“กอบศักดิ์” กำลังเสริม “บิ๊กตู่” 2561 ปีแห่งการให้บริการ “คนจน”

การปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีแต่ละครั้งเปลี่ยนไปตาม “ฤดูกาล” ความยาก-ง่ายในช่วงสถานการณ์นั้น ๆ

ยุคแรกของการรัฐประหาร 22 พฤษภาฯ 2557 ต้องอาศัยข้อมูลเชิงลึก-การข่าวที่แม่นยำ เพื่อให้เท่าทันความเคลื่อนไหวของคู่ขัดแย้งทางการเมือง จึงต้องเลือกใช้บริการ “มือการข่าว” อย่าง นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ อดีตผู้อำนวยการข่าวกรองแห่งชาติ

ยุคถัดมาต้องการวางฐาน-ฝังรากยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีและปฏิรูปประเทศ ตำแหน่งจึงตกไปที่ นายสุวิทย์ เมษินทรีย์

“นักวิชาการสายปฏิรูป”

ยุคปลายก่อนส่งท้ายรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ “กลยุทธ์ทางธุรกิจ” การหวังผล-คิดค้นโปรโมชั่น “โดนใจ” กระชากเสียง-กระชากใจประชาชนในแบบฉบับประชานิยม “นักบริหารมืออาชีพ” ชื่อ “ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล” จึงอยู่ในโผ “ครม.ประยุทธ์ 5”

“ประชาชาติธุรกิจ” อาสาค้นความคิด “ดร.กอบศักดิ์” รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี “ป้ายแดง” กับภารกิจ “ลดความเหลื่อมล้ำ” วางรากฐาน “เศรษฐกิจชาวบ้าน” ที่ได้รับมอบหมายจาก “พล.อ.ประยุทธ์” ให้เป็นการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากแห่งปี

ปีแห่งการพัฒนาฐานราก

“เรามีเวลาเหลือไม่มาก ประมาณ 1 ปี เพราะฉะนั้นต้องเลือกว่าจะทำเรื่องอะไร ท่านนายกฯให้แนวทางไว้แล้วว่า อยากให้เลือกเรื่องที่ส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชน ขณะเดียวกันก็เป็นการวางอนาคตให้กับประเทศในช่วงถัดไป ปีนี้ท่านนายกฯสั่งว่า อยากให้เน้นเรื่องการพัฒนาฐานราก”

ภายหลังจากได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และได้รับมอบหมายให้กำกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ และสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม

“ดร.กอบศักดิ์” ได้ประชุมหน่วยงานที่กำกับเพื่อวางแผน-เป้าหมายในการขับเคลื่อนนโยบายต่าง ๆ ในอีก 1 ปีข้างหน้าทันที เพื่อผลิตโครงการแก้จนให้กับเกษตรกร-คนจนเมือง-บริษัทขนาดเล็ก

ปฏิรูปสภาพัฒน์มันสมองชาติ

“สภาพัฒน์มีเรื่องแผนปฏิรูปและแผนยุทธศาสตร์ชาติที่รับผิดชอบโดยตรง เรื่องสำคัญ คือ การปฏิรูปสภาพัฒน์เองเพื่อให้เป็นมันสมองของชาติ เป็นแหล่งในการมองอนาคตให้กับทุกคน”

อีกบทบาทใหม่ของสภาพัฒน์ คือ เลขานุการคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูป รวมถึงการขับเคลื่อนหน่วยงานภายในเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง จึงเป็นอีก “ภารกิจหลัก” ในการขับเคลื่อนในปีหน้า

“1 ใน 6 ด้านในแผนยุทธศาสตร์ชาติและแผนปฏิรูปประเทศ คือ การลดความเหลื่อมล้ำและสร้างโอกาส ท่านนายกฯมีดำริว่า ปีหน้าจะเป็นปีแห่งการต่อสู้กับความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ อีกไม่นานเกินรอจะมีมาตรการออกมาเป็นชุด ๆ ประชาชนฟังแล้วโดนใจ ท่านนายกฯ บอกเสมอว่า จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และจะพยายามออกนโยบายมาเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของพี่น้องประชาชนอย่างแท้จริง”

บูรณาการลดเหลื่อมล้ำ-แก้จน

“ดร.กอบศักดิ์” รับ “ข้อสั่งการ” จาก พล.อ.ประยุทธ์ ตั้งแต่เข้ามารับตำแหน่งเสนาบดี ว่า ต้อง “บูรณาการ” เพราะขณะนี้การต่อสู้กับความเหลื่อมล้ำ ความยากจน ไม่สำเร็จเพราะไม่มีหน่วยงานใดรับผิดชอบ ไม่มีใครบอกว่า ถ้าลดความเหลื่อมล้ำไม่ได้ ต้องเป็นคนแสดง spirit ไม่มี ดูแลกันคนละเล็ก คนละน้อย เป็นเบี้ยหัวแตก โครงการสวัสดิการทั้งหมดกว่า 44 โครงการ ตอบไม่ได้ว่าให้ใครไปแล้วบ้าง แต่ละคนได้ไปคนละกี่สวัสดิการ ไม่มีใครรู้เลย โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อยที่ลงทะเบียน 11 ล้านคน

“บัตรสวัสดิการแห่งรัฐต้องยกไปอีกระดับหนึ่ง ต้องตอบโจทย์ความต้องการและยกระดับชีวิตพี่น้องประชาชน ถ้าคนจนจำนวนมาก คือ เกษตรกร คำตอบ คือ ต้องทำเรื่องน้ำ ถ้าคนจนส่วนหนึ่ง คือ คนเมือง ต้องคิดเรื่องที่อยู่อาศัย เพราะเป็นจุดเริ่มต้นของชีวิตความเป็นอยู่? จะหามาหารือกันว่าโครงการไหนจะเป็นโครงการหลักในการช่วยพลิกชีวิตคนจน”

“ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติจะทำอย่างไรให้การวิจัยส่งเสริมตอบโจทย์พี่น้องประชาชน ไปแตะชีวิตความเป็นอยู่ ไม่ใช่ทำวิจัยเพื่อตอบโจทย์เชิงวิชาการอย่างเดียว โดยเปลี่ยนวิธีการพิจารณาโครงการ หรือ การให้งบประมาณในการวิจัยไปสู่การวิจัยเพื่อเปลี่ยนชีวิตเขา ตอบโจทย์วิถีชีวิตของชุมชน”

SMEs 3 ล้านรายเป็นเศรษฐีน้อย

สำหรับการวางระบบ-ส่งเสริม SMEs ขณะนี้กำลังคิดจะปรับกระบวนการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเพื่อให้บริษัทเล็ก ๆ ก้าวขึ้นมาเป็นเศรษฐีขนาดกลาง ๆ และขึ้นมาเป็นเศรษฐีร้อยล้าน โดยการส่งเสริมการอบรมความรู้ การบริหารจัดการ รวมไปถึงการเข้าถึงแหล่งเงินที่เหมาะสมเพราะประเทศไทยมีบริษัทขนาดเล็ก 3 ล้านแห่ง และบริษัทขนาดใหญ่ บริษัทขนาดกลางหายากมาก โจทย์ คือ ทำอย่างไรให้บริษัทเล็ก ๆ กว่า 3 ล้านราย โตขึ้นมาอยู่ระดับกลาง ขณะเดียวกันต้องให้ร้านโชห่วยรวมตัวกันเพื่อสร้างอำนาจการต่อรองกับบริษัทยักษ์ใหญ่และสามารถสู้ได้

ดูแลนักลงทุนตั้งแต่ต้นจนจบ

สำนักงานบีโอไอ ซึ่งปัจจุบันย้ายมาสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี-ขึ้นตรงกับพล.อ.ประยุทธ์ “ดร.กอบศักดิ์” จึงได้รับมอบหมายให้การดึงดูดนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศแล้ว ต้องให้บริษัทต่างชาติมีหน้าที่รับผิดชอบต่อพี่น้องประชาชน ประชาชนต้องได้ด้วย “ท่านนายกฯให้ไปหาเงื่อนไขว่า จะต้องช่วยเหลือเรื่องการศึกษา จะช่วยพี่น้องประชาชนในพื้นที่อย่างไร”

สำหรับมาตรการในการ “ดึงดูด” นักลงทุนจากต่างชาติให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทย นอกจากสิทธิประโยชน์ทางภาษีแล้ว “ดร.กอบศักดิ์” เชื่อว่าการปลดล็อกกฎระเบียบต่าง ๆ และการกำหนดพื้นที่เป็น “วันสต็อปเซอร์วิส” เช่น การลงทุนในพื้นที่เขตระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) จะทำให้นักลงทุนต่างชาติได้รับการดูแลอย่างดี

ขณะเดียวกันการอำนวยความสะดวกในการทำธุรกิจ (doing business) เพื่อให้นักลงทุนที่มาได้รับการบริหารจัดการที่ดี เปิดธุรกิจได้ในเวลาที่มานานนักและได้รับการดูแลตั้งแต่ต้นจนจบ ตั้งแต่เริ่มธุรกิจจนถึงปิดธุรกิจอย่างดีจะเป็น “เสน่ห์” ของประเทศไทย ซึ่งถ้าสามารถเชื่อมโยงตลาดของภูมิภาคเข้าด้วยกัน ประเทศไทยจะเป็น “ศูนย์กลาง” การลงทุน-ดำเนินธุรกิจ ในการตั้งสำนักงานใหญ่ข้ามชาติ

หนุนบริษัทไทยโกอินเตอร์

อีกเรื่องที่ต้องทำ คือ การสนับสนุน ส่งเสริมให้บริษัทไทยออกไปลงทุนในต่างประเทศ เป็นอีกก้าวใหม่ของบริษัทไทยระยะต่อไปต้องออกไปลงทุนในต่างประเทศเพื่อเชื่อมโยงกลับมายังห่วงโซ่อุปทานของไทย เป็นหัวใจการสร้างประเทศไทยเข้มแข็ง

“ภูมิภาคที่สำคัญ คือ CLMV จีน บังกลาเทศและอินเดีย ไม่ต้องไปไกล เพื่อเป็นผู้นำในตลาดเหล่านี้ ประเทศแถบนี้มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจเฉลี่ยโต 7% ของจีดีพี มีประชากรรวมกันแล้ว 3 พันล้านคน เพราะฉะนั้นจะทำอย่างไรเพื่อเชื่อมโยงประเทศไทยเข้าสู่อาเซียนและเอเชียทั้งหมดให้กลับมาหาเรา”

“สิ่งที่สำนักงานบีโอไอต้องสนับสนุน คือ เรื่องข้อมูล เช่น เจโทร ซึ่งเป็นหัวหอกนำบริษัทของญี่ปุ่นมาลงทุนต่างประเทศ หาพื้นที่ หาโอกาสและช่องทางและแก้ปัญหา เราจะปล่อยให้บริษัทไทยเดินทางไปลงทุนในต่างประเทศตามยถากรรมไม่ได้ ในระยะยาวอุตสาหกรรมใช้แรงงานจำนวนมาก แรงงานต้นทุนต่ำ ต้องออกไปสู่ภูมิภาคมากขึ้น”

ต้องเร่งทำ-ทำให้สำเร็จ

“ดร.กอบศักดิ์” ทิ้งท้ายว่า ถ้าอยากทำให้สำเร็จต้องทำช่วงนี้ ถ้าช่วงนี้ทำไม่สำเร็จช่วงต่อไปอย่าไปคิดเพราะจะยากกว่านี้หลายเท่า


“ขณะนี้ทุกอย่างครบองค์ประกอบของการเปลี่ยนแปลง เป็นเวลาที่ใช่ ต้องทำให้สำเร็จและต้องเร่งทำ ท่านนายกฯต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลง เพียงแต่ต้องการคนที่นำนโยบายต่าง ๆ มาขับเคลื่อน ถ้าจะทำต้องทำเสียตอนนี้ ถ้าไม่ทำช่วงนี้ ช่วงต่อไปยาก”