อรหันต์ กกต. “ซ่อนรูป” คสช. เซตเลือกตั้ง วางรัฐบาลทหารใหม่

และแล้วก็ได้ชื่อ 7 เสือคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ชุดใหม่ตามรัฐธรรมนูญ 2560

กกต.ชุดใหม่แบ่งเป็น 2 สาย สายแรกมาจากคณะกรรมการสรรหา 5 ราย ประกอบด้วย

1.นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)

2.นายอิสสรีย์ หรรษาจรูญโรจน์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์

3.นางชมพรรณ์ พงษ์เจริญ สุธีรชาติ ที่ปรึกษากฎหมาย บริษัท วรวิสิฏฐ์ จำกัด และหัวหน้าสำนักงานกฎหมายสุธีรชาติ

4.นายประชา เตรัตน์ อดีตรองปลัดกระทรวงมหาดไทย อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ อดีตผู้ว่าฯชลบุรี และสุราษฎร์ธานี

5.นายเรืองวิทย์ เกษสุวรรณ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิ

สายที่สองคัดเลือกจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา 2 ราย คือ นายฉัตรไชย จันทร์พรายศรี ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา และ นายปกรณ์ มหรรณพ ผู้พิพากษาศาลฎีกาได้รับเลือกจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา

ตามกระบวนการหลังจากนี้ ทั้ง 7 ชื่อ จะถูกบรรจุวาระเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของสภานิติบัญญัติฯ (สนช.)

โดยระหว่างทาง สนช.ตั้งคณะกรรมาธิการ 17 คน ขึ้นมาตรวจสอบประวัติทั้ง 7 คน ก่อนจะชงเข้าสู่ที่ประชุมใหญ่ สนช. “ประทับตรา” เป็นรอบสุดท้ายในช่วงเดือนมกราคม 2561

แต่ใช่ว่าทุกคนที่ผ่านเข้ารอบสุดท้ายจะได้เป็น กกต.เสมอไป ตัวอย่างเช่น “วิชา มหาคุณ” ก่อนจะมาเป็นกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ก็เคยลงสมัครเก้าอี้ กกต. โดยดึงเพื่อนผู้พิพากษาอย่าง “อภิชาต สุขัคคานนท์” มาลงสมัครด้วยกัน

แต่ปรากฏว่า “วิชา” ตกรอบในขั้นตอนวุฒิสภา ส่วน “อภิชาต” ได้รับการคัดเลือกและเป็นประธาน กกต.ในเวลาต่อมา

ในเวลาเดียวกัน กกต.ปัจจุบันที่ต้องลุกจากเก้าอี้อย่างไม่เต็มใจ อย่าง “สมชัย ศรีสุทธิยากร” ก็ออกมาเปิดประเด็นการสรรหา กกต.ในสายศาล 2 ตำแหน่ง อาจตกม้าตาย เพราะกฎหมายให้ลงคะแนนอย่างเปิดเผย แต่เอาเข้าจริงกลับลงคะแนนลับ

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่า 7 เสือ กกต.จะมีแคนดิเดตที่ตกม้าตายในรอบตรวจสอบคุณสมบัติของ สนช.หรือไม่ แต่ก็มีการบ้านโจทย์ใหญ่ ให้ กกต. 7 คน ต้องลงมือทำทันทีที่รับตำแหน่ง

เป็นการบ้านโจทย์ใหญ่ 4 ข้อ

1.กกต.ใหม่จะต้องจัดการเลือกตั้งท้องถิ่น 8 พันกว่าแห่ง ซึ่งขณะนี้คณะกรรมการกฤษฎีกาได้ส่งร่างแก้ไขกฎหมาย 6 ฉบับ พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2545 พ.ร.บ.เทศบาล 2496 พ.ร.บ.องค์การบริหารส่วนจังหวัด 2540 พ.ร.บ.ระเบียบราชการกรุงเทพมหานคร 2528 พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา 2542 เวียนไปให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบ ก่อนจะส่งให้ ครม.ภายในธันวาคมนี้เพื่อเห็นชอบ และส่งให้ สนช.ผ่านกฎหมายในเดือนมกราคม หลังจากนั้น กกต.จึงจะจัดการเลือกตั้งท้องถิ่น

2.จะต้องดำเนินการสรรหาสมาชิกวุฒิสภาชุดใหม่ โดย กกต.ใหม่จะจัดการเลือกตั้งระบบไขว้ตามกลุ่ม 200 คน ให้เสร็จก่อนมีการเลือกตั้งทั่วไปไม่น้อยกว่า 15 วัน แล้วส่งชื่อต่อ คสช.เลือกให้เหลือ 50 คน

3.จะต้องเป็นผู้กำหนดวันเลือกตั้ง ส.ส. แต่ทั้งนี้จะยังไม่สามารถกำหนดวันเลือกตั้งได้จนกว่าร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง 4 ฉบับ มีผลบังคับใช้จนครบเสียก่อน ซึ่งขณะนี้ยังเหลือร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. และ ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ยังอยู่ในการพิจารณาของ สนช. โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จราวเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ หากไม่มีอุบัติเหตุ

และ 4.จัดการเลือกตั้ง ส.ส.ตามรัฐธรรมนูญ 2560 อันเป็นระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม ซึ่งเป็นระบบใหม่ในการเลือกตั้งประเทศไทย ให้ กกต.ทั้ง 7 คน ต้องพิสูจน์ฝีมือ

ในรอบ 1 ทศวรรษ อาจกล่าวได้ว่ามี กกต.มาแล้ว 2 ชุด และอีก 1 ชุดที่เพิ่งสรรหามาใหม่ตามรัฐธรรมนูญใหม่

ชุดแรก กกต.ชุดอภิชาต สุขัคคานนท์ เข้ามารับหน้าที่จัดประชามติ และจัดเลือกตั้ง 23 ธันวาคม 2550 และประสบความสำเร็จ

ชุดสอง กกต.ชุดศุภชัย สมเจริญ เข้ามารับหน้าที่ และต้องจัดการการเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ 2557 แต่ในตอนจบการเลือกตั้งถูกศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นโมฆะ…. เท่ากับ “ล้มเหลว”

และชุดล่าสุด ต้องเข้ามารับ 4 โจทย์หินท้าทายความสามารถของ กกต.ชุดใหม่อย่างแท้จริง ว่าจะสำเร็จหรือล้มเหลว