้นผู้น้อยให้อยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรี และที่สำคัญพรรคก้าวไกลต้องการที่จะปรับขนาดกองทัพให้เล็กลงแต่คงประสิทธิภาพที่สูงขึ้น และสุดท้ายตนต้องการผลักดันยกเลิกการเกณฑ์ทหาร

ก้าวไกลจับอารมณ์โหวตเตอร์ว่า กระแสของ “เพชร กรุณพล” ดีขึ้นเรื่อย ๆ แม้รู้อยู่เต็มอกว่าโอกาสคว้าชัยชนะยากยิ่งกว่าเข็นครกขึ้นภูเขา แต่เป้าหมายที่แนบท้ายการเลือกตั้งซ่อม ก็เพื่อเป็นบันไดไปสู่การเลือกตั้งใหญ่

สะท้อนจากเวทีปราศรัยครั้งสุดท้ายของพรรค เมื่อวันที่ 28 มกราคม ในคำเชิญชวนระบุว่า เชิญพี่น้องประชาชนจากทุกพื้นที่ ที่เจ็บปวดกับรัฐบาลที่ไร้ประสิทธิภาพ เบื่อหน่ายผู้นำที่ไร้วิสัยทัศน์ มาพบปะชาวก้าวไกล

และร่วมฟังปราศรัยใหญ่ที่ไม่ใช่แค่การปราศรัยเลือกตั้งซ่อม แต่คือ “โหมโรง” ก่อนถึงเลือกตั้งใหญ่ “พิธา” แสดงวิสัยทัศน์ถึงอนาคตประเทศไทยที่ขับเคลื่อนด้วยการเมืองแห่งความหวัง “ชัยธวัช ตุลาธน” เลขาธิการพรรคก้าวไกล ฉายภาพเบื้องลึกเบื้องหลังรัฐนาวาสภาพ “ก่อนซ่องโจรแตก”

อรรถวิชช์โชว์ผลงานเก่า

ขณะที่ “อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี” ผู้สมัครจากพรรคกล้า ในฐานะที่เคยเป็นเจ้าของพื้นที่ในยุคพรรคประชาธิปัตย์รุ่งเรือง ในช่วงสุดท้าย พยายามเดินเคาะให้ครบทุกหลัง เพราะการเลือกตั้งคราวที่แล้วไม่ได้ลงเขตนี้ แต่ก็มีความคุ้นเคย

อยากให้ประชาชนได้เห็นผลงานในอดีตที่เคยทำในพื้นที่สมัยเป็น ส.ส. ทำงานในสภาที่มีส่วนออกร่างกฎหมาย 20 กว่าฉบับ งานในพื้นที่ก็มีการประสานงานถนนหนทาง ท่อระบายน้ำ คราวนี้ก็เหมือนกับกลับมาบอกอีกครั้งว่าเราลุยและพร้อมสู้ ซึ่งก็ได้รับการต้อนรับอย่างดี ไม่มีจุดไหนที่เกิดปัญหา

พรรคกล้าจะไม่ยอมเป็นขวาตกขอบ หรือซ้ายตกขอบเด็ดขาด แนวทางที่เดินอยู่สามารถทำได้ และจะนำไปสู่ความปรองดอง

“ตอนที่ลงพื้นที่รู้สึกว่าคะแนนจะตัดกันแค่ 2 พรรค คือ ไม่ผมก็นายสุรชาติ เทียนทอง จากพรรคเพื่อไทย เนื่องจากทั้งคู่ต่างทำงานพื้นที่กันมานาน 17 ปี เพราะนายสุรชาติอาจคุ้นเคยในเขตหลักสี่ ส่วนผมคุ้นเคยในเขตจตุจักร”

ชิง 3 หมื่นแต้มเข้าวิน

บทสนทนาของนักการเมืองในสภาผู้แทนราษฎรฟากรัฐบาล ที่จับตาการเลือกตั้งซ่อมเขตหลักสี่แบบตาไม่กะพริบวิเคราะห์สถานการณ์กันว่า การเลือกตั้งใน กทม. ต่างจากการเลือกตั้งในต่างจังหวัด เพราะความใกล้ชิดระหว่าง ส.ส.เขต กับผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ไม่มีความใกล้ชิดเท่ากับ ส.ส.กับผู้มีสิทธิเลือกตั้งในต่างจังหวัด

ดังนั้น การออกมาลงคะแนนเลือกตั้งใน กทม. จึงเป็นในลักษณะ “แสดงจุดยืนทางการเมือง” มากกว่าหวังให้ ส.ส.เขตมาดูแลสารทุกข์สุกดิบ

ดังนั้น การเลือกตั้งใน กทม. อยู่ที่การบริหารจัดการการเลือกตั้ง ถ้าเจาะกลุ่มเป้าหมายเจอ และ “บริหารจัดการ” ได้ถูกต้องโอกาสชนะก็มีความเป็นไปได้

“ถ้าหากจะใช้เงินมาบริหารจัดการเรื่องการเลือกตั้ง เช่น ฐานคะแนนของผู้ชนะอยู่ที่ 3 หมื่นคะแนน ต้องจ่ายมากกว่า 2 เท่า คือ 7 หมื่นคะแนน เพื่อการันตีว่าจะได้ชนะเลือกตั้ง แต่ขึ้นอยู่กับว่าจะหากลุ่มที่เป็นฐานคะแนน 3 หมื่นเสียงแล้วมาบริหารจัดการได้หรือไม่” แหล่งข่าวกล่าว

วงประเมินวงเดิมวิเคราะห์ว่า จุดชี้ขาดในการเลือกตั้งซ่อมเขตหลักสี่-จตุจักร อยู่ที่ว่าจะมีคนออกมาใช้สิทธิมากหรือน้อย ถ้าออกมาใช้สิทธิน้อย พรรคพลังประชารัฐอาจจะเข้าวิน แต่ถ้ามาใช้สิทธิมากโอกาสเป็นของพรรคอื่น

จากข้อมูลของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในการเลือกตั้งซ่อมเที่ยวนี้ มีหน่วยเลือกตั้ง/ที่เลือกตั้ง (อาคาร/เต็นท์) 280 หน่วย ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 170,764 คน

ตามสถิติในการเลือกตั้งใหญ่ 2 เที่ยว เที่ยวแรก 3 กรกฎาคม 2554 ผู้ชนะในเที่ยวนั้นคือ “สุรชาติ เทียนทอง” จากพรรคเพื่อไทย ได้ 28,376 คะแนน อันดับสอง นายสกลธี ภัททิยกุล จากพรรคประชาธิปัตย์ ได้ 25,704 คะแนน

เที่ยวที่สอง 24 มีนาคม 2562 ที่ “สิระ เจนจาคะ” พรรคพลังประชารัฐ ได้เป็นอันดับหนึ่ง ได้ 33,321 คะแนน เอาชนะ สุรชาติ เทียนทอง จากพรรคเพื่อไทย ที่ได้ 30,564 คะแนน เฉือนกันแค่หลักพันคะแนน


ฐานคะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ 3 หมื่นแต้ม ใครคว้า 3 หมื่นแต้มขึ้นไปมีสิทธิชนะสูง