3 เก้าอี้ต้องห้าม ต้นตอเขย่าเครือข่าย 3 ป. เคลียร์ปมคาใจ

ความสัมพันธ์ของพี่-น้อง 3 ป.แห่งบูรพาพยัคฆ์ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ – “บิ๊กป๊อก” พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา – “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กว่า 50 ปี-ครึ่งศตวรรษ ถูกเขย่าครั้งแล้วคครั้งเล่าให้ร่วงหล่นจากเส้นลวดอำนาจ

โดยมี 3 เก้าอี้ ของ 3 ป. เป็นจุดรวมพลของกระบวนการเขย่า เก้าอี้นายกรัฐมนตรี : พล.อ.ประวิตร “หลบฉาก” ทุกครั้งที่จะทำให้ “เข้าทาง” จนทำให้เกิดความ “หวาดระวาง” กับ พล.อ.ประยุทธ์ ทุกครั้งที่ถูกถาม “พร้อมเป็นนายกฯ” หรือไม่ พล.อ.ประวิตรมักจะมีอารมณ์ฉุนเฉียว

“ไม่ ๆ ครับ ผมไม่เป็น มาช่วยประเทศเฉย ๆ ท่านนายกฯ ขอร้องให้มา ผมก็มา”

“ผมไม่เป็น ผมบอกว่า ผมไม่เป็น ผมไม่เป็น”

“ไม่มี ไม่อยากเป็น ไม่เป็น ฮู้ บอกไปหลายทีแล้ว ไปลือกันเอง”

บางครั้ง พล.อ.ประวิตรก็พูดให้สถานการณ์คลี่คลาย-ตบมุกตลก ว่า “เดินยังไม่ไหวเลย”

ทว่าสวนทางกับความเป็นจริง เพราะ พล.อ.ประวิตรกลับเดินสายลงพื้นที่ต่างจังหวัดคิวยาวเยียด-ถี่ยิบ และลงพื้นที่มากกว่า พล.อ.ประยุทธ์ ที่เป็นนายกรัฐมนตรีตัวจริง-เสียงจริงเสียอีก

เก้าอี้รัฐมนตรี : หลังรัฐบาลประยุทธ์ 1 – รัฐบาล คสช. พล.อ.ประยุทธ์ ก็รวบเก้าอี้อำนาจไปจาก พล.อ.ประวิตรไปนั่งคนเดียว คือ เก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

รวมถึงเก้าอี้หัวโต๊ะคุมสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ไม่นับเก้าอี้กระทรวงมหาดไทย ที่ พล.อ.อนุพงษ์ นั่งยาวจนรากงอก

แต่ พล.อ.ประวิตรก็สวมบท “พี่ใหญ่ใจดี” ไม่หวงอำนาจ-ยอมสละตำแหน่งสำคัญที่จะใช้สร้างบารมีให้ พล.อ.ประยุทธ์-พล.อ.อนุพงษ์

“ไม่มี ไม่จริงและที่หนังสือพิมพ์บางฉบับไปพาดหัวข่าวเช่นนั้นก็ให้ไปถามหนังสือพิมพ์กันเอาเอง” พล.อ.ประวิตรให้สัมภาษณ์วันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2564 ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อถูกถามถึงกระแสข่าวไปเป็น รมว.มหาดไทย

เก้าอี้หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ : อาจจะพูดได้ว่า พล.อ.ประวิตร เหลือเพียงเก้าอี้หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐเท่านั้น ที่พอจะทำให้ พล.อ.ประวิตร ยังถูกให้การนับหน้าถือตา-มีคนล้อมหน้าล้อมหลัง

พล.อ.ประยุทธ์จึง “แบ่งรับแบ่งสู้” ที่จะไป “กุมบังเหียน” หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ แทน พล.อ.ประวิตร

ทว่า พล.อ.ประยุทธ์ได้ส่งรัฐมนตรีสายตรง-กุนซือคู่ใจเข้าไปนั่งในพรรคพลังประชารัฐ จนถูกนักสังเกตุการณ์ทางการเมืองพยากรณ์ว่า เป็นการผ่องถ่ายอำนาจก่อนที่ พล.อ.ประวิตรจะ “วางมือ”

ปัจจุบัน พล.อ.ประยุทธ์จึง “ยึดพรรค” พลังประชารัฐได้สำเร็จ หลังจาก ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า อดีตเลขาธิการพรรคกับพวก ต้อง “ขับตัวเอง” ออกจากพรรค

“พล.อ.ประวิตร” ยอมเสีย “ขุนพลข้างกาย” เพื่อแสดงพล.อ.ประยุทธ์เห็นว่า ยังสามารถ “กุมสภาพ” ภายในพรรคพลังประชารัฐได้อยู่

ขณะเดียวกันไม่ให้ “เปิดช่อง” ให้ พล.อ.ประยุทธ์ เข้ามา “ยึดอำนาจ” โดยการนั่งเป็นหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐสะเด็ดน้ำ

“ยังไม่ได้คิดอะไรตรงนั้น ก็อย่างที่บอกแล้วไง อะไรมันจะเกิดขึ้นมันก็เกิดขึ้น แหม่ มันไม่เลวร้าย จนกระทั่งมันแย่ทั้งหมด อย่างที่ตนบอก เลือกตั้งก็เลือกตั้ง เป็นเรื่องธรรมดา เป็นเพียงแต่การเลือกตั้งซ่อม ตนยังเชื่อมั่นว่าประชาชนยังเข้าใจอยู่ ไม่เป็นไรหรอก ไว้ดูการเลือกตั้งใหญ่ค่อยว่ากันอีกที ถึงตอนนั้น “พล.อ.ประยุทธ์ตอบคำถามถึงความจำเป็นที่จะไปเป็นหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ

เก้าอี้เมกะโปรเจ็กต์ : พล.อ.ประวิตร จึงเหลือเพียงเก้าอี้คณะกรรมการสำคัญ ๆ ชุดต่าง ๆ ที่มี “เมกะโปรเจ็กต์” หัวแถวต่อคิวยาวเหยียดตั้งแต่ตึกบัญชาการทำเนียบรัฐบาล จนถึงหางแถวอยู่ที่มูลนิธิป่ารอยต่อฯ เกือบ 10 คณะกรรมการ อยู่ในแฟ้มให้ พล.อ.ประวิตรเซ็น

  1. คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ
  2. คณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้
  3. คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์
  4. คณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก
  5. คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ
  6. คณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติ
  7. คณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ
  8. คณะกรรมการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
  9. คณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติ

เมื่ออำนาจและบารมีเป็นของร้อน นี่อาจจะเป็น “ฟางเส้นสุดท้าย” ของความสัมพันธ์พี่-น้อง 3 ป. ขาดสะบั้นลง ก็เป็นได้