7 กลุ่มภาคประชาชนร้องศาล รธน.ทวงคืนเสรีภาพ วินิจฉัยคำสั่งคสช. ขัดรธน.หรือไม่

“รังสิมันต์ โรม” นำทีม 7 กลุ่มภาคประชาชน ร้องศาลรธน. ทวงคืนเสรีภาพ วินิจฉัยคำสั่ง คสช. ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่

เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม ที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ตัวแทนภาคประชาชน 7 กลุ่ม นำโดย นายรังสิมันต์ โรม กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย นายนิมิตร์ เทียนอุดม กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ น.ส.เยาวลักษณ์ อนุพันธ์ หัวหน้าศูนย์ทนายความเพื่อนสิทธิมนุษยชน นายอัครเดช ฉากจินดา เครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญมาตรา 213 เข้ายื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญขอให้วินิจฉัยว่าคำสั่ง คสช.ที่ 3/2558 ข้อ 6 และ 12 ขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 และ 44 ของรัฐธรรมนูญหรือไม่ รวมทั้งการใช้อำนาจของเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยตามคำสั่งดังกล่าว เป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพ ที่รัฐธรรมนูญให้การรับรองไว้หรือไม่

โดยนายรังสิมันต์กล่าวว่า คำสั่ง คสช.ที่ 3/2558 ข้อ 6 ที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวบุคคลได้เกิน 7 วันโดยไม่มีหมายศาล และข้อ 12 ที่ห้ามชุมนุมเกิน 5 คน กระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน โดยเสรีภาพการชุมนุมมีการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 44 หรือแม้แต่รัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) 2557 ก็รับรองไว้ในมาตรา 4 แต่ตลอดเวลาที่ คสช.ครองอำนาจ กลับใช้คำสั่ง คสช.ดังกล่าว เป็นเครื่องมือปราบปรามประชาชนที่เห็นต่าง ซึ่งการยื่นคำร้องครั้งนี้ต้องการที่จะพิสูจน์ว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้สามารถคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้จริง ตามที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญได้โฆษณาไว้ เมื่อครั้งรณรงค์ให้ประชาชน ลงมติรับร่างรัฐธรรมนูญ และต้องการพิสูจน์ว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะสามารถวินิจฉัยยืนยันถึงสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการชุมนุมได้หรือไม่ เพราะที่ผ่านมาศาลรัฐธรรมนูญมักจะยกคำร้องโดยอ้างว่าผู้ร้องต้องไปใช้สิทธิผ่านช่องทางอื่นๆ ก่อน หากศาลรัฐธรรมนูญยังยืนยันที่จะวินิจฉัยโดยให้ความชอบธรรมกับการใช้อำนาจของคณะรัฐประหาร ก็จะเท่ากับเป็นการพิสูจน์ ว่ากลไกลการคุ้มครองสิทธิของประชาชนตามรัฐธรรมนูญนี้ ไม่มีประสิทธิภาพแท้จริงอย่างที่ กรธ. เคยโฆษณาเอาไว้ และถ้าเป็นเช่นนั้นก็ควรที่จะยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2560 นี้เสีย

ด้านนายนิมิตร์กล่าวว่า ประเทศควรที่จะปกครองด้วยกฎหมาย ประชาชนมีสิทธิที่จะกำหนดชะตากรรมชีวิตของเราเอง ช่วงปีที่ผ่านมารัฐบาลพยายามที่จะแก้กฎหมายหลักประกันสุขภาพ ที่หลายมาตราแก้แล้วจะทำให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาได้ยากยิ่งกว่าเดิม ทางกลุ่มได้มีการติดต่อกับทางรัฐบาลที่จะเคลื่อนไหว เพื่อไปยื่นจดหมายถึงนายกฯ แต่ทหารก็กลับเอาคำสั่ง คสช.มาสกัดกั้น ไม่ให้เรารวมตัวเพื่อที่จะเข้าพบนายกฯได้ จึงเห็นว่า คำสั่งดังกล่าวเป็นอุปสรรคต่อการเคลื่อนไหวของภาคประชาชน แม้เป็นการเคลื่อนไหวโดยสงบก็ตาม

ขณะที่นายอัครเดช ฉากจินดา เครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน กล่าวว่าหลังปี 2557 การเคลื่อนไหวของภาคประชาชนที่ได้รับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม จากโครงการขนาดใหญ่ของรัฐ ไม่ได้ความเป็นธรรมในหลายเรื่อง มีการใช้คำสั่งดังกล่าวห้ามดำเนินกิจกรรม หรือเมื่อดำเนินการกิจกรรมแล้วก็ใช้ตำรวจ ทหารมาสกัดกั้น ใช้กำลังจับกุมบุคคลไปกักขัง โดยไม่ได้มีหมายศาล ซึ่งถ้าคำสั่งนี้ยังคงอยู่ก็จะยิ่งเกิดปัญหากับภาคประชาชน ที่เวลานี้มีการเคลื่อนไหว ทั้งในเรื่องโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ท่าเรือปากบารา การสร้างเขื่อนต่างๆ ในทัพลุง ซึ่งขณะนี้ทุกโครงการของรัฐกำลังเดินหน้า ประชาชนก็ควรมีสิทธิลุกขึ้นมาเรียกร้องปกป้องสิทธิของตัวเอง ไม่ใช่ใช้คำสั่งนี้ไปจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน เพราะมันไม่เป็นธรรม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับ 7 กลุ่ม ที่เข้ายื่นคำร้องในวันนี้ ประกอบไปด้วย กลุ่มนักศึกษาและนักกิจกรรมที่ถูกเจ้าหน้าที่รัฐควบคุมตัว จากการจัดกิจกรรมที่หอศิลป์กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2558 กลุ่มเจ้าหน้าที่ฝ่ายข้อมูลศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ถูกดำเนินคดีจากการสังเกตการณ์กิจกรรมที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น กลุ่มนักกิจกรรมที่ถูกเจ้าหน้าที่รัฐควบคุมตัวจากการจัดกิจกรรมนั่งรถไฟไปตรวจสอบทุจริตอุทยานราชภักดิ์ กลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ที่ถูกเจ้าหน้าที่รัฐควบคุมตัว จากการจัดกิจกรรมวันที่ 24 มิถุนายน 2559 กลุ่มนักกิจกรรมที่ถูกเจ้าที่รัฐควบคุมตัวจากการแจกจ่ายเอกสารรณรงค์การออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ กลุ่มประชาชนที่ถูกเจ้าหน้าที่รัฐจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมคัดค้านโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ และกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ที่ถูกเจ้าหน้าที่รัฐจำกัดเสรีภาพในการชุมนุม

 

ที่มา : มติชนออนไลน์