ต่ออายุปปช.อยู่ยาว 9ปี บอกทำงานเข้าฝัก – ไฟเขียว ให้อำนาจดักฟังได้

“วิชา” เผย เคาะแล้วต่ออายุป.ป.ช.อยู่ยาว 9ปี อ้างทำงานเข้าฝัก เหน็บ “บิ๊กกุ้ย” ไม่ต้องใช้เวลาพิสูจน์ แต่อยู่ที่การกระทำ ชี้ “กิ๊ก” รอดแสดงบัญชีทรัพย์สิน พร้อมโยนป.ป.ช.กำหนดหลักเกณฑ์ “เมียนอกสมรส” แฉป.ป.ช.ชงเพิ่มอำนาจตัวเอง ทั้งดักฟัง-สะกดรอย-อำพราง แต่กมธ.ให้ดักฟังอย่างเดียว

เมื่อ‪เวลา 14.45 น.‬ วันที่ 19 ธันวาคม ที่รัฐสภา นายวิชา มหาคุณ ที่ปรึกษาคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) ในฐานะคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. … กล่าวถึงร่างพ.ร.ป.ป้องกันและปราบปรามการทุจริต ให้อำนาจคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)ให้สามารถดักฟังข้อมูล ว่า ทางป.ป.ช.เป็นผู้เสนอขออนุญาตให้เข้าถึงข้อมูล 3 ประการ ได้แก่ 1.ดักฟังข้อมูล 2.สะกดรอย และ3.อำพรางตัว ซึ่งเรื่องสะกดรอยและอำพรางตัว ทางกมธ.ตัดทิ้ง ให้เฉพาะดักฟังข้อมูลในสื่อทุกประเภท ซึ่งได้กำหนดหลักเกณฑ์ให้ดักฟังได้เฉพาะคดีร่ำรวยผิดปกติ คดีทุจริตหรือกระทำผิดต่อหน้าที่ และต้องเป็นคดีที่มีความร้ายแรงต่อสาธารณชน โดยกำหนดให้อธิบดีศาลคดีทุจริตและประพฤติมิชอบเป็นผู้ให้อนุญาตพิจารณาตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้อย่างระมัดระวัง ทั้งนี้ ป.ป.ช.จะมีอำนาจดักฟังได้ในชั้นไต่สวนคดี ภายใน 90 วัน อย่างไรก็ตาม ในที่ประชุมกมธ.มีข้อสังเกตว่า เดิมประมวลวิธีพิจารณาความอาญา เปิดช่องให้พนักงานสอบสวนสามารถดักฟังข้อมูลได้อยู่แล้ว เมื่อป.ป.ช.เทียบเท่าพนักงานสอบสวนที่มีอำนาจอยู่แล้ว ก็สามารถใช้ป.วิอาญาได้

“ส่วนกรณีจะเป็นละเมิดสิทธิส่วนบุคคลหรือไม่ คิดว่าต้องกระทำด้วยความระมัดระวัง เพราะที่ผ่านมาป.ป.ช.ในต่างประเทศดักฟังและนำข้อมูลอื่นๆมาแบล็คเมล์ ซึ่งไม่ทราบว่าหลุดไปได้อย่างไร และหน่วยงานนั้นๆก็ไม่สามารถควบคุมได้ เดี๋ยวนี้เรื่องไซเบอร์ถือเป็นอันตรายมาก คิดดูว่าไปทำอะไรกันสองคนแล้วออกสื่อได้อย่างไร ไปจ้ำจี้กัน ลบแล้ว แต่ยังอยู่ในฐานข้อมูล อยู่ตลอดชีวิต สามารถกู้คืนได้ตลอด” นายวิชา กล่าว

สำหรับกรณีคู่สมรสที่ไม่ได้จดทะเบียนต้องแสดงบัญชีทรัพย์สินด้วยหรือไม่ นายวิชา กล่าวว่า โอนให้เป็นเรื่องของคณะกรรมการป.ป.ช.กำหนดหลักเกณฑ์ว่าแค่ไหน เพียงใดถึงจะถือว่าเป็นคู่สมรสฉันท์สามี ซึ่งต้องอยู่กินกันพอสมควร ส่วนคนที่เป็นกิ๊กอาจจะรอดไม่ต้องแสดงบัญชีทรัพย์สิน แต่ถ้ากิ๊กถือครองทรัพย์สินแทนไม่รอดแน่นอน เพราะโดยปกติป.ป.ช.ก็ใช้เกณฑ์ถือครองเป็นพื้นฐานในการตรวจสอบอยู่แล้ว แม้จะเป็นกิ๊กก็จัดการมาหลายราย งานนี้ป.ป.ช.ปวดหัว

นายวิชา กล่าวอีกว่า สำหรับบทเฉพาะกาล เรื่องการดำรงตำแหน่งคณะกรรมการป.ป.ช.ชุดปัจจุบัน เสียงส่วนใหญ่ในกมธ.ให้อยู่จนครบวาระ 9 ปี อย่างไรก็ตาม กรธ.สงวนไว้แล้วและอาจถึงขนาดต้องตั้งคณะกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่าย ทั้งนี้ กมธ.เสียงส่วนใหญ่ให้เหตุผลว่า ป.ป.ช.ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ทำงานดี หรือเรียกแบบภาษาชาวบ้านว่าทำงานเข้าฝักแล้ว อย่างไรก็ตาม การให้เหตุผลที่แตกต่างกันต่อการดำรงตำแหน่งของคณะกรรมการองค์กรอิสระต่างๆนั้น เป็นเรื่องการวางหลักที่เคยโต้เถียงกันแล้วว่าจะเป็นหลายมาตรฐานหรือไม่ ซึ่งเรื่องดังกล่าวศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าอย่างไรก็ได้ทุกรูปแบบ

นายวิชา กล่าวต่อว่า ความรับผิดชอบของป.ป.ช.ไม่เหมือนกับหน่วยงานอื่น เพราะป.ป.ช.มีอำนาจจัดการกับบุคคลที่ใช้อำนาจของรัฐแบบเข้มข้น ดังนั้น บุคคลที่จะดำรงตำแหน่งป.ป.ช.ต้องมีคุณสมบัติพิเศษที่กลั่นกรองแล้ว แต่เมื่อกมธ.เสียงส่วนใหญ่ให้อยู่ต่อ ก็ต้องว่ากันต่อไป แต่ต้องคิดถึงผู้ที่จะได้รับผลกระทบว่ารู้สึกอย่างไรต่อคนที่จะไปจัดการกับเขา หรือผู้เสียหายที่มาร้องทุกข์กล่าวโทษ เขาจะต้องมีความรู้สึกว่าป.ป.ช.ต้องน่าเชื่อถือศรัทธามากน้อยเพียงใด สิ่งที่จะพิจารณาต่อไปคงต้องดูว่าสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ ที่ต้องการให้ปราบโกง ปราบทุจริต

เมื่อถามว่า คณะกรรมการป.ป.ช.นอกจากจะได้ต้องสรรหาด้วยกฎหมายใหม่แล้ว ก็ยังถูกวิพากษ์วิจารณ์มีความสนิมสนมกับผู้มีอำนาจ ป.ป.ช.จะทำงานต่ออย่างไร นายวิชา ชี้แจงว่า พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานป.ป.ช. ก็ยอมรับอยู่แล้วว่าต้นทุนต่ำ ใครก็มองด้วยความหวาดระแวง แต่ท่านก็ขอให้ดูผลงาน แต่นับจากนี้ไม่ใช่ระยะเวลาเปลี่ยนผ่านแล้ว เพราะป.ป.ช.ชุดเดิมก็ยังได้ดำรงตำแหน่งต่อ ดังนั้น ไม่ต้องพิสูจน์แล้ว เพราะอยู่ที่การกระทำของป.ป.ช. ทั้งนี้ ป.ป.ช.ชุดปัจจุบันก็ มีปัญหาทำงานไม่ทันใจประชาชนเกี่ยวกับการเร่งรัดคดี การจัดทำสำนวน ทำกลไกให้มีประสิทธิภาพ รวดเร็ว มีความเที่ยงธรรม ดังนั้นการเร่งรัดคดีเพื่อให้เกิดความเที่ยงธรรมจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ซึ่งป.ป.ช.ต้องทำงานเพิ่มเติมตรงนี้ เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดไว้

 

ที่มา มติชนออนไลน์