ประวิตร เคาะ แผนรักษาความปลอดภัยผู้นำเอเปกขั้นสูงสุด

ประวิตร เอเปค

ประวิตร บัญชาเอง ถกฝ่ายความมั่นคง แผนรักษาความปลอดภัย-อำนวยความสะดวกการจราจร ไทยเป็นเจ้าภาพจัดงานประชุมผู้นำเอเปก 2565 ขั้นสูงสุด

วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2565 ที่มูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด พล.อ.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม เปิดเผยว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้เรียกประชุมอนุกรรมการด้านการรักษาความปลอดภัยและการอำนวยความสะดวกการจราจร ซึ่งมีส่วนราชการต่าง ๆ ร่วมประชุม ผ่านระบบ VTC เพื่อเตรียมการจัดประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคและการประชุมที่เกี่ยวข้อง โดยที่ประชุมได้รับทราบและประเมินสถานการณ์ด้านการข่าวร่วมกัน

รวมทั้งพิจารณาและเห็นชอบร่างแผนรักษาความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกการจราจร การจัดประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปกและการประชุมที่เกี่ยวข้อง ในช่วงที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปก ปี 2565

โดยมีสรุปสาระสำคัญในการกำหนดพื้นที่ปฏิบัติการ และแนวความคิดในการปฏิบัติการด้านต่าง ๆ เช่น ด้านการรักษาความปลอดภัย ด้านการอำนวยความสะดวกการจราจร ด้านการข่าว ด้านการแก้ไขปัญหาการก่อความไม่สงบ ด้านการแก้ไขปัญหาการก่อการร้าย เป็นต้น

พร้อมทั้งมอบหมายให้หน่วยที่เกี่ยวข้อง จัดทำแผนด้านต่าง ๆ โดยให้กองบัญชาการกองทัพไทย รับผิดชอบแผนเผชิญเหตุต่อต้านการก่อการร้าย กระทรวงสาธารณสุข รับผิดชอบแผนส่งกลับสายการแพทย์ โดยมีกองทัพเรือและกองทัพอากาศ ร่วมรับผิดชอบจัดทำแผนส่งกลับสายแพทย์ทั้งทางบกและทางน้ำ รวมทั้งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ รับผิดชอบจัดทำแผนการรักษาความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกการจราจร

พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า การประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปกและการประชุมที่เกี่ยวข้องที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพในปี 2565 นี้ ถือเป็นหน้าตาและโอกาสของประเทศไทยในเวทีนานาชาติ ที่ต้องการความร่วมมือกันทุกภาคส่วนอย่างสูงสุด ในการแสดงออกถึงภาพลักษณ์ของความพร้อม ความเชื่อมั่นและความเป็นหนึ่งเดียวกันและชื่อเสียงของประเทศครั้งสำคัญ ต่อการฟื้นฟูประเทศหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19

จึงขอกำชับให้ทุกส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ได้จัดประชุมหารือกับหน่วยงานต่าง ๆ จัดทำแผนด้านต่าง ๆ ให้ครอบคลุมความปลอดภัยในทุกการประชุมที่เกี่ยวข้องต่อเนื่องกันไป ตั้งแต่ ก.พ.- พ.ย. 2565 ทั้งด้านการชุมนุมสาธารณะ ด้านการก่อเหตุรุนแรง และด้านความปลอดทางไซเบอร์

โดยให้ความสำคัญกับสถานการณ์และข้อมูลด้านข่าวกรอง และให้มีแผนเผชิญเหตุรองรับทุกสถานการณ์ในทุกพื้นที่ที่มีการจัดประชุม เพื่อให้เกิดความเรียบร้อย ความมั่นคงปลอดภัยและความเชื่อมั่นในระดับนานาชาติในภาพรวม