เล็งอัดฉีดงบจังหวัดปี 62 “บิ๊กตู่” ตั้ง 5 รองนายกฯ จัดทำแผนพัฒนา 6 ภาค

เล็งอัดฉีดงบจังหวัดปี 62 “บิ๊กตู่” ตั้ง 5 รองนายกฯ จัดทำแผนพัฒนา 6 ภาค-ไฟเขียวแผนพัฒนาภาคระยะ 5 ปี ลดเหลื่อมล้ำ-แก้ยากจน

เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2560 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงผลการประชุมคณะกรรมการบูรณาการนโยบายพัฒนาภาค (กบภ.) ครั้งที่ 1/2560 ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ว่าที่ประชุม กบภ.มีมติเห็นชอบตั้งคณะอนุกรรมการจัดทำแผนพัฒนาภาค จำนวน 5 คณะ ได้แก่ 1.คณะอนุกรรมการจัดทำแผนพัฒนาภาคกลาง มีพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เป็นประธาน 2.คณะอนุกรรมการจัดทำแผนพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีพล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรีและรมว.ยุติธรรม เป็นประธาน 3.คณะอนุกรรมการจัดทำแผนพัฒนาภาคตะวันออก มีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน 4.คณะอนุกรรมการจัดทำแผนพัฒนาภาคเหนือ มีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และ 5.คณะอนุกรรมการจัดทำแผนพัฒนาภาคใต้และภาคใต้ชายแดน มีพล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน

นายปรเมธีกล่าวว่า โดยคณะอนุกรรมการฯ ทั้ง 5 คณะ จะเริ่มจัดทำแผนพัฒนาภาคเพื่อให้มีโครงการสนับสนุนสอดรับที่ชัดเจนและให้เป็นภารกิจเร่งด่วนเพื่อรองรับกับการจัดทำงบประมาณรายจ่าย ประจำปี 2562 ของการจัดทำแผน โครงการและงบประมาณของจังหวัดและกลุ่มจังหวัด โดยให้ใช้ระยะเวลาในการจัดทำแผน 1 เดือน เพื่อให้ทันกับการเสนอแผน โครงการและงบประมาณจังหวัดและกลุ่มจังหวัด ปีงบประมาณ 2562

“เดิมงบประมาณจังหวัดและกลุ่มจังหวัด เบื้องต้นขอรับงบประมาณจำนวน 2.8 หมื่นล้านบาทแล้ว แต่เนื่องจาก กบภ.คำนึงถึงความสำคัญการขับเคลื่อนระดับภาค ระดับพื้นที่ ซึ่งรัฐบาลจะทำให้ตอบเสนอความต้องการของประชาชนมากขึ้น อาจจะเพิ่มให้นอกเหนือจากจังหวัดและกลุ่มจังหวัดและงบดำเนินโครงการรายกระทรวง โดยรองนายก ฯ สมคิดและสำนักงบประมาณจะนำไปพิจารณาเพื่อเพิ่มให้อีก” นายปรเมธีกล่าว

นายปรเมธีกล่าวเพิ่มเติม ว่า ที่ประชุม กบภ.ยังพิจารณาเห็นชอบทิศทางการพัฒนาภาคของประเทศ รายภาค จำนวน 6 ภาค ในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (2560-2564) ได้แก่ 1.ทิศทางการพัฒนาภาคเหนือ ให้เป็น “ฐานเศรษฐกิจสร้างสรรค์มูลค่าสูง เชื่อมโยงเศรษฐกิจกับประเทศในกลุ่มอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง” 2.ทิศทางการพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ให้เป็น “ศูนย์กลางเศรษฐกิจของอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง” 3.ทิศทางการพัฒนาภาคกลางและพื้นที่กรุงเทพมหานคร ให้เป็น “พัฒนากรุงเทพ ฯ สู่มหานครทันสมัยและภาคกลางเป็นฐานการผลิตสินค้าและและบริการที่มีมูลค่าสูง”

4.ทิศทางการพัฒนาภาคตะวันออก ให้เป็น “ฐานเศรษฐกิจชั้นนำของอาเซียน” 5.ทิศทางการพัฒนาภาคใต้ ให้เป็น “ภาคใต้เป็นเมืองท่องเที่ยวพักผ่อนตากอากาศระดับโลก เป็นศูนย์กลางผลิตภัณฑ์ยางพาราและปาล์มน้ำมันของประเทศ และเป็นเมืองเศรษฐกิจเชื่อมโยงการค้าการลงทุนกับภูมิภาคอื่นของโลก” และ 6.ทิศทางการพัฒนาภาคใต้ชายแดน ให้เป็น “แหล่งผลิตภาคเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปที่สำคัญของประเทศ และเป็นเมืองชายแดนเชื่อมโยงการค้าและการท่องเที่ยวกับพื้นที่ภาคใต้และการพัฒนาเศรษฐกิจของมาเลเซียและสิงคโปร์


“นายกรัฐมนตรีฝากการบ้านให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่มาจากภาคเอกชน ประชาชนและภาคประชาสังคมช่วยกันพิจารณาแนวทางการแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างยั่งยืน และให้ตรงตามความต้องการของประชาชน โดยใช้กลไกประชารัฐเพื่อแก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกร ราคาอ้อยและน้ำตาล โดยกำหนดเป้าหมายไปยังเศรษฐกิจฐานราก” นายปรเมธีกล่าว