อีเวนต์ฝ่ายค้านทัวร์ 4 ภาค เปิดวงถล่มรัฐบาล เก็บข้อมูลล้มประยุทธ์

ประยุทธ์

การเมืองเตรียมหยุดจบฤดูกาล ปิดสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎร จะคิกออฟเริ่มต้นกันใหม่ 22 พฤษภาคม 2565 เว้นแต่จะมีการขอเปิดการประชุมสภาสมัยวิสามัญ

ช่วงปิดฤดูกาล พรรคร่วมฝ่ายค้านทั้ง 6 พรรค นำโดยพี่ใหญ่ พรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล พรรคเพื่อชาติ พรรคประชาชาติ พรรคเสรีรวมไทย พรรคพลังปวงชนไทย จัดอีเวนต์ปลุกการเมือง

เดินสายพบประชาชนในช่วงปิดสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎร ภายใต้ “โครงการผู้นำฝ่ายค้านพบประชาชน : ทั่วไทยทวงคืนอำนาจประชาชน” รวบรวมแกนนำสำคัญในฝ่ายค้าน-ส.ส.ของแต่ละพรรคจัดเสวนาลากไส้รัฐบาล

เริ่มจากวันอาทิตย์ที่ 13 มีนาคม 2565 จัดขึ้นที่ “กรุงเทพมหานคร” ภายใต้ธีม “ทั่วไทยทวงคืนอำนาจประชาชน : หมดเวลานายกฯ ก่อนประเทศหมดเวลา”

จากนั้น วันอาทิตย์ที่ 27 มีนาคม 2565 จัดขึ้นที่ จ.น่าน ภายใต้ธีม “ทั่วไทยทวงคืนอำนาจประชาชน : บริหารล้มเหลวซ้ำซาก ประชาชนจน ประเทศเจ๊ง”

ต่อมา วันอาทิตย์ที่ 24 เมษายน 2565 จัดขึ้นที่ จ.นครราชสีมา ในหัวข้อ “ทั่วไทยทวงคืนอำนาจประชาชน : รัฐบาลสั่นคลอน สภาล้มลุกคลุกคลาน”

ปิดท้ายในวันอาทิตย์ที่ 1 พฤษภาคม 2565 ที่ จ.ชลบุรี หัวข้อ “ทั่วไทยทวงคืนอำนาจประชาชน : รัฐธรรมนูญสู่ทางตัน การเมืองสู่วิกฤติ”

เมื่อปิดเวทีในแต่ละครั้ง ตัวแทนทั้ง 6 พรรคจะลงพื้นที่รับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในพื้นที่นั้น ๆ

สิ่งที่เกิดควบคู่ไปกับการลงพื้นที่ 6 พรรคฝ่ายค้าน หารือกันว่า หลังเปิดสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎร 22 พฤษภาคม อาจยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ทันที

ล็อกเป้าเชือด พล.อ.ประยุทธ์ให้จนมุมคาเวทีสภา เพราะเมื่อฝ่ายค้านยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ ตามรัฐธรรมนูญ นายกฯจะยุบสภาไม่ได้

บนสมมุติฐานของฝ่ายค้านว่า เกมโค่นนายกฯ ภาค 2 ในเวทีซักฟอก อาจเกิดขึ้นอีกครั้ง

“ความเสี่ยงสูงคือเปิดประชุมสมัยหน้าก็เสี่ยงเลย อภิปรายไม่ไว้วางใจ พิจารณางบประมาณ 2566 ก็เสี่ยงเลย พรรคการเมืองก็จะมีการต่อรองกันสูง ช่วงนี้ก็มีข่าวว่าถอนตัวร่วมรัฐบาล มีการบีบไข่กันแล้ว”

“เปิดสมัยประชุมปั๊บมีเรื่องต้องโหวต รัฐบาลก็มีสิทธิวูบได้ตลอดเวลา เพราะปัจจัยที่ทำให้รัฐบาลหลับกลางอากาศมีพร้อม คือปัจจัยที่ ส.ส.ออกจากพรรคพลังประชารัฐ 21 คน (ส.ส.กลุ่ม ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า) และที่ยังเหลือข้างในพรรคพลังประชารัฐอีก เหมือนกระสุนอยู่ในรังเพลิงแล้ว ขึ้นอยู่จะกดไกปืนหรือไม่”

“พรรคร่วมรัฐบาลก็กล้าขู่แล้ว สถานการณ์ไม่เหมือนเดิม ไม่ได้เกรงใจผู้นำรัฐบาลเท่าไหร่” สุทิน คลังแสง ประธานวิปฝ่ายค้าน ประเมินจุดสลบของรัฐบาล

ดังนั้น ในช่วงเดือนเมษายน พรรคร่วมฝ่ายค้านนัดหารือกัน เตรียมประเด็นที่จะอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลครั้งใหม่

โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย นำข้อมูล “ทุจริต” ในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์มาคลี่กันบนโต๊ะ มีประมาณ 4 เรื่องใหญ่ที่สามารถซักฟอกรัฐบาลแบบ “เอาเป็นเอาตายได้”

หนึ่งในนั้นคือ การต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว-ภาคต่อของเหมืองทองอัครา

“ประเสริฐ จันทรรวงทอง” ส.ส.นครราชสีมา เลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวจังหวะการยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลว่า พรรคร่วมรัฐบาลจะยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจหรือไม่ ยังไม่สรุป แต่ที่เคยคุยกันเอาไว้คือยื่นแล้วนายกฯยุบสภาไม่ได้

หลายฝ่ายหลายคนคิดว่า ฝ่ายค้านยื่นตอนเปิดสมัยประชุมเลยดีไหม แต่ก่อนอื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจต้องมีความพร้อมเสียก่อน เพราะเมื่อยื่นแล้วนับไปอีก 20 วัน การอภิปรายต้องเริ่มแล้ว พรรคฝ่ายค้านต้องมีความพร้อม

ดังนั้น เดือนมีนาคม จะมีโครงการฝ่ายค้านพบประชาชน เดือนเมษายน จะคุยกันเรื่องงานในสภาที่จะเปิดในเดือนพฤษภาคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ

อีกด้าน ในส่วนเฉพาะของ “พรรคเพื่อไทย” เตรียมจัดโครงการ “ครอบครัวเพื่อไทย” จัดคาราวานแกนนำพรรคพบประชาชน 4 ภาค เหนือ อีสาน กลาง ใต้

คิกออฟจังหวัดแรกที่จังหวัดอุดรธานี เป็นจังหวัดที่ถูกนิยามว่า “เมืองหลวงคนเสื้อแดง” ในช่วงที่การเมืองยังแบ่งสี แบ่งข้าง

เป้าหมาย “ครอบครัวเพื่อไทย” คล้ายกับเป็นการ “สมัครเป็นสมาชิกพรรค” แม้ไม่มีในกฎหมายพรรคการเมือง แต่จะมีในข้อบังคับพรรค หรือประกาศของพรรค

เป้าหมายเพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างโหวตเตอร์กับพรรคการเมือง แก้กับดักการหาสมาชิกพรรค เพราะปัจจุบันพรรคเพื่อไทยมีสมาชิกพรรค แค่ 62,126 คน เพราะติดล็อกที่ชาวบ้านไม่อยากเสียค่าสมาชิกพรรครายปี ปีละ 100 บาท ไม่จ่าย 2 ปีต้องพ้นสภาพ หรือเพื่อตัดปัญหาให้จ่ายสมาชิกพรรคตลอดชีพ 2 พันบาท

ประเสริฐ-เลขาฯเพื่อไทย บอกว่า ผู้ที่เข้าร่วมครอบครัวเพื่อไทยจะได้สิทธิต่าง ๆ จากพรรคเพื่อไทย ไม่ต้องเสียค่าสมาชิกหรือค่าบำรุง แต่สามารถใช้เป็นช่องทางที่ประชาชนสามารถสื่อสาร-บอกปัญหากับ ส.ส. หรือกับพรรคเพื่อไทยได้โดยตรง


ฝ่ายค้าน-พรรคเพื่อไทย เตรียมพร้อมรับศึกทุกสถานการณ์