“บิ๊กป้อม” นั่งหัวโต๊ะถก กอ.รมน.เคาะตั้งสำนักงานจเร ไว้ประเมินผล-ตรวจสอบ

“บิ๊กป้อม” นั่งหัวโต๊ะ ถกการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร เคาะตั้งสำนักงานจเร คอย “ประเมินผล-ตรวจสอบ” พร้อมยกระดับชีวิตประชาชนชายแดนใต้

เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม ที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงราชอาณาจักร (กอ.รมน.) พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุม กอ.รมน. ครั้งที่ 1/2560

โดยมี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ผู้บัญชาการเหล่าทัพ ปลัดกระทรวงมหาดไทย และส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง

ด้าน พล.ต.พีรวัชฌ์ แสงทอง โฆษก กอ.รมน กล่าวว่า คณะกรรมการอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ได้พิจารณาอนุมัติ โครงสร้างการจัดและอัตรากำลังของ กอ.รมน.ภาค 4 สน.ประจำปี 2561 เพื่อให้มีโครงสร้างการจัดให้เหมาะสมกับสถานการณ์ในพื้นที่ จชต. และสนองตอบต่อนโยบายของรัฐบาลในการพัฒนาพื้นที่ จชต. จึงให้มีการอัตรากำลังในภาพรวมลดลง จำนวน 3,057 คน คงเหลือกำลังฝ่ายพลเรือน ตำรวจ และทหาร จำนวน 58,547 คน เพื่อให้การปฏิบัติงานของ กอ.รมน. เป็นที่เชื่อมั่นของประชาชนทุกภาคส่วน การทำงานของเจ้าหน้าที่มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และให้การทำงานของ กอ.รมน. ทุกหน่วยงานเป็นที่พึ่งของประชาชนในทุกโอกาส ทั้งคณะกรรมการอำนวยการ จึงได้อนุมัติให้จัดตั้ง สำนักจเร กอ.รมน. ซึ่งมีหน้าที่ ตรวจ ประเมินผล และสอบสวนอย่างเป็นอิสระในการปฏิบัติราชการและการดำเนินการโครงการต่างๆ ของส่วนราชการใน กอ.รมน. รวมถึงสืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริงเรื่องการร้องทุกข์ร้องเรียนตามที่ผู้บังคับบัญชามอบหมาย

พล.ต.พีรวัชฌ์ กล่าวต่อว่า ส่วนมติ ครม. เมื่อ 28 พฤศจิกายนที่ผ่านมา อนุมัติให้ 4 อำเภอ ของจังหวัดสงขลา (อ.เทพา, อ.นาทวี, อ.จะนะ, อ.สะบ้าย้อย) และ อ.แม่ลาน จังหวัดปัตตานี เป็นพื้นที่ปรากฏเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงฯ ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2560 ถึง 30 พฤศจิกายน 2561 นั้น คณะกรรมการอำนวยการ ได้พิจารณาอนุมัติแผนปฏิบัติการสงขลา 61 และแผนปฏิบัติการอำเภอแม่ลาน 61 เพื่อให้การปฏิบัติเป็นไปตามกฎหมาย การแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่เป็นไปตามนโยบายการบริหารและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ สร้างความปลอดภัย ประชาชนมีความเชื่อมั่นและมีส่วนร่วมเสริมสร้างสันติสุขอย่างยั่งยืน

“คณะกรรมการอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ได้มีข้อห่วงใยสภาวะเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ จชต. จึงให้ กอ.รมน. ได้บูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณาการดำเนินงานเพื่อสนับสนุนให้พี่น้องประชาชนในพื้นที่ จชต . มีคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี มีรายได้ รวมถึงพิจารณาให้มีการประเมินความมั่นคง การพัฒนา ความเข้าใจและการมีส่วนร่วม ในพื้นที่ จชต. เพื่อเป็นข้อมูลอย่างรอบด้านในการพัฒนาพื้นที่ จชต. มีสันติสุข มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างมั่นคงและยั่งยืน” โฆษก กอ.รมน. กล่าว

 

ที่มา : มติชนออนไลน์