อภิปรายทั่วไป: ก้าวไกลรู้ตัวอ้ายโม่ง ปกปิดโรคระบาด ASF นั่งอยู่ข้าง ๆ ประยุทธ์

ปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส. ก้าวไกล เผยตลอด 3 ปีเจอโรคระบาดสัตว์ไปแล้ว 3 ระลอก เสียหายทางเศรษฐกิจรวมกันคือ 56,868.25 ล้าน ย้ำรู้ตัวอ้ายโม่งปกปิดข้อมูล นั่งข้าง ๆ “ประยุทธ์”

วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2565 ที่รัฐสภามีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานการประชุม เพื่อพิจารณาญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไป เพื่อซักถามข้อเท็จจริงหรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พิษณุโลก เขต 1 พรรคก้าวไกล อภิปรายถึงความล้มเหลวฉ้อฉลในการจัดการโรคระบาดอหิวาต์แอฟริกันในสกร (ASF) และปัญหาหมูแพง โดยระบุว่ารัฐบาลต้องรับผิดชอบต่อความสูญเสียที่เกิดขึ้น เพื่อไม่ให้ความเสี่ยงโรคระบาดเกิดซ้ำแล้วซ้ำอีก และเพื่อไม่ให้เกิดการกินรวบอุตสาหกรรมสุกร

ทั้งนี้ ราคาเนื้อหมูแพงขึ้นสูงสุดในประวัติศาสตร์ และลดลงอย่างผิดปกติหลังการประกาศเจอโรค ASF เหตุการณ์นี้เริ่มต้นตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564 หมูเนื้อแดงจาก 125 บาท ขยับขึ้นเป็น 136 บาทในเดือน พ.ย. และ 165 บาทในเดือน ธ.ค. และร้ายแรงที่สุดในเดือน ม.ค. 2565 คือ 190-220 บาท

สำหรับหมูเนื้อแดง สาหัสที่สุดคือ 260-300 บาท สำหรับหมูสามชั้น สวนทางกับดัชนีราคาเนื้อสุกรของโลก หากสังเกตดี ๆ จะเห็นว่า ราคาเนื้อหมูหยุดปรับขึ้นและค่อย ๆ ปรับตัวลดลง จุดตัดสำคัญอยู่ที่เดือนมกราคม 2565

คือวันที่การเปิดเผยว่ามีโรคระบาด ASF ในประเทศไทย นำมาสู่การตรวจสอบการกักตุนเนื้อสุกรในห้องเย็นตั้งแต่กลางเดือนมกราคมเป็นต้นมา จากการตรวจสอบพบหมูในห้องเย็น 1,366 แห่ง มีที่เก็บหมู 24.66 ล้านกิโลกรัมเป็นอย่างน้อย

นายปดิพัทธ์ กล่าวว่า รัฐบาลออกมาเคลมผลงานว่า แก้ไขปัญหาได้ถูกจุด แต่ต้องย้ำว่า การที่ราคาทะยานขึ้นสูงและลดลงอย่างรวดเร็วได้ไม่ใช่เรื่องปกติ แต่เป็นความชั่วร้ายของรัฐบาล คณะรัฐมนตรี และโดยเฉพาะกระทรวงเกษตรฯ และกระทรวงพาณิชย์ที่ตลอด 3 ปีที่ผ่านมาปี 2562-2564

ท่องตามโพยอยู่อย่างเดียวว่าประเทศไทยไม่มี ASF ส่วน พล.อ.ประยุทธ์บอกว่า ไม่รู้ว่าหมูแพงได้อย่างไร สั่งการขึงขัง ตรึงราคา ตั้งวอร์รูมทุกจังหวัด ตรวจสอบห้องเย็น หลอกพี่น้องประชาชนว่าแก้ปัญหาได้แล้ว

“มันคือละครตบตาคนไทยทั้งประเทศ เพราะจริง ๆ แล้วคณะรัฐมนตรีรู้มานานแล้วว่ามีโรคระบาด ASF และมีคนจำนวนเล็ก ๆ กลุ่มหนึ่งรู้สถานการณ์เป็นอย่างดี จึงแสวงหาความร่ำรวย เหยียบย่ำพี่น้องประชาชนผู้บริโภคและเกษตรรายเล็กรายน้อย ความเสียหายย่อยยับเกิดขึ้นในฟาร์มขนาดย่อย ขนาดกลาง และขนาดใหญ่บางที่” นายปดิพัทธ์กล่าว

นายปดิพัทธ์ กล่าวอีกว่า แต่ทุนใหญ่ไม่กระทบมากเพราะมีหมูขายไม่อั้น ทุกคนต้องวิ่งหาหมูจากทุนใหญ่ เพราะไม่มีหมูของรายย่อยเหลือแล้ว กินรวบ เบ็ดเสร็จ ฟาร์มขนาดใหญ่กำลังเพิ่มการผลิต ขึ้นฟาร์มใหม่กันเต็มไปหมด เพราะรู้มาตลอดว่ามีการระบาด และรู้ด้วยว่าจะทำกำไรได้มหาศาล ถ้าใครมีหมูในช่วงปลายปี 2564 และสามารถกักตุนไว้ในห้องเย็นต่าง ๆ ได้

นายปดิพัทธ์ กล่าวอีกว่า ในปี 2562 รู้ว่ามี ASF และเสนอเป็นวาระแห่งชาติ แต่ไม่มีผลงาน ไร้น้ำยา สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี แจ้งในวันที่ 16 ตุลาคม 2562 ให้แต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการป้องกัน ควบคุมและกำจัดโรคอหิวาต์แอฟริกันในสุกร ในหนังสือฉบับนี้อ้างอิงถึง 3 คน คือ นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรกรฯ และรองนายกรัฐมนตรี จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ทราบแล้ว ดังนั้น อย่ามาบอกไม่รู้

ปี 2563 เริ่มมีสุกรตาย มีการทำลายหมู สหกรณ์เชียงใหม่ ลำพูน พังย่อยยับตั้งแต่ปี 2563-2564 มีมติ ครม.ออกมาชดเชยค่าทำลายหมู 3 ครั้ง รวมเป็นเงิน 1,000 ล้านบาท ทำลายหมูไปแล้ว 300,000 ตัว จะไม่เจอ ASF สักตัวเลยหรือ ที่อ้างว่าทำลายเพราะโรค PPRS แต่โรค PRRS เป็นโรคประจำถิ่นที่มีวัคซีนใช้กันมานานแล้ว

จบปี หมูตายไป 300,000 ตัว แต่รัฐบาลตบตาเกษตรกรจัดงานเลี้ยงในปี 2563 เห็นรัฐมนตรีเกษตรฯ เฉลิมชัย ศรีอ่อน ท่านอธิบดีกรมปศุสัตว์ไปยืนยิ้ม ประกาศว่าประเทศไทย คือ ประเทศเดียวในกลุ่มประเทศอาเซียนที่ยังไม่พบการระบาดของโรค ASF ในสุกร โดยในปีนั้นประเทศไทยสามารถส่งออกไปยังประเทศกัมพูชาในปริมาณสูงกว่าปี 2562 อย่างก้าวกระโดดถึง 400%

จะไม่ให้ตัวเลขการส่งออกเติบโตได้อย่างไร เพราะประเทศเพื่อนบ้านติดโรคกันหมด มีแต่บ้านเราที่หลอกขายคนอื่นไปทั่ว แถมปิดปีด้วยงานเลี้ยงฉลองยอดการส่งออก จนนึกว่าท่านอธิบดีเป็นผู้จัดการบริษัท แต่พอเข้าปี 2564 การระบาดลงมาที่ภาคตะวันออกและตะวันตก กลายเป็นเอาไม่อยู่แล้ว

ฟาร์มขนาดใหญ่เสียหาย เพราะปี 2563 ปกปิดข้อมูลไว้จนหมูเสียหายย่อยยับ เกิดการหนีตาย ระบายหมูขายกันถูกๆ ตัวละ 300-500 บาทพ่อค้าคนกลางกดราคาหน้าฟาร์มกันอย่างเต็มที่ แต่ราคาเนื้อแดงหน้าเขียงราคาเดิม รวยขึ้นกันมหาศาล ด่านกักสัตว์ก็ผ่านกันอย่างสบาย ช่วงเร่ง ๆ จ่ายกันถึงคันละ 10,000 บาท โดยไม่มีใครสนใจว่าจะกระจายโรคแค่ไหน เพราะรัฐมนตรีและอธิบดีกรมปศุสัตว์ท่องไว้อย่างเดียวว่า ไม่มี ASF

ตนมีหลักฐานคือผลตรวจเจอเชื้อจากซากหมูที่ไปขุดเอง เป็นหมูที่ตายตั้งแต่กลางปี 2564 ที่อำเภอสามพราน นครปฐม กลิ่นเหม็นเน่าที่ผมขุดเจอ ไม่ใช่กลิ่นเหม็นเน่าของหมู แต่เป็นกลิ่นเหม็นเน่าของกรมปศุสัตว์ที่ปกปิดข้อมูล ผมเอาอ้ายโม่งมาแล้ว อย่างที่ท่านนายกรัฐมนตรีบอกให้ไปหาอ้ายโม่งมา หามาแล้วท่านมีปัญญาปรับ ครม.หรือไม่ จะท่องแต่ไม่รู้ ๆ ไม่ได้ ถ้าปรับไม่ได้ก็ไม่สมควรเป็นนายกฯ

หลังการประกาศพบเชื้อ ASF วันที่ 10 ม.ค. 2565 ภายใน 20 วันเท่านั้น กลับเจอเชื้อระบาดไป 21 จังหวัดทุกภูมิภาค เนื่องจากเชื้อไม่ได้เพิ่งมีแต่มีอยู่แล้ว จะให้เข้าใจอย่างไรหากไม่ใช่การปกปิดข้อมูล ถามว่าปกปิดเพื่ออะไร คำตอบอยู่ที่รอยยิ้มของรัฐมนตรีในวันที่ส่งออกได้ 400%

นายปดิพัทธ์ กล่าวต่อไปว่า หากยังปล่อยให้รัฐบาล กระทรวงเกษตรฯ และกรมปศุสัตว์ที่เป็นดินแดนสนธยา ปกปิดข้อมูล ลอยตัวเหนือปัญหาต่อไป สิ่งที่จะเจอในอนาคตอันใกล้คือ ทุนใหญ่กินรวบผูกขาดการผลิตและกำหนดราคาเนื้อสุกรได้ทั้งหมด เพราะตอนนี้โรคระบาดได้ทำลายฟาร์มรายย่อย รายเล็ก และรายกลางไปเกือบหมดสิ้นแล้ว ทุนใหญ่จะคุมปัจจัยการผลิตได้ไปจนถึงแผงราคาขายในตลาดสด เดิมตรงนี้จะมีการถ่วงดุลราคาระหว่างทุนเล็ก ทุนกลาง ทุนใหญ่ ตอนนี้จบแล้วเหลือแต่ทุนใหญ่กินรวบเบ็ดเสร็จ

“ระบบปกปิดเน่าเฟะ ทำให้ตลอด 3 ปี เราเจอโรคระบาดสัตว์ไปแล้ว 3 ระลอก กาฬโรคม้า ลัมปิสกิน และ ASF ความเสียหายทางเศรษฐกิจรวมกันคือ 56,868.25 ล้านบาท อีกโรคที่รอปะทุอยู่ระวังให้ดีคือ ไข้หวัดนก สายพันธุ์ใหม่ H5N6 ตอนนี้บทสนทนาเหมือนเดิมเป๊ะ คือ มีคนบอกว่าเจอแล้วที่นั่น เจอแล้วที่นี่ แต่รัฐบอกว่าไม่มี ถามว่าต้องมีคนตายก่อนใช่หรือไม่จึงจะมีการยอมรับเรื่องนี้ออกมา ส่วนประการต่อมา วงการวิชาชีพสัตวแพทย์หมดความน่าเชื่อถือ ทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติหากไม่กล้ายืนหยัดเพื่อความถูกต้อง

“ปัญหาทั้งหมดนี้ จึงต้องถามไปยังนายกรัฐมนตรีว่าจะรับผิดชอบการปกปิดข้อมูล ความฉ้อฉลของกรมปศุสัตว์อย่างไร ท่านบอกให้เอาอ้ายโม่งออกมาก็นั่งอยู่ข้าง ๆ กัน ถ้าหาไม่เจอก็ไม่รู้จะว่าอย่างไร” ปดิพัทธ์ระบุ

นายปดิพัทธ์กล่าวว่า หากพรรคก้าวไกลเป็นรัฐบาล จะชั่งน้ำหนักระหว่างการประกาศโรคระบาด และผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างรอบคอบ โปร่งใส โดยแนวทางที่เราเสนอคือ การเพิ่มงบฯวิจัย จัดทำระบบฐานข้อมูลให้เห็นทั้งระบบของการปศุสัตว์ รวมถึงวงจรของการตรวจวินิจฉัยโรคที่โปร่งใส เพื่อให้รู้ว่าหากมีโรคระบาดเกิดขึ้นจะต้องปิดวาล์วที่จุดไหน ซึ่งตอนนี้ยังไม่มีฐานข้อมูลเหล่านี้เลย

รัฐต้องสร้างศูนย์ทำลายสัตว์ติดเชื้อในทุกภูมิภาค เพื่อให้เกิดการทำลายสัตว์ที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ ลดภาระให้เกษตรกร ด้านการฟื้นฟู รัฐต้องวางแนวทางเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อย ทั้งเรื่องของการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการเลี้ยงปศุสัตว์ในระบบ Biosecurity รวมไปถึงการสนับสนุนเงินกู้ปลอดดอกเบี้ยอย่างน้อย 3 ปี เพื่อให้เกษตรกรนำไปปรับปรุงฟาร์ม สุดท้ายส่งเสริมการพัฒนาวัคซีน ASF โดยหากได้ผลจะต้องมีแผนการใช้วัคซีนที่ชัดเจน และต้องปรับลดการใช้วัคซีนลง จนสามารถเป็นประเทศปลอด ASF ได้ในที่สุด