เห็นชอบความร่วมมือ “ไทย – กัมพูชา” ปราบแก๊งคอลเซ็นเตอร์-ค้ามนุษย์

ครม.เห็นชอบผลการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมทวิภาคี ไทย-กัมพูชา ขจัดปัญหาการค้ามนุษย์-ยาเสพติด-แก๊งคอลเซ็นเตอร์

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2565 ว่า ครม.เห็นชอบผลการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคี (Joint Commission on Bilateral Cooperation: JC) ไทย-กัมพูชา ครั้งที่ 11 ระหว่างวันที่ 16-18 ธันวาคม 2564 ณ กรุงพนมเปญ กัมพูชา ตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอ ซึ่งมีสาระสำคัญดังนี้

  1. ประเด็นการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมโดยเร็ว จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งสองฝ่ายจะร่วมกันดำเนินการ อาทิ 1) อำนวยความสะดวกในการเดินทางข้ามแดนระหว่างกัน เช่น การใช้ระบบดิจิทัลในการตรวจสอบเอกสารรับรองการฉีดวัคซีนระหว่างกัน
  2. นำเข้าแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อตอบสนองความต้องการแรงงานของไทยและเพิ่มโอกาสการมีงานทำให้แก่แรงงานกัมพูชา
  3. บรรลุเป้าหมายการค้า 15,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2568
  4. ส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุนในแต่ละประเทศ รวมถึงเสริมสร้างบรรยากาศที่เอื้ออานวยยิ่งขึ้นต่อการลงทุน ส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจดิจิทัลและเศรษฐกิจสีเขียว โดยเฉพาะการปรับใช้ตัวแบบเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG Economy Model)
  5. ส่งเสริมความเชื่อมโยงระหว่างทั้งสองประเทศ โดยหารือกันเพื่อเตรียมการเปิดสะพานมิตรภาพไทย-กัมพูชาที่เชื่อมโยงจังหวัดสระแก้วของไทย กับ จังหวัดบันเตียเมียนเจยของกัมพูชา
  6. การกระชับความร่วมมือด้านสาธารณสุข โดยเฉพาะในจังหวัดชายแดน เพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด-19

ประเด็นการรักษาความสงบเรียบร้อยบริเวณชายแดน และการส่งเสริมมิตรภาพอันใกล้ชิดระหว่างประชาชนไทยและกัมพูชา ทั้งสองฝ่ายจะร่วมกันดำเนินการ อาทิ

  1. ป้องกันและปราบปรามปัญหาการลักลอบข้ามแดนผิดกฎหมาย การค้ามนุษย์ อาชญากรรมข้ามชาติ การค้ายาเสพติด และการช่วยเหลือคนไทยที่ถูกชักชวนไปทำงานแก๊งคอลเซ็นเตอร์ รวมถึงการเก็บกู้ทุ่นระเบิดตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา
  2. เปิดศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดและฝึกอาชีพแห่งชาติ ในจังหวัดพระสีหนุ โดยไทยสนับสนุนงบประมาณในการก่อสร้างศูนย์จำนวน 38 ล้านบาท รวมถึงส่งเสริมความเข้าใจอันดีและมิตรภาพในระดับประชาชน

ประเด็นความร่วมมืออย่างใกล้ชิดในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงและอาเซียน ทั้งสองฝ่ายจะร่วมกันส่งเสริมความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจและการพัฒนา ที่ยั่งยืนในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงผ่านกลไกความร่วมมือต่าง ๆ เช่น ACMECS รวมถึงการสนับสนุนการเป็นประธานอาเซียนของกัมพูชาในปี 2565