เทียบรถยนต์คันแรก ประยุทธ์-ยิ่งลักษณ์ หั่นภาษี-แจกส่วนลด คนชั้นกลาง ปักธงฮับอีวี

เทียบรถยนต์คันแรก ประยุทธ์-ยิ่งลักษณ์

มาตรการรถยนต์ไฟฟ้า (EV) คันแรก ของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ถูกพูดถึงอย่างกว้างขวาง ทั้งในมุมของผู้บริโภคที่คิดจะถอยรถยนต์ป้ายแดง คันแรก หรือ ต้องการเปลี่ยนรถสันดาปเป็นรถยนต์ไฟฟ้า

ขณะที่ผู้ประกอบการ-ค่ายรถยนต์ตื่นตัว ออกมาขานรับมาตรการรถยนต์ไฟฟ้าทั่วสารทิศ

แม้มาตรการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าของ “รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์” จะถูกนำไปเทียบเคียงกับนโยบาย “รถยนต์คันแรก” ของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แต่ในแง่ของรายละเอียดแตกต่างกัน

มาตรการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าของ “รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์” ใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ในวงเงิน 3,000 ล้านบาท สำหรับการจัดหาแหล่งงบประมาณในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 – 2568 ในวงเงิน 40,000 ล้านบาท ให้กระทรวงการคลังร่วมกับสำนักงบประมาณและสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พิจารณาแหล่งเงินต่อไป

โดยระยะแรก (65-66) รถยนต์อีวีราคาต่ำกว่า 2 ล้านบาท ลดอากรสูงสุด 40 % ลดภาษีสรรพสามิตจาก 8 % เหลือ 2 % เงินอุดหนุน 70,000 บาท (กำลังมอเตอร์ไฟฟ้า 10-30 กิโลวัตต์) เงินอุดหนุน 150,000 บาท (กำลังมอเตอร์ไฟฟ้าตั้งแต่ 30 กิโลวัตต์ขึ้นไป) รถยนต์อีวีราคาตั้งแต่ 2-7 ล้านบาท ลดอากรสูงสุด 20 % (กำลังมอเตอร์ไฟฟ้าตั้งแต่ 30 กิโลวัตต์ขึ้นไป)

รถยนต์กระบะ (ผลิตในประเทศเท่านั้น) ราคาต่ำกว่า 2 ล้านบาท ภาษีสรรพสามิต 0 % เงินอุดหนุน 150,000 บาท (กำลังมอเตอร์ไฟฟ้าตั้งแต่ 30 กิโลวัตต์ขึ้นไป)

ทั้งนี้ แบ่งออกเป็น ช่วง 2 ปีแรก (65-66) มาตรการสนับสนุนฯ จะให้ความสำคัญกับการสร้างแรงจูงใจให้เกิดการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศอย่างกว้างขวางโดยเร็ว ครอบคลุมทั้งการนำเข้ารถยนต์/รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าสำเร็จรูปทั้งคัน (CBU) และกรณีรถยนต์/รถยนต์กระบะ/รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าที่ผลิตในประเทศ (CKD) ผ่านการยกเว้นหรือลดอากรนำเข้า ลดอัตราภาษีสรรพสามิต และ/หรือให้เงินอุดหนุนตามเงื่อนไขที่กำหนด

ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มอุปสงค์ยานยนต์ไฟฟ้าในภาพรวม สร้างแรงจูงใจและดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ของผู้ประกอบการในไทย

ช่วง 2 ปีถัดไป (ปี 67-68) มาตรการสนับสนุนฯ จะให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าที่ผลิตในประเทศเป็นหลัก โดยยกเลิกการยกเว้น/ลดอากรนำเข้า รถยนต์สำเร็จรูปทั้งคัน (CBU) แต่ยังคงมาตรการลดอัตราภาษีสรรพสามิต และ/หรือให้ เงินอุดหนุนตามเงื่อนไขที่กำหนดต่อไป เพื่อทำให้ต้นทุนรถยนต์ไฟฟ้าสำเร็จรูปทั้งคันที่นำเข้าสูงกว่ารถยนต์/ รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าที่ผลิตในประเทศ

ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเร่งผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ รองรับแนวโน้มความต้องการยานยนต์ไฟฟ้าที่เพิ่มมากขึ้น ลดการนำเข้าชิ้นส่วนและอุปกรณ์สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า รวมทั้งจะเป็นการสนับสนุนการผลิตรถยนต์/รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ

การดำเนินงานส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า มุ่งหวังให้ ราคารถยนต์ และรถจักรยานยนต์ประเภทรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ (Battery Electric Vehicle: BEV) สามารถแข่งขันได้ และแผน 30@30 โดยปี ค.ศ. 2030 จะผลิตยานยนต์ไฟฟ้า 30% ของการผลิตรถยนต์ในไทย

ขณะที่ความเห็นของส่วนราชการต่อมาตรการรถยนต์ไฟฟ้า อาทิ สำนักงานส่งเสริมการลงทุน (BOI) เห็นว่า การเลือกรับสิทธิประโยชน์เฉพาะบางส่วนทำได้หรือไม่ (เลือกรับเฉพาะสิทธิประโยชน์ด้านภาษี หรือ เฉพาะที่ไม่ใช่ภาษีเท่านั้น )

ควรกระตุ้นให้เกิดการลงทุนหรือพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศให้รวดเร็วยิ่งขึ้น เช่น การปรับเงื่อนไขเวลาการกำหนดใช้ใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตในประเทศ (ปัจจุบันกำหนดไว้ที่ 1 ม.ค.73 และ 1 ม.ค.78)

กระทรวงอุตสาหกรรม เห็นว่า ควรพิจารณาเพิ่มเติม เช่น มาตรการส่งเสริมการนำรถสันดาปภายในเดิมมาดัดแปลงให้เป็นรถยนต์ไฟฟ้า/รถยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง และมาตรการบรรเทาผลกระทบและการจูงใจด้านสิทธิประโยชน์ต่อกลุ่มผู้ประกอบการไทยในอุตสาหกรรมรถยนต์เดิม

สำนักงบประมาณ เห็นว่า การจัดหาแหล่งงบประมาณในปี งบ 66 – 68 วงเงิน 40,000 ล้านบาท ควรคำนึงถึงสถานะทางการเงินการคลังและงบประมาณของประเทศในแต่ละปี

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เห็นว่า การคืนเงินสำหรับผู้รับสิทธิตามมาตรการสนับสนุนควรกำหนดระยะเวลาและจัดระบบการติดตามตรวจสอบการคืนเงินแก่ผู้รับสิทธิให้มีความโปร่งใสเหมาะสม และมีประสิทธิภาพ

และให้กระทรวงการคลังพิจารณากำหนดแผนและคำของบฯ ให้สอดคล้องกับเป้าหมายปริมาณการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าของคณะกรรมการ EV และคำนึงถึงการบรรลุเป้าหมายรายปีของ (ร่าง) แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ.66-70)

สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) มีข้อสังเกตว่า เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของมาตรการฯ อย่างมีประสิทธิภาพ ให้กำหนดกลไกการติดตามและแนวทางการกำกับดูแลและตรวจสอบการดำเนินการของมาตรการฯ

เร่งพัฒนาห่วงโซ่อุปทานของกิจการยานยนต์ไฟฟ้าของไทยให้มีความเข้มแข็งโดยเร็ว โดยเฉพาะกิจการการผลิตแบตเตอรี่ รวมทั้งส่งเสริมสนับสนุนการปรับตัวทางธุรกิจ การพัฒนาทักษะและการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีของผู้ประกอบการ/แรงงานในอุตสาหกรรมยานยนต์ที่อาจได้รับผลกระทบจากมาตรการฯ

“พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรีชี้แจงตอนหนึ่งระหว่างการอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152 เมื่อวันที่ 17-18 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาว่า จะผลัดดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางรถยนต์ไฟฟ้า “พวงมาลัยขวา”

“เราต้องการเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า พวงมาลัยขวาในภูมิภาคโดยเร็วที่สุด ตอบสนองความต้องการโลก มีผลแล้ว เริ่มมีการติดต่อ มีการเจรจา ลงทุนกับเรา โดยลงทุนร่วมแบบ PPP ขอรับการส่งเสริมมา ทั้งบริษัทเก่า บริษัทใหม่”

“อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า ไทยต้องการเป็นศูนย์กลางของการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าให้อยู่ใน 10 อันดับแรกของโลก โดยมีเป้าหมายผลิตรถยนต์ไฟฟ้า 30 % ในปี ค.ศ.2030 หรือ พ.ศ.2573 โดยที่ประชุม ครม.เห็นชอบมาตรการสนับสนุนรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งจะทำให้เกิดการลงทุน 3.6 แสนล้านบาท และเพิ่มจีดีพี 1.2 แสนล้านบาทใน 10 ปี”

เทียบกับมาตรการ “รถยนต์คันแรก” ของ “รัฐบาลยิ่งลักษณ์” ซึ่งเป็นนโยบายของพรรคเพื่อไทยที่แถลงไว้ต่อรัฐสภา อนุมัติค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ จำนวน 100 ล้านบาท เบิกจ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2555 ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขภายใต้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2554 ไปพลางก่อน

นอกจากนี้ยังอนุมัติในหลักการกรอบวงเงินในปีงบประมาณ พ.ศ.2556 จำนวน 30,000 ล้านบาท เพื่อคืนเงินสำหรับรถยนต์คันแรกเท่ากับภาษีที่จ่ายจริงแต่ไม่เกินคันละ 100,000 บาท สำหรับผู้ที่ไม่เคยมีรถยนต์มาก่อน ไม่น้อยกว่า 500,000 คน

สำหรับหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ในการรับเงินคืน ในการรับเงินคืน การติดตาม เรียกเงินคืน กรณีผู้ซื้อปฏิบัติผิดเงื่อนไข ตลอดจนจำนวนเงินที่ต้องเรียกคืนจากผู้ซื้อ

1.เป็นรถยนต์คันแรกของผู้ซื้อที่ซื้อตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน 2554 จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2555

2.เป็นรถยนต์ราคาขายปลีกไม่เกิน 1,000,000 บาท/คัน

3.เป็นรถยนต์นั่ง ขนาดความจุกระบอกสูบไม่เกิน 1,500 ลูกบาศก์เซนติเมตร/รถยนต์กระบะ (Pick up) / รถยนต์นั่งที่มีกระบะ (Double Cab)

4.เป็นรถยนต์ที่ผลิตขึ้นในประเทศ ไม่รวมถึงรถยนต์ที่ประกอบจากชิ้นส่วนนำเข้าแล้วจากต่างประเทศ (รถยนต์จดประกอบ)

5.จ่ายตามสิทธิ์โดยถือจำนวนตามค่าภาษีสรรพสามิตที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 100,00 บาท/คัน

6.ผู้ซื้อต้องมีอายุ 21 ปีบริบูรณ์

7.ผู้ซื้อต้องครอบครองรถยนต์ไม่น้อยกว่า 5 ปี เว้นแต่ กรณีเป็นไปตามหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขที่กระทรวงการคลังประกาศกำหนด

8.การจ่ายเงินตามสิทธิ์จะจ่ายให้เมื่อครอบครองรถยนต์ 1 ปีไปแล้ว (เริ่มจ่ายให้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2555 เป็นต้นไป)

เป็นมาตรการกระตุ้น-เพิ่มกำลังซื้อให้กับผู้บริโภคในระดับคนชั้นกลาง-สูงในตลาดรถยนต์-เปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีอย่างมีนัยสำคัญ